รู้จัก Telegram แอปคู่ใจนักประท้วงทั่วโลก แม้แต่รัฐบาลรัสเซียก็ยังบล็อกไม่ได้!
ตอนนี้ใครติดตามข่าว “การประท้วง” ในไทยคงได้ยินชื่อแอป Telegram กันบ้างแล้ว
หลังจากมีข่าวว่าทางรัฐบาลไทยกำลังพยายามจะบล็อก “ศูนย์กลางข่าว” ของการประท้วงอย่างเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก”
ทางกลุ่มฯ ก็ให้ “ช่องทางสื่อสารเพื่อโดนบล็อก” เป็นกลุ่มในแอปชื่อ Telegram ซึ่งวันต่อมา รัฐบาลไทยก็พยายามจะบล็อก Telegram
ห้วงนาทีนี้ หลายๆ คนที่อินกับการประท้วงก็คงจะโหลด Telegram มาประจำสมาร์ตโฟนตัวเองเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าแอปนี้มาจากไหนยังไง
ดังนั้น เรามารู้จักกับ Telegram กันดีกว่า
1.
Telegram เริ่มต้นจากพี่น้องมหาเศรษฐีรัสเซียชื่อ Nokolai Durov และ Pavel Durov
ถ้าอธิบายง่ายๆ สองคนนี้ก็คือ Mark Zuckerberg ของรัสเซีย เพราะพวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งเว็บโซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของรัสเซียอย่าง VK
แต่จุดที่ต่างจาก Mark Zuckerberg คือสองพี่น้อง Durov น่าจะเกิดเบื่องานบริหารเว็บโซเชียลมีเดีย และคงเพราะรวยไม่รู้เรื่องแล้ว พวกเขาก็เลยขายหุ้นของ VK ทิ้งและลาออกจากคณะกรรมการบริษัทในช่วงปี 2013-2014 เพื่อมาลุยในโปรเจคอื่นๆ
และโปรเจคที่ว่าก็คือ Telegram ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2013
2.
Telegram อธิบายง่ายๆ เหมือนโครงการระดับโลกของเศรษฐีไอทีที่เงินเหลือเฟือ และต้องการจะ “สร้างโลกที่ดีกว่า” แต่คนระดับนี้การบริจาคเงินง่ายไป เขาก็เลยสร้างระบบการสื่อสารที่จะยืนยัน “เสรีภาพในการสื่อสาร” ที่จะไม่โดนเซนเซอร์ใดๆ พร้อมๆ กับมีความเป็นส่วนตัวในระดับสูงระดับที่รัฐบาลไม่ว่าประเทศไหนก็แอบดูไม่ได้ และระบบก็ว่าก็คือ Telegram
Telegram มีหน้าตาเหมือนแอปแชททั่วไปที่เราคุ้นเคย แต่เล่นๆ ไปเราจะพบว่าเราสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้ละเอียดมากๆ และเราก็จะไม่พบว่ามีโฆษณาใดๆ ในนั้นเลย
นั่นเป็นเพราะเงินที่ Telegram ใช้ ไม่ได้มาจากการขายข้อมูลใดๆ พร้อมโฆษณาเช่นเดียวกับแอปอื่นๆ แต่เป็นเงินจากสองพี่น้อง Durov ที่ “บริจาค” ให้กับ Telegram เพื่อสร้างหลักประกันว่าคนทั่วโลกจะสามารถทำการสื่อสารกันได้โดยรัฐบาลไม่เซนเซอร์
และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ “มโน” ขึ้น เพราะถ้าเข้าไปในส่วน “คำถามที่พบบ่อย” ในแอป Telegram เอง ทางผู้พัฒนาแอปก็ระบุชัดเจนว่า เขามีเจตนาจะให้ผู้ใช้สามารถหลบเลี่ยงการบล็อกการสื่อสารของรัฐบาล รวมถึงการสื่อสารเพื่อการจัดตั้งการประท้วงรัฐบาลโดยสันติ
แน่นอนจุดยืนแบบนี้ “รัฐบาลเผด็จการ” ประเทศไหนๆ ก็คงไม่ชอบ เลยทำให้ทีม Telegram ต้องย้ายประเทศบ่อยๆ จากรัสเซียไปยังหลายประเทศ ก่อนที่จะไปลงตัวที่ฐานปัจจุบัน ณ เมืองดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อำนาจของเหล่ารัฐเผด็จการใหญ่ๆ ในโลกเอื้อมไม่ถึง
3.
อย่างที่บอก Telegram ไม่ได้อยู่ได้ด้วยเงินโฆษณาเหมือน Facebook หรือ Google ดังนั้นมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจใดๆ ที่ “รัฐเผด็จการ” ชอบใช้เพื่อกดดันให้แพลตฟอร์มกลุ่มนี้บล็อกเนื้อหานั้นไม่มีผลกับ Telegram และทำให้ Telegram แทบจะเป็นบริการส่งข้อความเจ้าเดียวที่ยืนยันท้าทายกับการพยายามจะใช้อำนาจในการเซนเซอร์การสื่อสารของรัฐมาโดยตลอด
และความตั้งใจของ Telegram ก็ได้ผลจริงๆ เพราะในภาพรวมไม่เคยมีใครบล็อกมันสำเร็จ และทำให้นักประท้วงทั่วโลกที่ต้องสู้กับรัฐบาล “เผด็จการ” หันมาใช้ Telegram จนยอดผู้ใช้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน Telegram มียอดผู้ใช้รายเดือนถึงประมาณ 400 ล้านคน ซึ่งมากกว่าแอปแชทยอดฮิตของชาวไทยอย่าง Line เสียอีก (Line มีผู้ใช้รายเดือนประมาณ 164 ล้านคนเท่านั้น)
4.
ถามว่ามีรัฐเผด็จการพยายามจะบล็อก Telegram หรือไม่?
คำตอบคือ “มีเยอะแยะไปหมด” แต่ทั้งหมดก็ต้องคว้าน้ำเหลว และเคสที่เด่นที่สุดก็คือรัฐบาลรัสเซียพยายามจะบล็อกมาตั้งแต่ปี 2018 แต่ “ยอมแพ้” ในที่สุดตอนกลางปี 2020
เหตุผลก็คือมันบล็อกไม่ได้ โดยไม่สร้างความเสียหายกับอินเทอร์เน็ตโดยรวมๆ และถึงเป็นแบบนั้น ก็ยังบล็อกได้ยากอยู่ดี
5.
ดังที่เล่ามา Telegram ออกมาบริการโดยมีความตั้งใจอยู่แล้วว่าจะต้องทำการหลบการบล็อกของรัฐบาลต่างๆ ให้จงได้
สิ่งที่ Telegram ทำเป็นการ “ซ่อนตัว” การสื่อสารของตนเอาไว้เลย ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะไม่เห็น “ทราฟฟิค” หรือการรับส่งข้อมูลจาก Telegram
แต่จะเห็นว่าเป็นการรับส่งข้อมูลกับผู้ให้บริการเป็นโฮสต์รับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ เช่น Google, Amazon Web Service, Microsoft Azure เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าจู่ๆ จะไปพยายามบล็อก Telegram ทำได้ก็จริง แต่อินเทอร์เน็ตจะล่มเป็นแถบ บริการออนไลน์ต่างๆ ที่ใช้โฮสต์เดียวกับ Telegram ก็จะล่มไปด้วย เรียกได้ว่าเว็บเข้าไม่ได้ รับส่งเงินออนไลน์ผ่านบริการต่างๆ ก็ไม่ได้
ภาวะแบบนี้ในปัจจุบันเป็นยิ่งกว่าหายนะ เพราะระบบเศรษฐกิจทั้งหมดผูกโยงกับอินเทอร์เน็ต และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่รัสเซียตัดสินใจแบน Telegram
พูดง่ายๆ คือการแบน Telegram ซี้ซั้วจะทำให้ภาคธุรกิจอื่นๆ โดนลูกหลงไปในวงกว้าง และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้รัสเซียต้องถอย
6.
แต่ถึงจะทำการแบนระดับหายนะขนาดนั้นแล้ว เอาจริงๆ การแบน Telegram ก็ไม่ได้ทำให้คนที่อยากใช้จริงๆ ใช้ไม่ได้
เพราะการใช้ VPN หรือพร็อกซี่ต่างๆ ก็สามารถทำให้คนที่ต้องการ สามารถจะ “อ้อม” ไปเข้า Telegram ผ่านการยิงข้อมูลไปยังประเทศอื่นก็ได้
นี่ทำให้สุดท้าย การพยายามจะแบน Telegram เป็นสิ่งที่น่าขัน มีแต่ผู้นำที่ไม่มีความเข้าใจในทางเทคนิคของอินเทอร์เน็ตเท่านั้นที่จะสั่งอะไรแบบนี้ออก
เพราะสุดท้ายความพยายามบล็อก Telegram มีแต่จะล้มเหลว และสร้างความ “เสียหน้า” ให้กับรัฐในที่สุด
ปัจจุบัน Telegram เป็นแอปแชทที่มีผู้ใช้งานเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
เป็นรองแค่ Whatsapp, Facebook Messenger, WeChat และ QQ ตามลำดับ (2 อันแรกเป็นของ Facebook ส่วน 2 อันหลังคือของ Tencent)
อ้างอิง:
- Wired. This is why Russia’s attempts to block Telegram have failed. https://bit.ly/2T6g19L
- Reuters. Russia lifts ban on Telegram messaging app after failing to block it. https://reut.rs/3kfPYZs
- Statista. Most popular global mobile messaging apps 2020> https://bit.ly/3o6MVVL
- Wikipedia. Telegram> https://bit.ly/3dNIVVx