วันนี้ (22 มีนาคม) เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ยาโยย คุซามะ (Yayoi Kusama) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม ‘ป้าลายจุด’ ศิลปินอายุ 93 ปี ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่บอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึก และความคิดของตัวเอง
เทคนิคของคุซามะที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันในสังคมนั้นคือการใช้ ‘จุด’ ในผลงาน เป็นที่มาของชื่อ ‘ป้าลายจุด’ ในกลุ่มผู้เสพงานชาวไทย
แม้ผลงานศิลปะหรือแม้แต่ภาพลักษณ์ของคุซามะจะเต็มไปด้วยสีสัน รูปทรงนุ่มนิ่ม จุด และไอเดียของความเป็นอนันต์ แต่รู้หรือไม่ว่าภายใต้ผลงาน ชื่อเสียง และภาพลักษณ์สีฉูดฉาดของเธอนั้นกลับเต็มไปด้วยบาดแผลและความบอบช้ำที่มีที่มาจากประสบการณ์ในวัยเด็กไปจนถึงเส้นทางชีวิตในวงการศิลปะของเธอ
คุซามะมีความฝักใฝ่ในศิลปะตั้งแต่เด็ก ผลงานชิ้นแรกๆ ในวัยเด็กของเธอก็ปรากฎให้เห็นเทคนิคการใช้จุดตั้งแต่ตอนนั้น แต่ครอบครัวของเธอก็ไม่ได้สนับสนุนในเส้นทางความฝันนี้ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงกลางไปจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 นั้นเต็มไปด้วยแนวคิดที่กดทับผู้หญิง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็มีอิทธิพลทางความคิดต่อพ่อและแม่ของคุซามะอย่างมาก ทำให้พวกเขาอยากให้ลูกสาวของตัวเองโตขึ้นมา แต่งงาน (แบบคลุมถุงชน) และมีลูกเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น แม่ของคุซามะก็มักจะยึดอุปกรณ์ศิลปะของเธอไปก่อนที่เธอจะทำงานศิลปะเสร็จ แต่คุซามะก็ดื้อรั้นและพัฒนาฝีมือตัวเองจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ภายในระยะเวลาอันน้อยนิด ในชีวิตประจำวัน แม่ของเธอก็มักจะสั่งให้ไปติดตามดูพ่อในขณะที่พ่อใช้เวลาอยู่กับชู้รัก ทำให้คุซามะได้เห็นการมีเซ็กซ์ตั้งแต่ยังเด็ก ส่งผลให้เธอเกลียดชังเซ็กซ์และเห็นภาพหลอนมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาคุซามะได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนศิลปะ แต่เธอก็ได้ค้นพบว่าหลักสูตรศิลปะในประเทศญี่ปุ่นนั้นล้าหลังและน่าเบื่อ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่นิวยอร์กขณะที่อายุ 27 ปี แต่ตอนนั้นก็เป็นช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในสังคมอเมริกัน
สุดท้ายคุซามะก็ต้องพบกับความจริงอันน่าขมขื่น เพราะวงการศิลปะในอเมริกาในขณะนั้นถูกปกครอง/ครอบงำโดยศิลปินชายเท่านั้น นอกจากนั้นเธอก็คิดด้วยว่าไอเดียของเธอถูกขโมยไปใช้โดยศิลปินชายชื่อดังหลายคน นั่นทำให้เธอยิ่งรู้สึกท้อแท้และหดหู่จนเธอกระโดดจากหน้าต่างอพาร์ตเมนต์หวังฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม เธอมีชีวิตรอดมาได้ และเธอก็ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนผู้หญิงของเธอในวงการศิลปะ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุซามะ ‘หย่าขาด’ จากระบบการแสดงผลงานศิลปะแบบเดิมๆ ที่จะมีคนมาคอยกำหนดว่าเธอจะแสดงผลงานได้ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร โดยเธอเริ่มต้นด้วยการนำผลงานชื่อ ‘Narcissus Garden’ ซึ่งเป็นลูกบอลกระจกสะท้อน 1500 ลูก ไปแสดงและจัดจำหน่ายที่งาน Venice Biennale ในปี ค.ศ. 1966 ซึ่งเธอไม่ได้ถูกรับเชิญไปที่งานดังกล่าว
ตลอดช่วงเวลา 93 ปีในชีวิตของคุซามะ เธอได้พบกับความผิดหวังและความบอบช้ำทางจิตใจตลอดมา ทั้งในรูปของประสบการณ์ตรงในวัยเด็กที่เธอโดนแม่ทำร้ายทางกายและใจ ไปจนถึงความรู้สึกบอบช้ำและภาพหลอนที่เธอได้ให้สัมภาษณ์ว่าทุกวันนี้ก็ยังประสบพบเจออยู่
คุซามะกล่าวว่าการสร้างสรรค์และปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในงานศิลปะจนลืมความเป็นตัวตนของตัวเองไปเป็นหนทางหนึ่งในการบำบัดและเยียวยาจิตใจตัวเอง
หากเราสังเกตดีๆ งานศิลปะหลายงานของคุซามะก็มักจะถ่ายทอดเรื่องราวของการเยียวยาจิตใจของเธอในรูปแบบต่างๆ จากการนำสิ่งที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายอันนับไม่ถ้วนมารายล้อมตัวเองเพื่อพยายามก้าวข้ามความกลัวผู้ชาย การสร้างพื้นที่อันกว้างใหญ่ไม่สิ้นสุดเพื่อให้ตัวเองสามารถจินตนาการและหลบหนีจากความรู้สึกอันบอบช้ำ ไปจนถึงการละเลงจุดไปเรื่อยๆ จนหลงลืมความคิดและภาพจำที่คอยตามหลอกหลอนตัวเธอเอง
อ้างอิง
- ARTSPACE. INTERVIEW: Yayoi Kusama on Sixties New York, Surviving Mental Illness and Why She’s Never Thought About Feminism. https://bit.ly/3D4ES3J
- BBC Culture. The Japanese artist famed for her Instagrammable artworks overcame childhood trauma, prejudice and mental illness to become a sensation late in life, writes Cath Pound. https://bbc.in/3ttSXET
- The Washington Post. How Yayoi Kusama, the ‘Infinity Mirrors’ visionary, channels mental illness into art. https://wapo.st/3uk08i7
- Unit London. Yayoi Kusama and psychedelic schizophrenia. https://bit.ly/3L1L7Ih