ซิมบับเวเปิดขายตั๋วให้นักท่องเที่ยวเข้าไปล่าช้าง หวังพยุงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และนำเงินมาใช้อนุรักษ์ช้าง
การระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้ระบบเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่ต่างจากสุขภาพประชาชน
มาถึงปีนี้ที่บางประเทศเริ่มจัดการกับการระบาดได้ และประชาชนได้วัคซีนกันเกินครึ่งค่อนประเทศแล้ว เราจึงเริ่มเห็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาหลากหลายรูปแบบ
บางประเทศเตรียมเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยว พ่วงการฉีดวัคซีนให้อาคันตุกะต่างถิ่นฟรี เช่น อลาสก้าและมัลดีฟส์
แต่ก็มีบางประเทศ ที่คิดแคมเปญที่ดูแล้วไม่ค่อยจะสร้างสรรค์เท่าไหร่นัก อย่างการขายทัวร์ล่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
ล่าสุด สาธารณรัฐซิมบับเวประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขายทัวร์ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปล่าช้างป่าในประเทศได้
ป่าซิมบับเวมีช้างมากกว่า 100,000 ตัว ถือเป็นประเทศที่มีจำนวนช้างป่ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
การประกาศเปิดขายตั๋วให้ล่าช้างหนนี้ ทางการระบุว่าอนุญาตให้ล่าได้ 500 ตัว หรือ 0.5% ของปริมาณช้างที่มีทั้งหมด
สำหรับราคาที่ต้องจ่าย ตกอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งตัว (หรือราวๆ 3 แสนบาทในขั้นต่ำ) แต่เมื่อถึงเวลาล่าจริงๆ คนที่ซื้อสิทธิ์ยังต้องจ่ายค่าไกด์ ค่าขนส่งนานาอีกสารพัด
โดยหน่วยงานด้านการดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติอธิบายว่า การเปิดขายสิทธิ์ให้ล่าช้างทำขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และรายได้จะถูกหมุนเวียนกลับมาเพื่องานอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะในส่วนของค่าจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวน ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ ยานพาหนะ และค่าน้ำมัน
ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังแล้วออกจะย้อนแย้งชอบกลอยู่ไม่น้อย เพราะภารกิจงานอนุรักษ์สัตว์ป่าที่โดดเด่นของประเทศนี้ คือการปกป้องช้างจากขบวนการลักลอบค้างา
นอกจากนี้ ยังอ้างถึงจำนวนช้างป่าที่มีมาก จนเป็นปัญหากระทบกระทั่งกับคนนอกป่าอยู่บ่อยครั้ง ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐระบุว่าเฉพาะเดือนเมษายนของปีนี้ มีผู้เสียชีวิตเพราะช้างป่าถึง 21 ราย และตลอดปี 2021 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากช้างมากถึง 60 ราย
แน่นอนว่าพอมีประกาศออกมาอย่างนี้ ทางฝั่งของนักอนุรักษ์ย่อมไม่ยอม และได้ออกมาประฌามว่าเป็นวิธีจัดการที่ไม่เหมาะสม ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะนำเหตุผลเรื่องอุบัติเหตุมาใช้
ในมุมของนักอนุรักษ์มองว่า ควรจะส่งเสริมเรื่องพืชอาหารหรือแหล่งน้ำในป่าจะเป็นการป้องกันสัตว์ออกนอกพื้นที่มาทำร้ายประชาชนได้ดีกว่า
แต่ก็ดังที่กล่าวว่าปัญหาใหญ่ๆ ในตอนนี้คือไม่มีเงินสำหรับทำงาน
ขณะเดียวกัน ข้อเสนอนี้ยังขัดแย้งกับรายงานสำรวจจำนวนช้างป่าครั้งล่าสุด ที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะสายพันธุ์ช้างป่าในซิมบับเวให้อยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์
โดยช้างที่อาศัยอยู่ในประเทศซิมบับเว จะถูกเรียกว่า “ช้างสะวันนาแอฟริกา” ซึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาลดลงไปถึง 60%
นโยบายการเปิดให้ล่าช้าง จึงกลายเป็นคำถามใหญ่ว่าเหมาะสมหรือไม่ สามารถหาหนทางอื่นมาแก้ไขได้หรือเปล่า
อันที่จริง นอกจากซิมบับเวแล้ว ในปีนี้ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างบอตสวานาได้เปิดให้มีการล่าช้างด้วยเหตุผลใกล้เคียงกัน คือเพื่อลดจำนวนที่อาจเป็นภัยต่อคน
แต่ก็กลับเป็นข้อเปรียบเทียบว่า บอตสวานาอนุญาตให้ล่าช้าง 280 ตัว น้อยกว่าซิมบับเว เกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งที่จำนวนช้างแทบไม่ต่างกัน และที่ผ่านมาซิมบับเวก็ไม่เคยเปิดให้ล่าเยอะขนาดนี้มาก่อน
ปัจจุบัน ยังมีหลายประเทศในแถบแอฟริกาที่เปิดให้คนมีฐานะซื้อสิทธิ์เข้าไปล่าสัตว์ เช่น แซมเบีย โมซัมบิก แทนซาเนีย แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง นามิเบีย แอฟริกาใต้ เบนิน บูร์กินาฟาโซ เอธิโอเปีย และยูกันดา โดยใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นำเงินทุนไปใช้ในกิจกรรมอนุรักษ์ และจัดการกับจำนวนสัตว์ป่า (บางชนิด) ที่มีมากเกินไป
หากใครริอยากจะไปล่าช้าง นอกจากเหตุผลของการอนุรักษ์ที่อยากให้ฉุกคิด ก็ต้องไม่ลืมเรื่องการระบาดของโควิด-19
ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาประเทศซิมบับเวมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยเกือบ 1,000 รายต่อสัปดาห์ และมีผู้เสียชีวิตสัปดาห์ละประมาณ 20 คน หากนับตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 15,000 ราย
ส่วนเรื่องวัคซีน เพิ่งแจกจ่ายไปราว 300,000 โดส คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับแค่ 0.31% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ
อ้างอิง
- ไทยรัฐ. Vaccine Tourism เที่ยวอลาสกา/มัลดีฟส์ฉีดวัคซีนฟรี. https://bit.ly/3sTnA2J
- Google News. Zimbabwe. https://bit.ly/3aKTZT6
- Vice. Zimbabwe To Sell Licences To Kill Endangered Elephants for $10,000. https://bit.ly/3vhDDJv
- Rainforest Rescue. Botswana: restore the ban on elephant hunting! https://bit.ly/2RSTb80