2 Min

คำว่า ‘แม่’ ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ? เมื่อแฟนคลับไทยแทนตัวเองว่าแม่ และนักกีฬาจีนบอกว่า ‘ไม่ชอบแบบนี้’

2 Min
511 Views
15 Aug 2022

แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยคุ้นเคยกับการใช้คำว่าแม่ในบริบทที่หลากหลาย แต่พอแฟนคลับชาวไทยใช้คำนี้แทนตัวเองกับนักกีฬาวอลเลย์บอลชาวจีนก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที สื่อไทยและจีนจึงต้องนำเรื่องนี้มาขยายต่อเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดซ้ำรอย

ดราม่าเรื่องนี้เกี่ยวกับหลี่ หย่งเจิน’ (Li Yong Zhen) นักวอลเลย์บอลชายดาวรุ่งชาวจีน หนึ่งในนักกีฬาที่มาเข้าร่วมการแข่งขัน AVC Cup 2022 ซึ่งจัดที่จังหวัดนครปฐม จึงมีแฟนคลับชาวไทยตามไปชูป้ายเชียร์หลี่ในนัดที่ทีมจีนแข่งกับบาห์เรน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นไม่นานก็มีคลิปเหตุการณ์ตอนที่หลี่พูดกับแฟนคลับชาวไทยว่า “I don’t like this.” พร้อมกับชี้ไปที่โปสเตอร์ซึ่งเป็นคำอวยพรเขาในภาษาจีน จนเกิดคำถามตามมาว่าหลี่ไม่พอใจเรื่องอะไร ซึ่งสื่อจีน New QQ และเฟซบุ๊คเพจไทยคำจีนคำจึงอธิบายคล้ายๆ กันว่า การที่แฟนคลับชาวไทยเรียกแทนตัวเองว่าแม่ในป้ายเชียร์ เป็นสิ่งที่คนจีนส่วนใหญ่ไม่นิยมทำแบบนี้กัน

เพจไทยคำจีนคำ อธิบายว่าคำว่าแม่สำหรับชาวเอเชียนั้นยิ่งใหญ่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะสำหรับคนจีน

มาหมะ 妈妈 Māma (แล้วแต่การออกเสียง) นั้นแปลว่าแม่’ (ของตัวเอง) ไม่ใช่คำที่จะนำมาล้อเล่นได้

ชูป้ายแบบนั้น นักกีฬาจีนไม่มีทางเข้าใจเลยว่าคำว่าแม่ในเคสนี้ หมายถึงเหล่าแฟนคลับเรียกตัวเองเป็นแม่ เพราะบริบททางวัฒนธรรมมันต่างกัน

ในกรณีนี้ เชื่อว่าความผิดพลาดอาจเกิดจากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเว็บไซต์ช่วยแปลภาษา

ผู้ใช้เฟซบุ๊คชาวไทยที่ได้รับรู้ข้อมูลนี้ก็แสดงความเห็นแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่บอกว่าดีแล้วที่มีคนชี้แจงให้ฟัง จะได้ไม่ทำอะไรที่อาจกลายเป็นชนวนขัดแย้งในอนาคต แต่บางส่วนก็มองว่า การใช้คำว่าแม่ในภาษาไทย (และในวัฒนธรรม) มีทั้งใช้เพื่อแสดงความเคารพและแสดงความสนิทสนม และกรณีนี้แฟนคลับของหลี่ก็น่าจะแทนตัวเองในฐานะแม่ยกที่ชื่นชอบนักกีฬาคนเก่ง จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่รุนแรงอะไร

ขณะที่เว็บไซต์ New QQ ของจีน รายงานว่า สิ่งที่หลี่ทำกับแฟนคลับชาวไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกันว่าออกจะใจร้ายเกินไปหน่อย เพราะเป็นเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรม และคนที่ชูป้ายก็เป็นแฟนคลับที่มาเชียร์เขาทั้งนั้น แต่ก็มีคนบอกว่าหลี่ทำแบบนี้ถูกต้องแล้วโดยย้ำว่าถ้ามีคนที่เข้าใจผิดก็ควรอธิบายหรือแก้ไขให้เข้าใจตรงกัน

แต่อีกประเด็นที่ New QQ ชี้ว่าน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม คือการที่กองเชียร์ปฏิบัติต่อนักกีฬาเหมือนแฟนคลับปฏิบัติกับศิลปินไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบ โดยสื่อจีนมองว่า สองอาชีพนี้แตกต่างกันอย่างมาก เพราะนักกีฬาต้องพุ่งเป้าไปที่การแข่งขัน และการใส่ใจหรือเอาใจแฟนคลับก็ไม่ใช่หน้าที่ของนักกีฬา

อย่างไรก็ดี การรวมตัวเป็นแฟนคลับติดตามชื่นชมคนดังในแวดวงต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องของความคลั่งไคล้จนไร้เหตุผลเหมือนอย่างที่สังคมไทยยุคหนึ่งแปะฉลากคนกลุ่มนี้ เพราะกระแสความนิยมต่อวงไอดอลหรือเซเลบริตี้ในหลายประเทศทั่วโลกสามารถต่อยอดเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ประเด็นสำคัญอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม รวมถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม เช่น กรณีแฟนคลับวงบอยแบนด์เกาหลีสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ในยุคที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากเรียกตัวเองว่าพลเมืองโลกทำให้แนวคิดชาตินิยมถูกท้าทาย แต่บางครั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อ อาจเป็นชนวนเหตุให้คนผิดใจกันได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราพยายามเรียนรู้กันใหม่ว่าสิ่งที่คุ้นชินเป็นปกติในประเทศหนึ่ง อาจไม่ใช่เรื่องปกติทั่วไปในประเทศอื่น ก็คงไม่กลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โตอะไรนัก

อ้างอิง