“ทุกคนเป็นโรคซึมเศร้าได้เท่ากัน” ญา-ปราชญา เด็กหญิงอายุ 15 ปี ผู้ขับเคลื่อนการพบจิตแพทย์ในเด็กและเยาวชน
Select Paragraph To Read
- จุดไฟในวัย 11 ปีกับการลุกขึ้นพูดถึงสังคม
- ขั้นตอนการเรียกร้องเพื่อสิทธิของทุกคน
- ยุคสมัยที่ต้องขับเคลื่อนอย่างแน่วแน่
- ทำไมก่อนจะเติบโตต้องเจอความเจ็บปวด
- การสื่อสารคนละภาษาระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่
- รอยยิ้มแห่งความสุข
“ทุกคนมันมีความเครียดแล้วก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้เท่ากัน แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษา”
ญา-ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เด็กหญิงวัย 15 ปี เธอเป็นนักเคลื่อนไหว ที่ขอลุกขึ้นมาขับเคลื่อน และแก้กฎหมายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถพบจิตแพทย์โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองยินยอมให้สำเร็จ
รวมถึงกำลังผลักดันหลักสูตรวิธีการจัดการอารมณ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ให้กับเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษา 1 จนถึงมัธยมศึกษา 6 เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกวัน
จุดไฟในวัย 11 ปีกับการลุกขึ้นพูดถึงสังคม
ญาบอกว่า จุดเริ่มต้นที่อยากเคลื่อนไหวเรื่องการบำบัดรักษาของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองยินยอม มาจากเธอเคยมีเพื่อนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีการทำร้ายตัวเอง
ทำให้ตั้งแต่นั้นมาญาเริ่มตั้งคำถาม สิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษาควรจะเป็นสิทธิ์ของทุกคนไม่ว่าจะเป็นวัยไหนหรือเปล่า?
เพราะตอนนั้นด้วยความเป็นเด็กเลยถูกจำกัดว่า “ต้องมีผู้ปกครองไปด้วยถึงจะสามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้”
ซึ่งแท้จริงก่อนจะมีผู้ปกครองยินยอม แค่ด่านแรกอย่างการบอกพ่อแม่ก็ยากแล้ว เพราะเด็กบางคนก็ไม่กล้าบอก หรือบางครั้งบอกไปพ่อแม่ก็อาจไม่เข้าใจ จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่เด็กไม่สามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้
ทำให้ญาเริ่มสนใจถึงปัญหานี้ จนกระทั่งมาจริงจังตอนอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น เธอเริ่มจากเข้าทำงานในสภาเด็กและเยาวชน เลยมีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่ถึงการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายว่า อาจจะต้องรอไปอีกหลาย 10 ปีถึงจะเกิดขึ้น หรือบางครั้งก็เจอคำพูดที่น่าตกใจมากกว่านั้น ซึ่งคำพูดต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นพลัง ทำให้ญามีความตั้งใจ และมีไฟที่จะทำงานอย่างจริงจัง
ถึงแม้จะต้องรอผลลัพธ์ไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่เพราะเธอมีความสุขกับการทำงานที่ตัวเองอยากทำมาตั้งแต่แรก โดยไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องเห็นผลลัพธ์ในเร็ววัน แต่ขอทำให้เต็มที่ที่สุดก็พอแล้ว
ขั้นตอนการเรียกร้องเพื่อสิทธิของทุกคน
เธอเรียกร้องจากการหาเครือข่าย และคนที่เห็นด้วยก่อน ต่อมาก็เริ่มหาข้อมูลว่า การยื่นหนังสือต้องใช้อะไรบ้าง และส่งต่อผู้ใหญ่ฝ่ายไหนบ้าง
พอเข้าไปยื่น เธอถือหนังสือข้อเรียกร้องที่ปริ้นท์ใบหนังสือยินยอมขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์ แล้วสอดโซ่ใส่เข้าไปราวกับว่าเป็นโซ่ที่ล็อกอยู่ หากผู้ใหญ่ปลดโซ่นี้โดยการให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถที่เข้าถึงการบำบัดรักษาด้วยตัวเอง
หลังจากนั้นผ่านไป 1 ปี ก็ยังไม่ได้เห็นผลอะไรที่ชัดเจนมาก ญาจึงเดินหน้าต่อด้วยการติดต่อไปทางรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขให้ช่วยในเรื่องนี้ จึงมีโอกาสเปิดใจคุยกัน ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานให้กับแพทย์และพยาบาล ถัดมาคือ ผ่านอนุกรรมการกฎหมายกระทรวง และออกมาเป็นแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่พร้อมให้คำปรึกษา ดูแล กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่สามารถเดินเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองยินยอม
ยุคสมัยที่ต้องขับเคลื่อนอย่างแน่วแน่
คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่สามารถที่จะเข้าถึงการรักษาได้เหมือนกัน ญาเลยรู้สึกว่า มันเป็นสิทธิ์ที่ควรคู่มาตั้งแต่เราเกิดหรือควรเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเข้าถึงได้ เธอจึงไม่เคยลังเลที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ และในยุคสมัยนี้ด้วย
โดยเธอก็มีเป้าหมายแค่อยากให้สังคมเปิดใจพร้อมจะรับฟัง เข้าใจ รวมถึงเกิดความตระหนักในเรื่องนี้กันมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับฟังทุกคน แต่ขอให้รับฟังคนใกล้ตัวที่อยู่ข้างๆ หรือคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน และคอยช่วยเหลือเท่าที่จะสามารถช่วยไ้ด้ก็พอ
ทำไมก่อนจะเติบโตต้องเจอความเจ็บปวด
การเติบโตบนโลกใบนี้ต้องผ่านความยากลำบากมากมาย สำหรับญารู้สึกถึงความลำบากที่เด็กหลายคนต้องเจอบนโลกนี้คือ ‘ความเจ็บปวด’ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดของครอบครัวที่ไม่อบอุ่น
ไม่มีระยะปลอดภัยที่จะพูดคุย กลายเป็นว่าครอบครัวมีหน้าที่แค่ทำตามตำแหน่งพ่อ แม่ ลูก
จนทำให้บางครอบครัวไม่ได้กอดหรือไม่ได้แสดงความรักต่อกันด้วยซ้ำ
แต่กลับกันถ้าครอบครัวเป็นพื้นที่พูดคุย ให้คำปรึกษากันได้ แม้ว่าออกไปข้างนอกจะเจอคนทำร้ายจิตใจมามากแค่ไหน พอกลับมาที่บ้านทำให้รู้สึกมีคุณค่า บ้านก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยเสมอ
ญายังบอกอีกว่า “อยากโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รับฟัง ไม่เป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ตัดสินเด็ก นั่นก็คือ ไม่เป็นผู้ใหญ่แบบที่เกลียดนั่นเอง”
การสื่อสารคนละภาษาระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่
ญามองเด็กกับผู้ใหญ่ในตอนนี้เหมือนการสื่อสารกันคนละภาษา ที่ไม่ได้รับฟังกันและกัน ถ้าเปรียบเทียบเด็กเป็นภาษาวงกลม ผู้ใหญ่ก็เป็นภาษาสามเหลี่ยม แต่ถ้าสมมติว่า เปลี่ยนภาษา หรือวิธีการสื่อสารให้เข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น
อาจจะถอยออกมาคนละก้าว ในการรับฟังซึ่งกันและกัน หาทางปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้เข้าใจกันและกันให้มากขึ้น เพื่อหาจุดเชื่อมโยงของทั้งสองฝ่าย
รอยยิ้มแห่งความสุข
การทำงานตรงนี้ของญา ทำให้เธอเห็นคุณค่าของรอยยิ้มจากเคสที่ดูแลหรือจากคนใกล้ตัว พอในวันที่เขาได้พบจิตแพทย์แล้วพบอะไรบางอย่างที่ทำให้ค้นพบถึงความสุขจริงๆ เกิดเป็นรอยยิ้มที่ออกมาจากใจเลยทำให้เธอรู้สึกว่า ทำสำเร็จไปอีกรอยยิ้มนึงแล้วนะ
“การได้เห็นคนอื่นมีความสุข อยากเห็นสังคมที่มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งสุขภาพจิตที่ดีมันนำมาสู่ความสุขได้” ญากล่าวถึงความสุขของเธอทิ้งท้าย
รับฟังเรื่องราวของเด็กสาวที่ลุกมาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นที่ : https://www.youtube.com/watch?v=izTsMJBIIxc&t=4s