‘วันหัวใจโลกหรือ World Heart Day’ 29 กันยายน ของทุกปี กับเหตุผลทำไมต้องติดตั้งเครื่อง AED อุปกรณ์ช่วยชีวิตไว้ทุกที่!

5 Min
820 Views
28 Sep 2023

เนื่องในวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น ‘วันหัวใจโลก’ (World Heart Day) ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับอาการ การดูแล และป้องกันโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยและประชากรโลก 

เพราะจากอัตราจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจทั่วโลกถึง 17 ล้านคน ทุกปี และ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ มีสาเหตุมาจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

เช่นนี้เองที่ทำให้ทาง ‘ฟิลิปส์’ (Philips) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ หันมาตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ ผ่านการสร้างการรับรู้ และรณรงค์เกี่ยวกับการช่วยชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ‘ครอบคลุมทุกพื้นที่’ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยชีวิตคนอื่นได้ หลังสถิติพบผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถึง 1,000 คนต่อวัน

รู้จักภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สาเหตุอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตผู้คน

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ (Sudden Cardiac Arrest) คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง 

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ซึ่งเมื่อเกิดภาวะนี้ จะไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ โดยเฉพาะการทำงานของสมอง เมื่อไม่มีเลือดมาเลี้ยงก็ทำให้หมดสติ 

สามารถพบได้ ‘ทุกช่วงวัย’ แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ทุกเวลา และไร้สัญญาณเตือน ซึ่งแตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลันที่มักจะมีสัญญาณเตือน เช่น อาการเจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม

ส่วนสาเหตุของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด หรืออาจพบในกรณีฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ ออกกำลังกายหนักเกินไป การตกใจ หรือพบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้หัวใจเกิดการทำงานผิดปกติ ทางเดินหายใจอุดกั้น รวมถึงอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาด หรือแพ้ยา 

ทั้งนี้ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆในผู้ป่วยโรคหัวใจ และอาจเกิดได้กับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งจากสถิติของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า 

90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล มีโอกาสเสี่ยงที่จะ ‘เสียชีวิต’ 

ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เฉลี่ยถึงปีละกว่า 54,000​ คน หรือประมาณ 6 คน ทุกๆ 1 ชั่วโมง 

6 ขั้นตอนช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ด้วยสถิติการพบผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล ซึ่งทางสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิตไว้ด้วยกัน 6 ขั้นตอน 

  1. ประเมินสถานการณ์ และแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินให้เร็วที่สุด (Activation of Emergency Response) และหากพบผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้น โทรแจ้งที่เบอร์ 1669
  2. ทำการนวดหัวใจทันท่วงที (High Quality CPR) 
  3. ใช้เครื่องคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillation)
  4. ส่งต่อไปยังบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง (Advanced Resuscitation)
  5. การดูแลหลังภาวะหัวใจหยุดเต้น (Post-Cardiac Arrest Care) 
  6. การดูแลพักฟื้นและติดตามอาการ (Recovery)

จากแนวทางข้างต้นนี้เอง หากเกิดเหตุการณ์ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือในขั้นตอนที่ 1-3 ก่อนที่ความช่วยเหลือทางการแพทย์จะมาถึง และค่อยดำเนินการในขั้นตอน 4-6 ต่อไป  

การทำ CPR วิธีการปฐมพยาบาล เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล สามารถทำโดยการทำ ‘CPR’ (Cardiopulmonary Resuscitation) เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจ หรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ หรือลมหายใจไหลเวียนได้ตามปกติ

อย่างไรก็ดี ความสำคัญของการทำ CPR อยู่ที่การปั๊มหัวใจที่ถูกต้องและทันเวลา เพราะถ้าสมองขาดออกซิเจนเกิน 4 นาที สมองอาจเสียหายได้ ขณะที่การทำ CPR อย่างถูกวิธี จะสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 3 เท่า 

ซึ่งสิ่งแรกที่ควรทำหลังจากพบผู้ป่วยหมดสติ ให้ทำการกระตุ้นเพื่อดูว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือมีการตอบสนองหรือไม่ ส่วนใครที่คลำชีพจรเป็นก็ให้คลำชีพจรเพื่อตรวจสอบ ถ้าพบภาวะหัวใจหยุดเต้น ให้ร้องขอความช่วยเหลือ หรือโทร. 1669 แล้วให้เริ่มทำการ CPR 

ส่วนการทำ CPR เริ่มต้นด้วยการกดหน้าอกผู้ป่วยบริเวณตรงกลาง (ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ของกระดูกหน้าอก) โดยกดไปที่ตำแหน่งครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก ใช้สันมือหนึ่งข้างกดพร้อมกับใช้มืออีกข้างหนึ่ง แล้วล็อกมือที่ใช้กดหน้าอกไว้ ทั้งนี้ต้องกดให้ลึกลงไป 2 นิ้ว แต่ไม่ควรลึกเกิน 2.4 นิ้ว โดยปกติแรงกดของคนทั่วไป มักไม่เป็นอันตราย จึงควรพยายามกดให้แรง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกระตุ้นหัวใจ ผ่านการใช้ความเร็วในการกดหน้าอกที่ 100-120 ครั้งต่อนาที 

ความสำคัญของเครื่อง AED อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ

ทว่าการทำ CPR จำเป็นที่จะต้องใช้ ‘เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ’ (AED) ร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในลักษณะของหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว เพราะถ้าหากไม่มีอุปกรณ์นี้ อาจส่งผลทำให้การช็อตหัวใจผู้ป่วยล่าช้า แม้เพียง 10 นาทีก็สามารถเสียชีวิตได้ 

สำหรับเครื่อง AED นั้น สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า การใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ภายใน 3-5 นาที จะช่วย ‘เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต’ ได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว 

โดยวิธีการใช้เครื่องดังกล่าว ก็เริ่มจากเปิดเครื่อง ฟังคำแนะนำของเครื่องตามขั้นตอน แล้วถอดเสื้อผู้ป่วย จากนั้นนำแผ่นแพดในเครื่องติดบริเวณหน้าอกผู้ป่วยตามตำแหน่งที่แนะนำให้แนบสนิท แต่ต้องแน่ใจว่าหน้าอกของผู้ป่วยแห้ง ไม่เปียกน้ำ

เท่านี้เครื่อง AED จะทำการประเมินจังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อตรวจสอบว่าต้องทำการช็อตหัวใจหรือไม่ หากต้องทำการช็อต เครื่องจะสั่งการให้กดปุ่มช็อตหัวใจ ซึ่งระหว่างกดปุ่มช็อต ห้ามโดนตัวผู้ป่วยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจำนวนเครื่อง AED ในที่สาธารณะยังมีจำนวนไม่เพียงพอ รวมถึงประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรมในการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ก็ยังมีไม่มากนัก ขณะที่ข้อมูลของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาประมาณการว่า หากมีเครื่อง AED กระจายอย่างทั่วถึง อาจช่วยชีวิตผู้คนได้มากถึง 40,000 คน 

ด้านผลสำรวจประชากรในประเทศไทยกว่า 2,000 คน โดย YouGov ยังพบว่า 39 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด ไม่ทราบวิธีการกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง อีก 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่ทราบวิธีการใช้เครื่อง AED ที่ถูกต้อง และ 54 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ไม่เคยพบเห็นเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ 

จึงแสดงให้เห็นว่า นอกจากการทำ CPR หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะช่วยลดการสูญเสียแล้ว เครื่อง AED ยังเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมาก บุคคลทั่วไปก็สามารถใช้ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านการแพทย์ เพียงทำตามคำแนะนำการใช้เครื่อง ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้มากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

  • sca-aware. AHA releases Heart and Stroke Statistics – 2022 Update. https://tinyurl.com/5x589x98
  • กรมการแพทย์. ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ทำให้เสียชีวิตกะทันหัน โดยปราศจากสัญญาณเตือน. https://tinyurl.com/yenp48jc
  • thaihealth. อายุ35ขึ้นไปเสี่ยงโรคหัวใจหยุดเต้นฉียบพลัน. https://tinyurl.com/4h2p8wds
  • Payathai Hospital. ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน…อันตรายที่ไร้สัญญาณเตือน. https://tinyurl.com/2x2bfdak
  • Bangpakok Hospital. มารู้จัก . . การทำ CPR วิธีปฐมพยาบาลที่เพิ่มโอกาสรอดชีวิต. https://tinyurl.com/mr2r4z6t
  • Ramathibodhi Hospital. ทำอย่างไรเมื่อเจอผู้ป่วย หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน. https://tinyurl.com/45vruy5e
  • สถานบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ. รณรงค์การใช้เครื่อง AED เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน. https://tinyurl.com/mu3en6p2