3 Min

เขาว่ายิ่งทำงานจะยิ่งเก่งขึ้น แต่ทำไมเรากลับรู้สึกว่า ยิ่งทำงาน ยิ่งถดถอย เมื่องานหนักไม่ได้ทำให้เราเติบโตเสมอไป อาจถึงเวลาที่ต้องพักสักหน่อย

3 Min
339 Views
12 Apr 2024

ปัญหาที่วัยทำงานเจอเมื่อทำงานไปได้สักพัก จากช่วงเริ่มต้นที่เปลวไฟในตัวเราลุกโชติช่วง หลังจากนั้นมันก็ค่อยๆ เบาลงจนมอด หรือ ‘หมดไฟ’ (burnout) นั่นเอง 

แน่นอนว่า MOODY ได้หยิบภาวะนี้มาเล่าให้ทุกคนได้อ่านอยู่หลายครั้ง นั่นก็เพราะผลกระทบจากการหมดไฟนั้นนำมาซึ่งอาการหลายๆ อย่าง ทั้งด้านจิตใจและร่างกาย 

ในประเด็นที่จะเล่าในบทความนี้ก็เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อพวกเราทำงานหนักเกินลิมิตจนร่างกายรับไม่ไหว ระบบจึงพลอยรวนทำให้พลังใจเป๋ไปด้วย 

นั่นก็คือ อาการที่เรารู้สึกว่าทำงานมาก็เยอะ ประสบการณ์ตั้งหลายปีแล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกเหมือนไม่รู้อะไรอยู่เลย เหมือนยิ่งทำสมองยิ่งล้าและถดถอย บางคนเริ่มทำงานผิดพลาดบ่อยขึ้นทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็น 

ภาวะหมดไฟนั้นเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า มีผลการศึกษาเร็วๆ นี้ที่แสดงให้เห็นว่ามันส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมกระบวนการรับรู้ทางสมองของเรา คล้ายทำให้เราสงสัยว่าทำไมยิ่งทำงานยิ่งโง่ลงเสียอย่างนั้น 

อารมณ์ก็ลดลง รวมถึงการเว้นระยะห่างทางจิตใจที่แยกตัวเราออกจากสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ อาจคล้ายอาการเหม่อลอย ที่แยกระหว่างกายหยาบและกายละเอียด (จิตใจ) ของเรานั่นเอง จึงนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

เพราะอย่าลืมว่าเดิมทีแล้ว สมองของมนุษย์เราไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความเครียดจากการทำงานหนักอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น การทำงานมากเกินไปส่งผลให้ระดับคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดหลั่งมากเกินไป 

จึงไปรบกวนการทำงานของสารสื่อประสาท ซึ่งหมายความว่าการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองมีความบกพร่อง นอกจากนี้ ระดับคอร์ติซอลในระดับสูงเหล่านี้จะทำให้สมองส่วนความทรงจำ หรือฮิปโปแคมปัสหดตัวลง ทำให้ความยืดหยุ่นของระบบประสาทของสมองลดลง

อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาที่มีนัยสำคัญ โดย ‘แฮนนา เอ็ม. เกฟลิน’ (Hanna M. Gavelin) และเพื่อนร่วมงานได้วิเคราะห์สถิติจากงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของความเหนื่อยล้าต่อการทำงานที่ส่งผลไปยังสมอง พบว่ามันทำให้พลังสมองของเราลดน้อยลงหลายประการ ดังนี้

1 – ความจำขาดหาย ความสามารถในการสื่อสารลดลง: 

จากที่เคยจดจำรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อคน เบอร์โทรศัพท์ และแม้กระทั่งจุดที่วางกุญแจรถหรือโทรศัพท์ไว้ก็ดันลืมง่ายๆ เสียอย่างนั้น โดยผลการศึกษาพบว่า ทั้งความจำระยะสั้นและความจำในการทำงานและการเรียกคืนความจำระยะยาวจะลดลงอย่างมากเมื่อมีความเหนื่อยล้าสะสมมากไป รวมไปถึงทำให้คำศัพท์ต่างๆ ที่อยู่ในความทรงจำเรียกใช้ได้ช้า หรือบางทีก็ถูกปิดกั้นไปเลย จึงส่งผลต่อการนำมาใช้ในการสื่อสาร รวมถึงการใช้เหตุผล

2 – ไม่สามารถจดจ่อได้: 

เมื่อเราเหนื่อยล้ากับอะไรสักอย่างมากๆ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้จดจ่อ หรือมีสมาธิกับอะไรนานๆ จึงไวต่อสิ่งเร้าได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถแยกโฟกัสบรรดางานมากมายที่เรารับผิดชอบอยู่ได้ดีพอ พูดง่ายๆ คือ อาจจดจ่อไม่ได้ หรือสลับงานทำไปมาได้ยากขึ้น นำไปสู่การทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง 

3 – จัดการตัวเองได้น้อยลง: 

จากที่สามารถอดทนและรับมือกับปัญหาได้ เมื่องานเยอะ งานหนัก เครียด พลังงานหมด สมองสูญเสียสมดุลทำให้การประมวลผลเชิงตรรกะย่อมแย่ลง รวมถึงการจัดการอารมณ์ เช่น เมื่อก่อนเคยใจเย็น ตอนนี้เริ่มพูดจาไม่ดีใส่ผู้ร่วมงาน หงุดหงิดง่าย ใจร้อน โดยสิ่งนี้จะกัดกร่อนทักษะทางสังคมและลดทอนความอดทนต่อความคับข้องใจของเราลงได้ง่ายๆ 

4 – ศักยภาพในการเรียนรู้ลดลง: 

พบว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่และการรับข้อมูลใหม่ๆ เป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่าความเหนื่อยหน่ายส่งผลให้ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลใหม่หรือข้อมูลที่ซับซ้อนลดลง ลดความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ลดความสามารถในการวางแผน การจัดระเบียบ การดำเนินการ และส่งผลเสียต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์อื่นๆ 

ดังนั้น หากรู้สึกว่าประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองสวนทางกับความสามารถที่ควรจะเป็น ลองหยุดพักเพื่อผ่อนคลายสมองและฟื้นฟูระบบต่างๆ ของร่างกายให้กลับมาสมดุลมากที่สุด 

ทว่าก็มีการศึกษาบางชิ้นพบว่า แม้เราจะฟื้นฟูตัวเองจากความเหนื่อยล้าแล้วก็ตาม แต่ความเสียหายที่สมองได้รับนั้นยากเกินกว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ประสิทธิภาพความสามารถบางอย่าง เช่น ไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การจดจำ อาจไม่ได้กลับมาทำได้ดีเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม หากเริ่มมีสัญญาณของอาการดังที่ระบุไว้ พยายามอย่ามองข้ามมันไป เพราะหากปล่อยไว้นานวันเข้าคงไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดต่ำลงจนหมดไฟ แต่สิ่งที่กลับคืนมาได้ยากคือระบบการทำงานภายในของร่างกายเราซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาวะจิตใจ 

เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้เราอยากทำงานที่ท้าทายและทำให้ตัวเองได้เติบโตขึ้น เก่งขึ้นมากแค่ไหน แต่หากงานนั้นมันหนักเกินไปจนร่างกายรับไม่ไหว มันก็คงไม่คุ้มกับชีวิตในอนาคต 

อ้างอิง