3 Min

เมื่อมีข่าวลือ ‘สี จิ้นผิง’ ถูกรัฐประหาร ชื่อของนายพล ‘หลี่ เฉียวหมิง’ จึงเป็นที่จับตาทันที

3 Min
544 Views
29 Sep 2022

ถ้ายุคของอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา’ (Hu Jintao) ประกาศว่าจีนคือยักษ์ใหญ่รักสงบยุคของสี จิ้นผิง’ (Xi Jinping) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนตั้งแต่ปี 2013 ถึงปัจจุบัน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกเรียกว่าเป็นยุคของสายเหยี่ยว

เพราะนอกจากสี จิ้นผิง จะมีประวัติว่าเคยตอบโต้ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ด้วยท่าทีแข็งกร้าวแล้ว รัฐบาลในยุคสมัยของเขายังสั่งคุมเข้มอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง แม้แต่คำค้น ‘Winnie the Pooh’ ก็ถูกห้ามเพราะคนที่ไม่พอใจสี จิ้นผิง ล้อเลียนว่าเขามีหน้าตาเหมือนตัวการ์ตูนหมีวินนี่ เดอะ พูห์และที่สำคัญคือมีการยืนยันจากหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติว่าพบเบาะแสที่รัฐบาลจีนในยุคสีนำตัวคนเชื้อสายอุยกูร์ไปใช้แรงงานหนักในค่ายกักกัน เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

เมื่อมีข่าวลือว่าจีนเกิดการรัฐประหาร และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถูกกักตัวในบ้านพักเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2022 ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าถ้ามีคนคิดจะยึดอำนาจจากคนที่เป็นสายเหยี่ยวอย่างสี จิ้นผิงจริงๆ บุคคลนั้นต้องมีความเป็นมาอย่างไรแน่?

ในเวลาไล่เลี่ยกับที่มีข่าวลือเรื่องนี้ ชื่อและยศของนายพลหลี่ เฉียวหมิง’ (Li Qiaoming) ก็ปรากฏขึ้นในสื่อต่างประเทศบางสำนัก โดยมีการระบุว่าเขาคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งใหญ่ในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) มาตั้งแต่ปี 2019 ทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือโปลิตบูโรซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางทางการเมืองการปกครองจีน

ก่อนหน้านี้ หลี่ เฉียวหมิง ถูกจับตามองจากสื่อญี่ปุ่น Nikkei Asia ในฐานะที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้เพิ่มอำนาจและอิทธิพลของกองทัพฯซึ่งเป็นสิ่งที่สีจิ้นผิงก็สนับสนุนเช่นกัน

ประโยคเด็ดที่ทำให้หลี่ เฉียวหมิง เป็นที่จดจำในสื่อต่างประเทศคือการที่เขาเตือนจีนไม่ให้เดินซ้ำรอยสหภาพโซเวียตในอดีต เพราะเขาบอกว่าโซเวียตล่มสลายเพราะไม่มีกองทัพที่มุ่งมั่นเป็นของตัวเอง จึงขาดอำนาจที่จะควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคง

ทั้งนี้ ข่าวรัฐประหารในจีนถูกพูดถึงในสื่อหลายสำนักของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนเรื่องพรมแดนมานาน และเป็นประเทศที่มีการรายงานข่าวลือรัฐประหารในจีนมากสุด แต่สำนักข่าวเก่าแก่ในฝั่งตะวันตกเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Reuters, AFP, AP, BBC แทบจะไม่รายงานเรื่องนี้เลย หรือถ้ามีการรายงานในฝั่งตะวันตกก็จะระบุว่าเป็นข่าวที่ยังไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้

ส่วน Newsweek สื่ออเมริกัน รายงานอ้างอิงกอร์ดอน ชาง’ (Gordon Chang) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีน ซึ่งเขียนหนังสือ The Coming Collapse of China ที่วิเคราะห์สถานการณ์ในจีนช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและประเมินว่าจีนกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางการเมือง

อย่างไรก็ดีชางกล่าวว่าการตรวจสอบหรือยืนยันข้อเท็จจริงในจีนเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะมีการปิดกั้นข้อมูลและจำกัดเสรีภาพในการสื่อสารการจะบอกว่าสีจิ้นผิงถูกรัฐประหารจริงหรือไม่จึงไม่อาจยืนยันได้อย่างมั่นใจนักแต่เขาระบุว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นในจีน

ชางได้อ้างอิงกรณีเที่ยวบินในจีนถูกยกเลิกราว 60 เปอร์เซ็นต์ของเที่ยวบินที่ต้องออกเดินทางในวันที่ 21 กันยายน 2022 และผู้ใช้สื่อโซเชียลจีนก็มีการพูดคุยว่าขบวนรถไฟในกรุงปักกิ่งถูกยกเลิกไปจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนออกมาจากทางการจีน และวันต่อมาสถานการณ์การบินก็ดูจะกลับสู่ภาวะปกติแล้ว จนกระทั่งมีข่าวลือเรื่องรัฐประหารออกมาในวันที่ 24 กันยายน ซึ่งก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทางการจีนออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยเช่นกัน

ที่ผ่านมา จีนสั่งห้ามประชาชนใช้สื่อโซเชียลของบริษัทต่างชาติ และห้ามสืบค้นเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับความผิดของรัฐในอดีต เช่น การสลายชุมนุมของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ซึ่งมีประชาชนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก ทั้งยังห้ามประชาชนในฮ่องกงชุมนุมรำลึกเหตุการณ์นี้โดยใช้วิธีจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาด้านความมั่นคงแก่ผู้ที่พยายามจัดพิธีรำลึกเทียนอันเหมิน

ด้วยเหตุนี้ การที่ข่าวลือในจีนไม่สามาถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือเท็จจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะต่อให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแต่หน่วยงานรัฐบาลและกองทัพจีนไม่ต้องการเปิดเผย คนภายนอกประเทศก็อาจไม่มีทางรู้ได้เลย แต่ก็สามารถตีความได้เช่นกันว่านี่คือข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริงจนทางการไม่คิดจะออกมาปฏิเสธอะไรให้มากความ

อย่างไรก็ดี วันที่ 1 ตุลาคม 2022 จะเป็นวาระการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในโปลิตบูโรแทนสมาชิกที่กำลังจะเกษียณอายุ 7 คน ถ้าถึงตอนนั้นชื่อของหลี่ เฉียวหมิง ถูกรายงานผ่านสื่ออีกครั้ง ทั่วโลกก็คงต้องจับตามองเขาเพิ่มมากขึ้นแล้ว

อ้างอิง