ปอดโลกพังแล้ว แอมะซอนปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่าที่ดูดซับได้

3 Min
922 Views
14 May 2021

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ได้คาดการณ์มาสักระยะแล้วว่า ผืนป่าแอมะซอนอาจกลายเป็น “พื้นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเป็นแหล่งจัดเก็บ”

สมมติฐานนี้ตั้งขึ้นจากการเฝ้าติดตามภัยคุกคามต่างๆ ทั้งจากการตัดไม้ การเปลี่ยนที่ดินเป็นเรือกสวนไร่นา การทำเหมือง ตลอดจนไฟป่าที่โหมแรงขึ้นทุกปีๆ – ถ้ายังถูกทำลายแบบนี้ต่อไปเรื่อย รับรองว่าฉายา “ปอดของโลก” คงได้หลุดลอยไปอย่างแน่นอน

แต่พอตรวจสอบกันบ่อยครั้งเข้ากลับพบว่า สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต มันไม่ใช่อีกแล้ว เพราะผืนป่าแอมะซอนของประเทศบราซิล ได้กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากกว่าเป็นแหล่งกักเก็บไปเป็นที่เรียบร้อย

โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ผืนป่าแอมะซอนมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเกือบ 20% พบการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกไปประมาณ 16.6 พันล้านตัน แต่กลับดูดซับได้เพียง 13.9 พันล้านตัน

แต่ก็ต้องย้ำกันชัดๆ อีกครั้งว่า นี่เป็นผืนป่าแอมะซอนในโซนประเทศบราซิลเท่านั้น ไม่ใช่ผืนป่าทั้งหมด (แต่ก็อย่าเพิ่งโล่งใจกัน)

สาเหตุที่พาเรามาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ และไฟป่าที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเพิ่มมากถึง 4 เท่าในปี 2019 จากเดิมเสียป่าปีละประมาณ 1 ล้านเฮกตาร์มาเป็น 3.9 เฮกตาร์ในปีดังกล่าว

นอกจากนี้ ในรายงานสถานการณ์ป่าไม้โลกประจำปี 2020 บราซิลยังครองแชมป์ประเทศที่ทำพื้นที่ป่าหายไปมากที่สุด

ปี 2020 บราซิลเสียป่าไป 1.7 ล้านเฮกตาร์

ปี 2020 บราซิลเสียป่าไป 1.7 ล้านเฮกตาร์ l Getty Images

ในรายงานได้กล่าวโทษถึงนโยบายของ ซาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีของประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนกฎหมายสิ่งแวดล้อม การผ่อนปรนระเบียบการทำปศุสัตว์ ไปจนถึงความเมินเผยต่อปัญหาไฟป่าไม่ยอมรีบเร่งแก้ไข

แม้รายงานชิ้นนี้ จะพูดถึงแค่ผืนป่าแอมะซอนที่อยู่ในเขตปกครองของประเทศบราซิล แต่อาจกล่าวได้ว่า เป็นรายงานที่แทนความหมายของป่าทั้งผืนได้เหมือนกัน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าแอมะซอนตั้งอยู่ในประเทศบราซิลเกิน 60% ขณะที่ประเทศอื่นๆ เป็นเจ้าของป่ากันไม่ถึง 10% อันได้แก่

  • โบลิเวีย – 6.87%
  • โคลอมเบีย – 8.95%
  • เอกวาดอร์ – 1.48%
  • กายอานา – 3.02%
  • เฟรนช์เกียนา – 1.15%
  • เปรู – 11.3%
  • ซูรินาม – 2.1%
  • เวเนซุเอลา 6.73%

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษา กล่าวถึงป่าส่วนที่เหลือว่า “น่าจะ” ช่วยคานเอาไว้ได้

ดังนั้น ในภาพรวมป่าฝนแห่งลุ่มน้ำแอมะซอนทั้งหมด “น่าจะ” ยังมีค่าคาร์บอนฯ เป็นกลาง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศอื่นๆ ก็มีการบุกรุกป่าหนักไม่น้อยกว่าบราซิลเหมือนกัน เช่น การทำเหมืองทองในเปรูและเวเนซุเอลา ในโบลิเวียรัฐบาลอนุญาตให้นักธุรกิจเข้าไปตัดไม้ใช้ที่ดินได้ เอกวาดอร์ถูกชาวสวนปาล์มบุกรุก

ซึ่งหากมีการตรวจวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนกันจริงๆ จังๆ ในทุกพื้นที่ ก็มีแววว่าแอมะซอนคงไม่รอดแน่ๆ

ผลที่ได้จากการศึกษานี้ กลายเป็นคำเตือนที่บอกเราว่า การตั้งบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนฯ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันอาจไม่พอ เราคงหวังพึ่งตัวช่วยจากป่าธรรมชาติไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งก็หมายความว่าพวกเราต้องทำงานหนักขึ้นยิ่งกว่าเก่าเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อน

ป่าแอมะซอนที่อาจไม่ได้เป็นปอดของโลกอีกแล้ว

ป่าแอมะซอนที่อาจไม่ได้เป็นปอดของโลกอีกแล้ว l Greenpeace

แต่ถ้าคิดว่า สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดเลวร้ายแล้ว บทสรุปของเรื่องนี้ ยังมีร้ายยิ่งกว่า

จากผลงานของประธานาธิบดีบราซิล ที่ไม่ค่อยแคร์ป่านัก จึงทำให้มีนานาประเทศร่วมขอร้องแกมกดดันให้บราซิลหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลป่าให้มากขึ้น ซึ่งนายฌาอีร์ โบลโซนาโร ก็ตอบรับอย่างดิบดี

แต่พอเอาเข้าจริง ก็ไม่ต่างอะไรกับถ้อยวาจาตอนหาเสียงของนักการเมือง

นอกจากจะไม่มีรูปธรรมว่าจะดำเนินการอย่างไรแล้ว มิหนำซ้ำยังสั่งลดงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมของปีนี้ลงไป 24%

ตั้งแต่เดือนมกราคมของปีมาจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2021 ป่าแอมะซอนถูกทำลายไปอีก 1,157 ตารางกิโลเมตร แถมสถิติป่าถูกทำลายประจำเดือนเมษายนของปีนี้ก็สูงกว่าปีที่แล้ว 43%

ต่อจากนี้ คำว่า “ปอดของโลก” คงไม่สามารถเอามานิยามความเป็นแอมะซอนได้อีกแล้ว

อ้างอิง