5 Min

จูเลียน อัสซานจ์ ชายผู้ย้ำเตือนโลกว่า เสรีภาพในการแสดงออกไม่มีจริง

5 Min
499 Views
11 Jan 2022

ในที่สุด ศาลอังกฤษก็อนุมัติการ ‘ส่งผู้ร้ายข้ามแดน’ แล้วในกรณีของ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange)

นับเป็นเวลากว่า 11 ปีที่ชายผู้นี้หนีเงื้อมมืออเมริกามา และคำตัดสินนี้ก็เหมือนเป็นการยืนยันว่าคุณไม่มีทางหนีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปได้ถ้าคุณยังมีชีวิตอยู่

ว่าแต่ชายผู้นี้เป็นใคร? เขาทำอะไรผิด? ตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทบทวนกันหน่อย เพราะอย่างน้อยๆ ‘คนรุ่นหลัง’ ก็ไม่คุ้นกับเขาแล้ว และคนรุ่นก่อนๆ ก็น่าจะไม่ได้ข่าวเขานานจนลืมไปแล้ว

จริงๆ ชีวิตในช่วงรุ่นเรื่องของอัลซานจ์ก็มีสีสันระดับเป็นภาพยนตร์ได้ (และก็เป็นมาแล้วใน The Fifth Estate ในปี 2013 ที่เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์มารับบทอัสซานจ์) แต่ถ้าจะให้เล่าย้อนคือเด็กๆ เขาเป็นพวก ‘แฮกเกอร์’ รุ่นบุกเบิกของอินเทอร์เน็ต เป็นพวกที่กังขากับบทบาทของรัฐบาลและเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลต่างๆ ในโลก และในปี 2006 เขาในวัย 35 ปีก็ได้ตั้ง ‘วิกิลีกส์’ (Wikileaks) ขึ้น เพื่อให้มันเป็นแพลตฟอร์มที่จะใช้ ‘แฉ’ พฤติกรรมอันมิชอบของผู้มีอำนาจทั่วโลกแบบไม่มีลิมิตไม่ว่านั่นจะเป็น นักการเมือง เศรษฐี ผู้นำประเทศ บริษัท หรือรัฐ คือคุณส่งข้อมูลหลักฐานความฉ้อฉลให้วิกิลีกส์อย่างนิรนามได้ และวิกิลีกส์จะช่วยให้โลกรู้พฤติกรรมอันมิชอบนั้น

ภายใต้ความคิดของอัลซานจ์และคนที่เชื่อเสรีภาพในการแสดงออกจำนวนมาก นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง และการที่โลกนี้ต้องมีวิกิลีกส์ก็เพราะรัฐทั่วโลก มันไม่รับประกันการ ‘พูดความจริง’ ของคุณ เพราะถ้าคุณไป ‘เหยียบตีน’ ผู้มีอำนาจเมื่อไร คุณก็จะโดนดี กล่าวคือเมื่อรัฐไม่คุ้มครองเสรีภาพของคุณทั้งๆ ที่คุณเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โลกเลยต้องการวิกิลีกส์

แน่นอน ตอนแรกโลกไม่รู้จักวิกิลีกส์และอัสซานจ์กันหรอก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในปี 2010 ที่วิกิลีกส์ได้ ‘เปิดเผยอาชญากรรมสงคราม’ ของสหรัฐอเมริกาที่ทำในสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือการ ‘ฆ่าพลเรือน’ นั่นเอง ซึ่งนี่ถือว่าผิดหลักการทำสงครามอย่างร้ายแรง

สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่า ‘ช็อกโลก’ ตอนนั้นพอควร เพราะแน่นอน ถึงเรารู้ว่าทหารอเมริกาก็น่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่ๆ แต่พอได้เห็นเอกสารภายในกองทัพไปจนถึงคลิปแล้ว มันทำให้อเมริกาดูแย่สุดๆ มันไม่ใช่ ‘ข่าวลือ’ หรือเรื่องเล่าๆ กันอีกแล้ว แต่มันเป็นการประจานให้โลกเห็นแบบคาหนังคาเขา

แน่นอน อเมริกาเสียหน้ามาก อเมริกาไม่เคยโดนแฉขนาดนี้และไม่วางเฉย ทำการสืบสวนพบว่าคนปล่อยเอกสารหลุดไปคือพลทหารอเมริกัน ‘แบรดลีย์ แมนนิ่ง’ เอง ซึ่งก็โดนจับไปขึ้นศาลทหารและติดคุกเรียบร้อย (แต่ทุกวันนี้ไม่มีแบรดลีย์ แมนนิ่งแล้ว เพราะเขาข้ามเพศเป็นหญิงและเปลี่ยนชื่อเป็นเชลซี แมนนิ่ง และใช้ชีวิตหลังออกจากคุกในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง)

ส่วนตัวอัสซานจ์เอง ในฐานะบรรณาธิการวิกิลีกส์ ก็โดนรัฐบาลสหรัฐตั้งข้อหายุ่บยั่บไปหมดและรวมๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นข้อหาในกฎหมายกลุ่มกฎหมายความมั่นคงล้วนๆ

ทีนี้อัสซานจ์ไม่ได้อยู่ที่อเมริกา แต่อยู่ที่อังกฤษ และเวลาละเมิดกฎหมายความมั่นคงแล้วอยู่ในประเทศอื่น โดยทั่วไปมันอ้างว่าเป็น ‘คดีการเมือง’ ได้ ซึ่งถ้าอ้างแบบนี้ โดยทั่วๆ ไปชาติที่ศิวิไลซ์หน่อยก็จะไม่ ‘ส่งผู้ร้ายข้ามแดน’ ไปให้โดนดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม (การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทั่วๆ ไปคือใช้สำหรับอาชญากรรมร่วมของสองรัฐ เช่น ไปค้ายาเสพติด ไปฆ่าคนตาย เป็นต้น พวก ‘คดีการเมือง’ ทั่วๆ ไปมันจะถือว่าเป็นความผิดของรัฐหนึ่ง แต่ไม่เป็นของอีกรัฐ เลยไม่เข้าข่ายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน)

อย่างไรก็ดี ในปี 2010 นี่เอง อยู่ดีๆ สวีเดนก็บอกว่าต้องการตัวอัสซานจ์ไปดำเนินคดี ‘ข่มขืน’ ที่โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ (ในปีนั้น อัสซานจ์ไปเยือนสวีเดนช่วงสั้นๆ และพอเขากลับมาก็มีผู้หญิงสองคนแจ้งความว่าเขา ‘ข่มขืน’ และ ‘ละเมิดทางเพศ’ แต่เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่านั่นเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการสมยอม ซึ่งต่อมาคดีก็หมดอายุความไป) และแน่นอน โลกทั้งใบก็มองว่านี่คือแผนของสหรัฐอเมริกา ที่จะให้อัสซานจ์ถูกส่งตัวจากอังกฤษไปสวีเดน และให้สวีเดนส่งตัวให้สหรัฐอเมริกาอีกที

นี่ทำให้อัสซานจ์ต้องขึ้นศาลอังกฤษในประเด็นส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งศาลชั้นต้นก็ยืนยันว่าเขาจะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่อังกฤษได้ ศาลชั้นกลางก็ยืนยันตรงกัน ซึ่งแน่นอนเขาก็อุทธรณ์อีกครั้งกับศาลสูงสุด

แต่ก่อนที่ศาลสูงสุดจะตัดสินในปลายปี 2012 อัสซานจ์ก็ได้ขอเข้าลี้ภัยในสถานทูตเอกวาดอร์ในลอนดอนสำเร็จ

และเขาก็อยู่ที่นั่นถึงปี 2019 ซึ่งเขามีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ภายใน จนทำให้เขาถูกถอนสถานะผู้ลี้ภัยในที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม และคลิปตอนที่สถานทูตเรียกตำรวจมา ‘ลากตัว’ (ลากจริงๆ ตามตัวอักษร) เขาออกจากสถานทูตมันก็น่าขนลุกมากๆ เพราะเขาดิ้นรนอย่างทุรนทุรายจนตรอกมาก

ในทางเทคนิค ในตอนอัสซานจ์หนีเข้าสถานทูตเอกวาดอร์คือเขา ‘ละเมิดการประกันตัว’ ของศาลอังกฤษในระหว่างการดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปสวีเดน และมีโทษจำคุก ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่เขายังต้องอยู่ในคุกอังกฤษจนถึงตอนนี้

แต่เรื่องสยองจริงๆ ของเขาก็คือ สหรัฐอเมริกาก็ตั้งข้อหาเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหวังว่าสักข้อหา มันจะหนักแน่นเพียงพอให้ทางศาลอังกฤษส่งตัวอัสซานจ์ในอเมริกาได้

และในที่สุด ในเดือนธันวาคม 2021 ศาลอังกฤษก็อนุมัติการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา

นี่อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ใครประหลาดใจ แม้แต่ชายวัย 50 ปีอย่างอัสซานจ์ เพราะนี่คือสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องการมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ประเด็นก็คือ ถ้าเรากลับมาถามคำถามพื้นฐานแล้ว ประเด็นคืออัสซานจ์ทำอะไรผิด? แน่นอนว่าผิดกฎหมายความมั่นคงอเมริกา แต่นั่นคือเรื่องของอเมริกา เพราะสุดท้ายสิ่งที่อัสซานจ์ทำก็คือเปิดโปงความประพฤติมิชอบของทหารสหรัฐอเมริกาในแผ่นดินอื่นให้โลกเห็นไม่ใช่เหรอ?

มันต้องย้ำว่าสิ่งที่อัสซานจ์ทำมันไม่ใช่ ‘เรื่องภายใน’ ของกองทัพอเมริกาหรือกระทั่งสหรัฐอเมริกา แต่มันคือการแฉว่าเจ้าหน้าที่รัฐของอเมริกานั้นประพฤติมิชอบต่อชาวโลก มันคือการทำให้โลก ‘เห็น’ ว่าทหารอเมริกา ‘ฆ่าพลเรือน’ ประเทศอื่นจริงๆ แบบไม่ใช่ได้ยินในเรื่องเล่า เห็นในหนัง แต่นี่คือเอาคลิปมาโชว์ให้เลยว่ามันเกิดขึ้นจริง

โอเค ตรงนี้คงไม่มีใครเถียงอีกแล้วว่าจริงๆ ‘ความมั่นคง’ มันคือสิ่งที่อยู่เหนือหัว ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ เสมอ แต่ประเด็นก็คือ ถ้าอัสซานจ์โดนดำเนินคดีจริงและติดคุกจริง ในโลกนี้ใครจะกล้าแฉกองทัพสหรัฐอเมริกาอีกถ้าอเมริกาทำแบบนี้อีก? เพราะนี่ยืนยันเลยว่าอเมริกานั้นสามารถส่งทหารไปฆ่าพลเรือนประเทศอื่นได้โดยไม่ต้องมีความผิด และอเมริกาลากใครก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ ที่กล้าแฉเรื่องนี้ไปเข้าคุกอเมริกาได้ ถ้าจะทำ

พูดอีกแบบ นี่คือ ‘การเซนเซอร์’ ที่น่าสะพรึงกลัวเลยของอเมริกา ซึ่งประเด็นก็คือ ถ้าจีนทำแบบนี้ เราน่าจะไม่แปลกใจ แต่นี่คืออเมริกา ผู้เป็นผู้นำโลกเสรี ชาติที่เชิดชูเสรีภาพในการแสดงออกเหนือชาติใดในโลก แต่กลับทำซะเอง

แต่เราก็อย่าเครียดมากไปเลย คนที่เครียดตอนนี้คืออัสซานจ์ เพราะถ้าศาลอเมริกาตัดสินว่าเขาทำผิดทุกกระทงที่ทางรัฐบาลอเมริกาตั้งข้อหาจริงๆ เขาอาจต้องติดคุกถึง 175 ปี

และคำถามว่า “แค่พูดความจริง ต้องติดคุกตลอดชีวิตเลยเหรอ” ก็คงจะอยู่ในสายลม

อ้างอิง