2 Min

ไขปริศนาดำมืด ‘อึสี่เหลี่ยม’ ของวอมแบต เกิดขึ้นได้ยังไง?

2 Min
2467 Views
08 Feb 2021

หนึ่งในปริศนาลึกลับในโลกสัตว์ขนฟูซึ่งนักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบกันมานานหลายปี คือ “ก้อนอึสี่เหลี่ยม” ของตัววอมแบต (Wombat) และในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ไขปริศนาได้แล้วว่ามันไป “เหลี่ยม” ที่กระบวนการไหนของการขับถ่าย

วอมแบด | CNN

ก่อนไปถึงก้อนอึ วอมแบตเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกระเป๋าหน้าท้อง พบได้ในป่าทางใต้ของออสเตรเลียตะวันออกเฉียงใต้ และในเกาะแทสมาเนีย มันมีรูปร่างอ้วนป้อม ขนฟู ขาและหางสั้นเหมือนก้อนขนนุ่มๆ ดุ๊กดิ๊ก แต่มีน้ำหนักเฉลี่ยถึง 40 กิโลกรัม โดยมันเป็นสัตว์ที่ชอบขุดโพรงอาศัยและออกมาหากินตอนกลางคืน

สิ่งพิเศษสุดของมันคือ “อึ” ที่มีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ซึ่งแปลกประหลาดจนนักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามตามหาคำตอบ โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อมาตลอดว่าที่อึมีรูปทรงเช่นนั้นเกิดขึ้นเพื่อการ “สื่อสาร” กันระหว่างวอมแบตผ่านร่องรอยอึ

แต่การที่มันจะออกมาเป็นทรงเหลี่ยมได้อย่างไรนั้นมีหลากหลายทฤษฎี โดยทฤษฎีกล่าวถึงมากที่สุดคือมันไปเหลี่ยมตรง “ทางออก” หรือ “หูรูด” ที่มีทรงเหลี่ยมบีบให้มันออกมาเป็นรูปทรงนี้ หรือมีบางทฤษฎีก็เชื่อว่าวอมแบตเป็นคน “ปั้น” ให้มันเหลี่ยมเองหลังขับถ่าย

และแล้วปริศนาก็คลี่คลาย นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Tasmania ได้ทำการศึกษาและตีพิมพ์การค้นพบในวารสาร Soft Matter พบว่าความเหลี่ยมของอึ เกิดขึ้นก่อนที่เคยคาด เพราะกระบวนการเหลี่ยมเกิดขึ้นในลำไส้ของวอมแบต

อึของวอมแบด | CNN

ดร.Scott Carver นักวิจัยสัตว์ป่าหนึ่งในทีมวิจัยเล่าว่าการศึกษานี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อเขาได้ทำการการุณยฆาตวอมแบตตัวหนึ่งซึ่งบาดเจ็บจากการถูกรถชน และพบว่าอึในลำไส้ช่วงเมตรสุดท้ายของมันมีรูปร่างที่ “เหลี่ยม” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“มันเป็นเรื่องที่แปลกมากเลย ไม่น่าเชื่อว่าลำไส้ที่บางขนาดนั้นจะสร้างอึรูปลูกบาศก์ได้” Carver กล่าว

วอมแบด | Australian geographic

หลังจากนั้นทีมนักวิจัยจึงหันมาศึกษาการผลิตอึเหลี่ยมของวอมแบตอย่างจริงจัง โดยการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยทีมได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงความหนาในลำไส้แต่ละช่วงซึ่งแตกต่างกัน จากบริเวณที่หนาไปสู่บริเวณที่อ่อนกว่าและยืดหยุ่น และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง ยืด และหดตัว ของผนังลำไส้นั้นมีส่วนอย่างมากในการสร้างรูปร่างแปลกๆ ออกมา

ส่วนสาเหตุที่อึของวอมแบตต้องเหลี่ยม นักวิจัยยังเชื่อในเรื่องการสื่อสารกันผ่านกลิ่น ดังนั้นด้วยรูปร่างก้อนลูกบาศก์จะทำให้อึของวอมแบตคงสภาพและรักษากลิ่นไว้ได้นานกว่าอึรูปร่างกลมๆ ยาวๆ ตามปกตินั่นเอง

อ้างอิง: