‘ไฟป่าไซบีเรีย’ ศึกใหญ่ที่รัสเซียไม่ได้เตรียมตั้งรับ

2 Min
1165 Views
05 May 2022

ในขณะที่รัสเซียทยอยส่งทหารไปบุกยูเครนอย่างสุดกำลัง อีกด้านหนึ่งไฟป่าก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้น ณ ภูมิภาคไซบีเรียของประเทศอีกครั้ง

ตามรายงานของกรีนพีซรัสเซียระบุว่า ไฟป่าในปีนี้ไหม้กินเนื้อที่เป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศหลายคนออกมาเรียกร้องให้รัสเซียหันมาสนใจบ้านของตัวเองก่อน มิเช่นนั้นเหตุการณ์อาจบานปลายกลายเป็นมหันตภัยรุนแรงซ้ำรอยอดีตอีกหน

หากว่ากันตามบทเรียนในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2020-2021) ไฟป่าไซบีเรีย ถือเป็นเพลิงผลาญป่าครั้งใหญ่ที่สุด เนื่องจากไฟมีอาณาเขตทำลายกว้างเกิน 60,000 ตารางไมล์ มากกว่าไฟป่าที่ไหนๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 450 ล้านตัน และ 505 ล้านตัน ตามลำดับ

อีกทั้งไฟยังลุกลามรวดเร็วจากสภาพความแห้งแล้งของพื้นที่ และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ปีที่แล้วภูมิภาคนี้อุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 100 ปี)

ขณะเดียวกัน ไฟในภูมิภาคไซบีเรียไม่ได้เกิดจากการลักลอบเผาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากไฟซอมบี้หรือไฟที่ยังเผาไหม้เศษซากอินทรียวัตถุอยู่ใต้ดิน เมื่อสภาพอากาศเริ่มแล้ง และมีเชื้อเพลิงเพิ่มเติมในฤดูใบไม้ผลิ ซอมบี้ใต้ดินก็พร้อมผุดขึ้นมาอาละวาดต่อได้ทันที

เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียต้องใช้เจ้าหน้าที่มากถึง 8,600 คนจึงสามารถควบคุมไฟได้สำเร็จโดยเฉพาะกำลังเสริมจากทหารที่นำยุทโธปกรณ์ต่างๆมาใช้เช่นเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินทำหน้าที่ขนน้ำมาช่วยดับไฟและตรวจสอบจุดต้นเพลิงแห่งใหม่ๆ

พอปีนี้กำลังทหารแทบจะทั้งหมดถูกส่งออกไปทำสงคราม จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า แล้วใครจะช่วยประชาชนดับไฟ?

แน่นอนว่าพนักงานดับเพลิงของรัสเซียก็มีแต่ด้วยจำนวนและอุปกรณ์ที่มีอยู่มันเริ่มไม่เพียงพอสำหรับรับมือไฟป่าที่เกิดในช่วงที่ประเทศมีสภาพอากาศเรรวนสุดขั้วอย่างปัจจุบัน

นอกจากนี้ ความสำเร็จในการดับไฟป่า 2 ปีซ้อน ยังมาจากการประสานงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในรัสเซียและจากชาติยุโรป ช่วยกันตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมชี้จุดเพลิงไหม้ แต่เมื่อหลายประเทศได้คว่ำบาตรรัสเซียไปแล้ว ความช่วยเหลือในส่วนนี้ก็ได้หายตามไปด้วย

ยังไม่นับเรื่องที่กว่ารัสเซียจะกระดิกตัวออกไปดับไฟอย่างจริงจัง ไฟก็ลามใหญ่จนทำงานได้ยากไปแล้ว ซึ่งก็แอบมีทฤษฎีสมคบคิดว่าจริงๆ แล้ว ทางการเป็นคนลักลอบวางเพลิงด้วยตัวเอง เพื่อปกปิดร่องรอยการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่

แต่ไม่ว่าสาเหตุการเกิดไฟหรือความล่าช้ามาจากอะไร หากปล่อยให้ไฟป่าไซบีเรียยังคงลุกลามต่อไป อนาคตของโลกคงหนีไม่พ้นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทะลุขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียสเป็นแน่

ปัญหาไฟป่าไซบีเรียไม่ได้กระทบแค่กับคนรัสเซีย ก่อมลภาวะ PM2.5 หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เท่านั้นแต่ยังช่วยเร่งให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่กระทบส่วนอื่นๆอย่างรวดเร็ว

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เขม่าควันจากไฟป่าได้ปลิวไปตกถึงภูมิภาคอาร์กติก จนทำให้พื้นน้ำแข็งสีขาวกลายเป็นสีดำ เพิ่มความสามารถดูดซับความร้อนของดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำแข็งอาร์กติกละลายเร็วยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันภูมิภาคไซบีเรียเองก็อุดมด้วยชั้นดินเยือกแข็งที่แช่แข็งก๊าซคาร์บอนฯ เอาไว้ในรูปของสสารอินทรีย์ เมื่อเกิดความร้อนหรือถูกไฟเผาไหม้อย่างรุนแรง ก็จะปล่อยคาร์บอนฯ ที่กักเก็บไว้ เพิ่มออกไปอีกมหาศาล

อ้างอิง