‘โยธกา’ (YOTHAKA) แบรนด์คราฟต์เฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวาที่ได้รับการยอมรับในนานาชาติ โดยใช้งานหัตถกรรม วิธีสาน ถักแบบไทย แต่ดีไซน์มีความเป็นสากลที่ชัดเจน
นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ รักษ์-สุวรรณ คงขุนเทียน ผู้ก่อตั้งโยธกา มองว่าเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จ เพราะในตลาดสากล คนต้องการใช้สินค้าที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมบางอย่างในตลาดนั้นซื้อขายกันไม่ได้ ต่างจากการโปรโมทการท่องเที่ยวที่ต้องขายวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดคนเข้ามา
“ผมจะไม่ยัดเยียดสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ผมไม่ได้ขายวัฒนธรรม ผมไม่ได้ขายวิถีชีวิตของคน แต่ผมเอางานหัตถกรรมของผมใส่เข้าไปในวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน”
ดังนั้น โยธกาจึงไม่ได้กำลังส่งออกวัฒนธรรม “วิถีไทย” แต่กำลังใช้ “วิธีไทย” ในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบ ช่างฝีมือและวิธีการของโยธกามาจากพื้นฐานการจักสานแบบไทยแท้ๆ ผ่านความชำนาญของช่างไทย แต่ใช้ดีไซน์ที่เป็นสากล และเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานได้จริงในปัจจุบัน
นี่คือการใช้ความเป็นไทยกับสินค้าแบบไม่ได้ ‘ยัดเยียด’ เพราะการทำธุรกิจคราฟต์ในตลาดสากลไม่สามารถยกเอา ‘ความเป็นไทย’ ทั้งก้อนส่งไปได้
นักออกแบบต้องเข้าใจก่อนว่า เป้าหมายของแบรนด์คืออะไร และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคว่า เขากินอยู่หลับนอนอย่างไร และความเป็นไทยนั้นจะอยู่ตรงไหนในงานดีไซน์
แต่ก่อนที่โยธกาจะสำเร็จและเข้าใจเหมือนทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
จุดเริ่มต้นของโยธกาต้องย้อนกลับไป 3 ทศวรรษก่อน ขณะนั้นคุณรักษ์ในวัย 40 ปีกว่าๆ ทำงานเป็นนักออกแบบอยู่ที่สิงคโปร์ กลับมาเมืองไทยและได้พบกับเพื่อนเก่าอย่าง ม.ล.ภาวิณี สันติศิริ ซึ่งต่อมาก็รวมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโยธกา ได้รับทุนจาก Wome’s World Banking ให้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาอาชีพของประชาชนผ่านผักตบชวา พืชน้ำที่ใครหลายคนมองไม่เห็นความสำคัญ
ด้วยความหลงใหลในงานหัตถกรรมอยู่เป็นทุนเดิม คุณรักษ์เห็นวัสดุที่ผลิตจากผักตบชวาจึงเกิดไอเดียที่จะทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวาขึ้นมา โดยโปรโมทผ่านการทำโรดโชว์ที่รัฐลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
แต่ด้วยความที่ตอนนั้นไม่มีใครรู้จักผักตบชวา และคิดว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์จากหวาย ธุรกิจในก้าวแรกที่เริ่มต้นจึงไปไม่รอดและล้มเลิกไป
จนผ่านไปนาน 2 ปี ในขณะที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก คุณรักษ์ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่สิงคโปร์ กลับมาจับมือกับพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจที่เมืองไทย เริ่มบุกเบิกตลาดฝั่งยุโรปแทนอเมริกา บริษัทโยธกาจึงเริ่มต้นขึ้นในตอนนั้น และนั่นเป็นครั้งแรกที่การนำผักตบชวามาใช้ในแบรนด์เฟอร์นิเจอร์
“ถ้าถามผมวันนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่า ผมภูมิใจนะ ผมอยากบอกว่าผมดีใจมากกว่า ที่ผมได้ทำในสิ่งที่ผมรัก”
จากวันที่ไม่มีใครรู้จัก โยธกาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ดีไซน์จนเป็นที่ยอมรับในสากล และมีตัวแทนจำหน่ายกว่า 40 ประเทศ เบื้องหลังความสำเร็จนั้นไม่ง่าย ในฐานะนักออกแบบไทยที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวโลก
ในขณะนั้นการขายงานดีไซน์ไม่สามารถบอกได้ว่า Made in Thailand เพราะจะกลายเป็นสินค้าเกรดไม่ดี เป็นสินค้าลอกเลียนในสายตาโลกตะวันตก และนั่นคือสิ่งที่โยธกาต้องสู้อยู่เสมอ หากสินค้าอื่นต้องทำ 10 เพื่อให้ลูกค้าซื้อ โยธกาก็ต้องทำ 30 เพื่อให้คนเข้าใจว่าสินค้าจากไทยเองก็เป็นสินค้าคุณภาพเช่นกัน แต่ถ้าถามว่าในปัจจุบัน คุณรักษ์มองว่าโยธกาได้ก้าวข้ามภาพลักษณ์เหล่านั้นมามากน้อยเพียงใด คุณรักษ์ตอบตรงไปตรงมาว่า “เพียงแค่ 20% เท่านั้นเอง”
ไม่ว่าอย่างไร ผลงานก็ยังเป็นตัวพิสูจน์คุณภาพ แต่เบื้องหลังคุณภาพเหล่านั้นคือความชำนาญของช่าง และการดีไซน์อย่างเข้าใจความต้องการของลูกค้า แม้ว่าหลายสิบปีมานี้โยธกาจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อให้เกิดความสดใหม่ แต่ก็ยังยืนยันที่ใช้ “วิธีไทย” ในการสร้างสรรค์ผลงานสู่สายตาของชาวโลกต่อไป
ติดตามเรื่องราวของคุณรักษ์ และแบรนด์โยธกาตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกได้ที่: https://bit.ly/330BsO4