ภาพนักกีฬาสองคนชูกำปั้นของพวกเขาขึ้นเหนือศีรษะ บนแท่นรับเหรียญโอลิมปิก ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรที่กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปีค.ศ.1968 ที่เม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก
มันคือภาพของทอมมี่ สมิธ และจอห์น คาร์ลอส นักกีฬาแอฟริกัน-อเมริกันดาวเด่นของประเทศ ที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์โต้เถียงกันในสังคมอย่างดุเดือดถึงการแสดงออกของพวกเขา
และยังส่งผลไปถึงปีเตอร์ นอร์แมน นักกีฬาชายผิวขาวในภาพอีกคน ที่แม้จะไม่ได้ชูมือของเขาขึ้นมา แต่มันกลับทำลายชีวิตของเขาอย่างแสนสาหัส
“ฮีโร่ผู้ถูกทำให้ลืม”
——————————
ในช่วง 1 ปีก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีค.ศ.1968 จะเริ่มต้นขึ้น ทอมมี่ สมิธ และจอห์น คาร์ลอส นักกีฬากรีฑาทั้ง 2 คน ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรโอลิมปิกเพื่อสิทธิมนุษยชน (The Olympic Project for Human Rights) ขึ้นมา ร่วมกับนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันคนอื่นๆ
มันเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประท้วงการต่อต้านการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ทอมมี่ สมิธ และจอห์น คาร์ลอส หวังว่าพวกเขาจะสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อสะท้อนจิตสำนึกทางสังคมเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อคนผิวดำมาโดยตลอด
ในช่วงเวลานั้นการกีดกันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก และที่ผ่านมาชาวผิวดำทั่วโลกก็ต่างถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่ การจ้างงานในด้านกีฬา และการถูกปฏิบัติที่ต่างจากคนผิวขาวอย่างสิ้นเชิง
ทั้ง 2 คนมองว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งต่อไปจะเป็นโอกาสในการแสดงออกเพื่อสิทธิและเสรีภาพที่ดีขึ้นของนักกีฬาผิวดำที่ถูกจำกัดและลิดรอนมาโดยตลอด
แต่เพียงไม่กี่เดือนก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีค.ศ.1968 จะเริ่มต้นขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์การลอบสังหารดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มันทำให้คนผิวดำและประชาชนเริ่มลุกฮือออกมาเรียกร้องสิทธิ์
ยิ่งรวมไปถึงแรงระอุของประชาชนที่กำลังประท้วงต่อต้านสงครามในเวียดนาม ก็ยิ่งทำให้วิกฤติในประเทศสหรัฐอเมริกายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน
ที่เม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก เพียง 10 วันก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลเม็กซิโกได้ส่งรถเกลี่ยดินพร้อมทหารติดอาวุธเข้ามาสลายการชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษาราว 3,000 คนที่ไม่มีอาวุธ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 30 คน และถูกจับกุมนับพันคน
เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ มันยิ่งกระตุ้นให้ทอมมี่ สมิธ และจอห์น คาร์ลอส ต้องแสดงออกบางอย่างเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพโดยทันควัน
“เราต้องถูกมองเห็น เพราะไม่มีใครได้ยิน”
สมิธบอกกับนิตยสาร Smithsonian ในปี 2008
ทั้งสองคนต้องชนะการแข่งขันเพื่อให้ทุกคนมองเห็นพวกเขา
——————————
16 ตุลาคม ค.ศ.1968 ที่สนามกีฬาโอลิมปิกของเม็กซิโกซิตี้ การแข่งขันวิ่ง 200 เมตรรอบชิงชนะเลิศได้เริ่มต้นขึ้น
ทอมมี่ สมิธ และจอห์น คาร์ลอส วิ่งนำเป็นอันดับที่ 1 และ 2 มาโดยตลอด จนถึงระยะ 50 เมตรสุดท้าย ปีเตอร์ นอร์แมน นักวิ่งชาวออสเตรเลีย ก็ได้สร้างความตกใจให้กับผู้เข้าแข่งขันและผู้ชมทุกคน
เขาวิ่งแซงจากท้ายขึ้นมาด้านหน้าอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด และปีเตอร์ นอร์แมน ก็แซงหน้าจอห์น คาร์ลอส ไม่กี่เมตรก่อนถึงเส้นชัย
ปีเตอร์ นอร์แมนเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 2 และได้รับเหรียญเงิน รองจากทอมมี่ สมิธ ที่เข้าเป็นอันดับที่ 1 ได้รับเหรียญทอง และ จอห์น คาร์ลอส ตกไปอยู่อันดับที่ 3 ได้รับเหรียญทองแดง
ปีเตอร์ นอร์แมน เป็นนักกีฬาที่เติบโตมาจากชนชั้นแรงงานอันยากจนในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย สิ่งที่ครอบครัวของเขาปลูกฝังนอร์แมนมาโดยตลอด นั่นคือ “มนุษย์ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน”
แม้ว่าปีเตอร์ นอร์แมนจะเกิดมายากจน แต่พรสวรรค์ที่ติดตัวเขามาตั้งแต่ยังเด็ก คือขาของเขาที่สร้างความเร็วได้เหนือใครๆ ปีเตอร์ นอร์แมนได้เข้าสู่วงการวิ่งระดับประเทศด้วยการคว้าแชมป์รายการใหญ่รายการแรกของเขาที่รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเขาก็กลายเป็นนักกีฬาวิ่งระยะสั้นคนสำคัญของประเทศออสเตรเลีย
ก่อนถึงเวลารับเหรียญรางวัล ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส ผู้ได้รับรางวัลเหรียญทองและเหรียญทองแดง ตกลงที่จะใช้เวทีชัยชนะของพวกเขาในครั้งนี้เป็นโอกาสในการตอกย้ำประเด็นทางสังคมที่เกิดการกดขี่สิทธิมนุษยชนในตอนนั้น
จากนั้นทั้ง 2 คนก็ได้ไปบอกกับปีเตอร์ นอร์แมน ว่าพวกเขาวางแผนที่จะใช้ชัยชนะของพวกเขาเป็นโอกาสในการประท้วง
แผนการของทั้ง 2 คนคือ
ขึ้นบนแท่นรับรางวัลด้วยการสวมถุงเท้าสีดำแต่ไม่สวมรองเท้า เพื่อแสดงออกถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม คล้องลูกปัดไว้ที่คอ เพื่อประท้วงการใช้ทำร้ายประชาชน สวมถุงมือสีดำ เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนคนผิวดำและการกดขี่ผู้คนทั่วโลก และติดตราสัญลักษณ์องค์กรโอลิมปิกเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทั้ง 2 คนตั้งขึ้นมาบนหน้าอกเสื้อของพวกเขา
แต่ในช่วงก่อนที่จะเดินไปรับรางวัล จอห์น คาร์ลอส กลับพบว่าตนเองลืมถุงมือสีดำที่ใช้ประท้วง ปีเตอร์ นอร์แมน จึงบอกกับทั้งสองว่า
“ทำไมไม่ใส่คนละข้างแทนล่ะ”
อีกทั้งเขายังบอกอีกว่า
“แล้วผมจะช่วยสนับสนุนพวกคุณอย่างไรได้บ้าง?”
ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส จึงมอบตราสัญลักษณ์องค์กรโอลิมปิกเพื่อสิทธิมนุษยชนให้กับปีเตอร์ นอร์แมน และแนะนำให้ติดที่หน้าอกเสื้อของเขา
พิธีมอบเหรียญเริ่มต้นขึ้น ทั้ง 3 คนขึ้นแท่นรับรางวัล จนถึงเวลาเปิดเพลงชาติสหรัฐอเมริกา ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส ก็ชูมือข้างที่ใส่ถุงมือสีดำขึ้นมาบนฟ้า
แล้วมันก็กลายเป็นรูปในตำนานอย่างที่เราเห็นจนถึงปัจจุบัน
——————————
ถึงแม้ว่าปีเตอร์ นอร์แมน จะไม่ยกกำปั้นขึ้นในวันนั้น แต่การที่เขายืนอยู่กับทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส รวมถึงบนหน้าอกของเขาที่ติดตราสัญลักษณ์องค์กรโอลิมปิกเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็แสดงออกถึงจุดยืนของเขาได้อย่างชัดเจน
แต่ทำไมปีเตอร์ นอร์แมน ถึงเห็นด้วยกับการกระทำในครั้งนี้?
ในช่วงเวลานั้น ประเทศออสเตรเลียยังต่างกับที่พวกเรารู้จักกันในตอนนี้โดยสิ้นเชิง รัฐบาลพยายามจำกัดเชื้อชาติของประเทศโดยให้มีแต่คนผิวขาวมากที่สุดด้วยการออกนโยบาย ”ออสเตรเลียผิวขาว” (White Australia Policy)
นโยบายที่ต้อนรับแต่คนผิวขาว และกีดกันคนที่ไม่ใช่ผิวขาวเข้ามายังประเทศ มันได้ทำลายความฝันและชีวิตของผู้อพยพจำนวนมากที่ไม่ใช่คนผิวขาวที่ตัดสินใจเข้ามาอาศัยยังประเทศออสเตรเลีย
รัฐบาลออสเตรเลียในตอนนั้นจึงต้อนรับแต่ผู้ย้ายเข้ามาใหม่ที่เป็นคนผิวขาวที่มาจากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และปฏิเสธผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวยุโรปอยู่เป็นประจำ
ไม่เพียงแต่กีดกันการเข้ามายังประเทศ รัฐบาลออสเตรเลียยังพยายามทำลายชนพื้นเมืองที่มาอาศัยอยู่ก่อนพวกเขา นั่นคือชาวอะบอริจิน
ชาวอะบอริจินในประเทศออสเตรเลียต่างก็ถูกกดขี่อย่างสาหัส รัฐบาลบังคับให้เด็กๆ ชาวอะบอริจินพรากจากครอบครัวไปเข้าเรียนในโรงเรียนประจำดังเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาทำกับชนพื้นเมืองเช่นกัน
ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าไปที่โรงเรียนประจำ ก็จะถูกแตกแยกไม่ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนด้วยการนำไปอาศัยอยู่กับครอบครัวที่เป็นคนผิวขาว เพื่อกลืนกินวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองให้หมดสิ้นไป
สิ่งเหล่านี้ส่งผลทำให้ปีเตอร์ นอร์แมน สนับสนุนการประท้วงของเพื่อนนักกีฬาโอลิมปิกทั้ง 2 คนนี้ เพราะเขาอดกลั้นในสิ่งไร้มนุษยธรรมที่เขาได้เห็นในประเทศออสเตรเลียมาโดยตลอด
——————————
การแสดงออกของนักกีฬาทั้ง 3 คนในวันนั้น อาจทำให้เรารู้สึกถึงการเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมแก่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ที่ควรถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
แต่ในอดีตเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ประชาชนบนโลกยังไม่ได้มีความคิดเหมือนกับพวกเราในตอนนี้
พวกเขาส่วนใหญ่ยังมองเห็นคนบางคนเป็นเพียงสัตว์ที่ไม่ควรมาเทียบชั้นเดียวกับชนชาติของตน
หลังสิ้นเสียงเพลงชาติสหรัฐอเมริกา สนามกีฬาก็เงียบลง จากนั้นก็กลายเป็นเสียงแห่งการเยาะเย้ย ดูถูกเหยียดหยาม และด่าทอเหยียดผิวด้วยความโกรธแค้น
ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส ถูกไล่ออกจากสนามทันที จากนั้นพวกเขาถูกไล่ออกจากหมู่บ้านโอลิมปิกและถูกส่งกลับประเทศทันที
เมื่อทั้ง 2 คนกลับมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาก็พบกับการดูถูกเหยียดหยามและประณามมากมายจากคนผิวขาว มิหนำซ้ำยังโดนขู่ฆ่ามาตลอดหลายปี
อย่างไรก็ตาม ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส ก็ค่อยๆ ถูกกลับมายอมรับอีกครั้งในวงการโอลิมปิก สุดท้ายทั้ง 2 ก็ไปทำงานในวงการฟุตบอลอาชีพก่อนจะเกษียณและใช้ชีวิตอย่างสงบสุข
ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นกับปีเตอร์ นอร์แมน นั้น มันเป็นยิ่งกว่าฝันร้าย รัฐบาลมองว่าสิ่งที่เขาได้แสดงออกไปคือการต่อต้านนโยบายของรัฐบาลออสเตรเลีย ทำให้เขาผู้เป็นฮีโร่เหรียญโอลิมปิกกลายเป็นบุคคลที่เป็นปรปักษ์ต่อประเทศไปโดยปริยาย
ปีเตอร์ นอร์แมน ถูกลงโทษอย่างรุนแรงจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศออสเตรเลีย เขาถูกกลั่นแกล้งไม่ให้เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกอีกต่อไป แม้ว่าเขาจะพยายามซ้อมจนสามารถผ่านเข้ารอบสำหรับโอลิมปิกได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
สิ่งที่กระทบจิตใจเขามากที่สุดคือในปีค.ศ.1972 ปีเตอร์ นอร์แมน ที่หมั่นซ้อมอย่างไม่หยุดหย่อน จนเขาสามารถทำสถิติวิ่งได้เร็วที่สุดในประเทศออสเตรเลีย
ทุกคนรู้ดีว่ามันคือพรสวรรค์และความพยายามในตัวของนักกีฬาที่หาได้ยาก แต่ถึงแม้กระนั้น เขาก็ยังไม่มีชื่อไปเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกอยู่ดี รัฐบาลมองว่าแทนที่จะยอมให้นอร์แมนเข้าแข่งขัน พวกเขากลับไม่ส่งชื่อนักกีฬาออสเตรเลียไปแข่งเลยเสียดีกว่า
เรื่องนี้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำลายชีวิตเขาอย่างสิ้นเชิง ปีเตอร์ นอร์แมน ตัดสินใจล้มเลิกทุกอย่างเกี่ยวกับการวิ่ง เขามีอาการซึมเศร้า ติดแอลกอฮอล์จนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ติดยาแก้ปวด และใช้เหรียญเงินโอลิมปิกของเขาเป็นที่กันประตู
ในปีค.ศ.2000 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มาจัดขึ้นที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และตามธรรมเนียมแล้วจะมีการเชิญนักกีฬาทีมชาติออสเตรเลียที่เคยได้เหรียญ มามีส่วนร่วมในการจัดงาน หรือมีการพูดถึงเพื่อให้ประชาชนได้รำลึกถึงบุคคลที่เคยสร้างชื่อเสียงไว้เหล่านั้น
แต่ความเลวร้ายที่เกิดขึ้น คือไม่มีการพูดถึง ปีเตอร์ นอร์แมน โดยรัฐบาลออสเตรเลียเลย เขาเป็นเสมือนบุคคลไร้ตัวตนในวงการที่เขาพยายามทุ่มเทมาตลอดชีวิต
6 ปีต่อจากนั้น ปีเตอร์ นอร์แมน ก็ได้เสียชีวิตลง ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส เพื่อนสนิทที่ไปมาหาสู่และพูดคุยกับเขามาโดยตลอด ก็เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายงานศพของเขาทั้งหมดที่จัดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย และทั้ง 2 คนก็ยังมาร่วมงานศพ และแบกโลงศพของเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพื่ออำลาเขาเป็นครั้งสุดท้ายด้วย
มันต้องใช้เวลาจนถึงปีค.ศ.2012 กว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะออกมายอมรับ และขอโทษในสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติกับปีเตอร์ นอร์แมน แต่มันสายไปเสียแล้ว เพราะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดพวกเขาได้ทำลายความสุขและความฝันของชายคนหนึ่งจนป่นปี้ไม่มีชิ้นดี
“ฉันได้รับรางวัลเหรียญเงิน แต่จริงๆ แล้ว ฉันกลับลงเอยด้วยการวิ่งที่เร็วที่สุดในชีวิต เพื่อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่อยู่เหนือการแข่งขัน”
ปีเตอร์ นอร์แมน บอกกับ New York Times ในปีค.ศ.2000
——————————
บทความโดย : I’m from Andromeda
แหล่งข้อมูล
https://www.smithsonianmag.com/…/olympic-athletes…/…
https://edition.cnn.com/…/olympics-norman…/index.html
https://www.history.com/…/1968-mexico-city-olympics…
https://www.history.com/…/martin-luther-king-jr…