ฉากในตำนานของหนังเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นที่บางกอก

296 Views
09 Sep 2022

เชื่อว่าหลายคนคงมีหนักรักในใจ และมีฉากที่ประทับและตราตรึงใจกันแทบทุกคน แต่เคยลองจินตนาการกันไหมว่าถ้าฉากแสนรักเหล่านั้นดำเนินเรื่องที่กรุงเทพฯ จะออกมาหน้าตาเป็นยังไง

แต่! ขอทลายความคิดอันพรั่งพรูออกมาจากจินตนาการสุดล้ำไว้เท่านี้ เพราะเชื่อได้เลยว่าฉากเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นจริงที่กรุงเทพมหานคร เมืองที่คนไม่หลับนอนแห่งนี้ได้ จะมีเรื่องไหนบ้าง ตามมาดูกัน!

.

The Bridges of Madison County (1995)

หนังเล่าเรื่องราวความรัก (ที่แอบจะไม่น่ารัก) ของชายหญิงที่บังเอิญพบเจอกันในชนบทไอโอวา ซึ่งเป็นบ้านของฝ่ายหญิงวัยกลางคนผู้นี้ ชายผู้มีอาชีพเป็นช่างภาพเดินทางมาเพื่อที่จะถ่ายสะพานเมดิสันอันสวยงาม เพียงเวลาไม่กี่วันทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นพร้อมกับความผิดที่ติดในความรู้สึกของทั้งคู่ ฝ่ายหญิงที่มีครอบครัวและลูก ๆ ที่แสนจะน่ารักอยู่แล้ว จำเป็นต้องเลือกชีวิตที่เหลือของเธออย่างเลี่ยงไม่ได้

หลายคนที่เคยได้ดูหรือรู้จักหนังเรื่องนี้ คงเคยได้เห็นฉากที่ชวนให้ประทับใจอย่างไม่ลืมคือ

ฉากรถติดไฟแดงในตำนาน

ช่วงท้ายที่ขมวดความรู้สึกของผู้ชมให้อึดอัดใจไปพร้อม ๆ ตัวละคร ฝ่ายหญิงที่ตัดสินใจเลือกอยู่เพื่อดูแลลูก ๆ และสามีของเธอ ฝ่ายชายที่เดินทางออกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ชีวิตช่างภาพที่ตั้งใจไว้ ระหว่างทางกลับเป็นจังหวะที่รถติดไฟแดง พร้อมกับสายฝนที่เทกระหน่ำลงมาเหมือนจะชะล้างความสัมพันธ์นี้ให้ไหลหายไปกับน้ำฝนที่นับไม่ถ้วน

และฉากนี้คงจะไม่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ บ้านเราได้อย่างแน่นอน เมื่อฝ่ายหญิงที่วิ่งฝ่าสายฝนกลับขึ้นรถพร้อมหอบข้าวของจากร้านค้า คงมีเพียงเสียงก่นด่าฝนที่ซัดลงมาไม่ขาดสาย ถนนหนทางที่เฉอะแฉะ รองเท้าที่เปื้อนโคลน เนื้อตัวอันเปียกปอน และคงหนีไม่พ้นเสียงบ่นจากสามีถึงเบาะรถที่เต็มไปด้วยน้ำฝนเลอะเทอะ ปราศจากสายตาโหยหาปนความหวังเหมือนในหนังเรื่องนี้

ตัดภาพมาที่ฝ่ายชายก็ไม่มีฉากนี้ปรากฏให้เห็นได้ เนื่องจากท้องถนนที่มีน้ำท่วมขังเต็มไปหมดเพราะท่อตันระบายน้ำไม่ทัน ไม่มีพื้นที่ให้ได้ลงมายืนส่งสายตาบอกลาปนความยินดีของชายผู้นี้อีกต่อไป

ฉากในตำนานนี้ไม่เกิดขึ้น และคงเหลือทิ้งไว้เพียงเสียงด่า(ท่อ)ระบายถึงท้องถนนที่เต็มไปด้วยน้ำฝนปนสิ่งสกปรก

The Bridges of Bangkok City (2022)…The End

.

500 Days of Summer (2009)

หนังรักป๊อปซ่าขวัญใจชาวออฟฟิศแบบเราคงต้องยกให้เรื่องนี้ เรื่องราวของตาทอมหนุ่มซึนและยัยซัมเมอร์สาวสวยสุดเฟรนด์ลี่ที่ตกตาทอมให้หลงรักไปเต็ม ๆ ความสัมพันธ์ที่เหมือนว่าเป็นความรัก ด้วยชอบฟังเพลงเหมือนกัน ชอบดูหนัง อ่านหนังสือ และมีสิ่งที่ชอบคล้ายกัน ทำให้ทอมลงลึกไปในความสัมพันธ์ครั้งนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องอกหักดังเปร๊าะ! เพราะซัมเมอร์ได้พบกับรักแท้ที่เธอตามหา และหวังว่าทอมเองก็จะได้เจอกับความรักที่เป็นความสุขของเขาในวันนึงเช่นกัน

เมื่อพูดถึงหนังเรื่องนี้ภาพที่เป็นจุดจดจำของผู้ชมคือฉากตัวละครทั้งคู่อยู่ในลิฟท์ด้วยกัน ในขณะที่ทอมใส่หูฟังฟังเพลงของวงร็อกอย่าง The Smiths และซัมเมอร์เริ่มทักเขาด้วยคำว่า

“I love The Smiths”

แน่นอนว่าภาพอันธรรมดาแต่ปนความน่ารักนี้จะไม่เกิดขึ้นจริงที่กรุงเทพฯ เมืองที่คนต่างเร่งรีบเพื่อให้ถึงจุดหมายของตนเอง ทอมคงจะมาให้ทันเข้างานได้ยาก ด้วยถนนที่รถติดยิบ! น้ำท่วมยับ! ต้องวิ่งสับ ๆ เพื่อมาเบียดเสียดผู้คนในลิฟท์ที่ก้มหน้าหลบมุมสี่เหลี่ยมของกล่องเคลื่อนที่อันนี้ ด้านของซัมเมอร์คงไม่มีแม้แต่โอกาสจะมองเห็นทอมและร้องทักถึงเพลงที่เขาฟัง เพราะมัวแต่จ้องจอโทรศัพท์เพื่อตอบลูกค้าที่ทักมาไม่ขาดสายให้ช่วยแก้งานให้หน่อยตอนสิบโมง แต่พี่จะขอไม่เกินเที่ยง

บรรยากาศที่เบสิกแบบในหนังเป็นแค่ภาพในจินตนาการที่ชาวออฟฟิศอย่างเราคงไม่มีทางสัมผัสถึงความจริงได้

500 Days of Sa-Phab (2022)…The End

.

Four Weddings and A Funeral (1994)

หนังรอมคอมในตำนานสุดคลาสสิก ดำเนินเรื่องโดยเจ้าพ่อหนังรักอย่าง ฮิวจ์ แกรนท์ ที่ทำเอาสาว ๆ ตกหลุมกันมานับไม่ถ้วน เล่าเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนที่ช่วงชีวิตกำลังเจอกับบรรดางานแต่งงานของคนรอบข้าง เหมือนพร้อมใจกันจัดงานแบบเรียงแถว ตลอดทั้งเรื่องอบอวลไปด้วยงานแต่งที่งดงามแตกต่างกันไป ตามชื่อของหนัง 4 งานแต่ง และกระชากอารมณ์คนดูให้เศร้าตามไปด้วยอีก 1 งานศพ

ความประทับใจของเรื่องนี้เป็นอะไรที่เรียบง่ายคือภาพของกลุ่มเพื่อนที่แน่นแฟ้นแก๊งนี้

ไม่ว่าจะอีกกี่งานแต่งก็พร้อมไปกันแบบจัดเต็ม

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นไปได้ยากกับสังคมกรุงเทพฯ ที่แค่จะทักหาเพื่อนเพื่อชวนกินข้าวยังไม่สามารถหาเวลาที่ว่างตรงกันได้ การเดินทางมาหากันที่ต้องอาศัยพลังอย่างมาก สถานที่นัดพบปะที่มีแต่ความวุ่นวาย บวกกับภาพของงานแต่งงานยิ่งห่างไกลความเป็นจริงเข้าไปใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ได้โดยง่าย ทุกคนต่างมีจุดหมายของตัวเอง และพยายามรีบไปให้ถึงจุดหมายกันทั้งนั้น ไม่มีใครรอใคร ไม่มีใครทิ้งเวลาเพื่อสร้างสัมพันธ์ เพราะทุกความสัมพันธ์มีต้นทุน และมีราคาจ่ายที่ค่อนข้างสูง

น่าเสียดายที่ความรักก็ขึ้นได้ยากในเมืองนี้

Fake Weddings and A Finale (2022)…The End

.

Midnight in Paris (2011)

อีกหนึ่งผลงานของวูดดี อัลเลน ที่พาผู้ชมไปดื่มด่ำกับบรรยากาศของเมืองแห่งศิลปะอย่างปารีส ตัวละครหลักที่เป็นนักเขียนได้เดินพาเราทุกคนไปสัมผัสกับเสน่ห์ของเมืองนี้ เส้นเรื่องที่น่าค้นหาด้วยเหตุการณ์ที่หลงเข้าไปในยุคของศิลปินทุกแขนง มารวมตัวกันตามสถานที่ที่ตัวละครเดินทางไป หนังที่ไม่ได้มอบแค่ภาพอันสวยงามของปารีส แต่มอบความรู้ให้แก่ผู้ชมอย่างน่าติดตาม

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ภาพของ ตัวละครที่เดินท่องค่ำคืนอันเหมือนต้องมนต์ของปารีส เป็นภาพแรกที่ปรากฎขึ้นในใจ

น่าแปลกที่ภาพเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ประกอบร่างด้วยผู้คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยงานสร้างสรรค์ และเพรียบพร้อมไปด้วยพื้นที่อันมีเสน่ห์ในตัวเอง แต่กลางคืนของกรุงเทพฯ กลับไม่เคยมอบความสดชื่นให้ผู้คน มีเพียงท้องฟ้าสีเข้มสมกับความมืดมิดของกลางคืน มืดมิดทั้งสถานที่อันน่ากลัว ไร้ไฟส่องทางช่วยให้สว่างไสว มืดมิดทั้งคนอันตราย และพลิกด้านให้กรุงเทพฯ ถูกบดบังด้วยสีดำยามค่ำคืน

เมืองที่รวมเอาไว้ซึ่งงานสร้างสรรค์ แต่กลับถูกผ้าดำคลุมบังไว้

Midnight in Bangkok (2022)…The End

.

ถ้าเปรียบชีวิตเหมือนภาพยนตร์เรื่องยาวที่กำลังดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด ประชาชนทุกคนคือตัวละครหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องราวไปข้างหน้า

กรุงเทพฯ เป็นฉากหลังอันโดดเด่นมีหน้าที่สร้างความสวยงามอย่างเหมาะสม ปัญหาของกรุงเทพฯ เป็นเส้นเรื่องที่ให้เราต่างต้องก้าวผ่าน มีทีมงานที่เข้ามารับบทบาทแตกต่างกัน เพื่อช่วยจัดวางพร็อบให้ฉากหลังออกมาอย่างลงตัว ได้แต่หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นหนังในตำนานอีกเรื่องสักที