รัสเซีย (ยัง) โหดสัสอยู่หรือเปล่า? By The Wild Chronicles

7 Min
3273 Views
09 May 2022

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครนนั้น กองทัพรัสเซียที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางทหารระดับโลก มีอาวุธอันทรงอานุภาพ และเคยชนะมาหลายสมรภูมิด้วยวิธีโหดสัส! กลับไม่สามารถพิชิตกองทัพยูเครนที่มีขนาดเล็กและอาวุธส่วนมากล้าสมัยกว่าได้โดยเร็ว จนเกิดคำถามว่า “รัสเซียนั้นยังโหดสัสเหมือนที่ทุกฝ่ายคาดคิดหรือไม่?” ในบทความนี้เราจะลองมาวิเคราะห์กันดูครับ

รัสเซียเลือกใช้ยุทธวิธีผิด?

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2022 แบ่งเป็น 3 สมรภูมิ คือ 1. สมรภูมิด้านเหนือ มีเมืองหลวงเคียฟเป็นสนามรบหลัก 2. สมรภูมิด้านตะวันออกมีดินแดนดอนบาสกับเมืองคาร์คีฟเป็นสนามรบหลัก 3. สมรภูมิด้านใต้ มีเมืองเคอร์ซอนและมารีอูปอลเป็นสนามรบหลัก 

ในสมรภูมิด้านเหนือ รัสเซียเลือกใช้ยุทธวิธีที่มีความเสี่ยงสูงตั้งแต่เริ่มสงครามอย่างการส่งหน่วยทหารพลร่มไปทำการบ่อนทำลายแนวหลังศัตรู หรือใช้หน่วยรบที่มีการจัดเป็นรูปแบบของกองพันปฏิบัติการทางยุทธวิธี (ฺBattalion Tactical Group) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ทั้งหมดนี้เพื่อให้สามารถพิชิตศัตรูโดยเร็ว เท่ากับเป็นการทิ้งไพ่เด็ดลงไปตั้งแต่เริ่ม เพราะเชื่อมั่นว่ากองทัพยูเครนน่าจะไม่สามารถต้านทานได้ 

แผนการนี้ค่อนข้างได้ผล วัดจากการตีเขตเชอร์โนบิลได้อย่างรวดเร็ว แต่ยูเครนก็ต้านทานอย่างเหนียวแน่น ทำให้รัสเซียไม่สามารถปิดเกมได้เช่นกัน 

เมื่อพลร่มทำการบ่อนทำลายได้ไม่มากพอ กองพันปฏิบัติการฯ ก็ถูกซุ่มโจมตีและตัดสายส่งกำลังบำรุง จึงทำให้การรุกหยุดชะงัก

ครั้นเมื่อฝ่ายยูเครนสามารถตั้งตัวได้ พวกเขาก็เลือกทำลายเป้าหมายที่จัดการง่าย เช่น ขบวนรถบรรทุกเชื้อเพลิง และขบวนรถลาดตระเวน เมื่อขาดเชื้อเพลิง การเคลื่อนทัพก็ยิ่งติดขัด ทำให้รถถังรัสเซียจำนวนมากขาดน้ำมัน ต้องรอการสนับสนุนจากแนวหลัง

ในทางกลับกัน รัสเซียกลับประสบความสำเร็จในสมรภูมิด้านใต้มากกว่า แม้จะใช้อาวุธที่เก่ากว่าสมรภูมิด้านเหนือ แสดงให้เห็นว่าการทำสงครามอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับยุทโธปกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบกับการข่าวและยุทธวิธีที่เหมาะสมด้วย 

ผลต่อเนื่องจากความผิดพลาดช่วงต้น

เว็บไซต์ oryxspioenkop.com ซึ่งเก็บข้อมูลความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายในยูเครนจากภาพถ่ายต่างๆ ระบุว่า รัสเซียสูญเสียยุทโธปกรณ์หนักกว่า 2,623 รายการ แบ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่ถูกทำลาย 1,364 รายการ ถูกยึด 984 รายการ ถูกทิ้งเอาไว้ 237 รายการ และได้รับความเสียหาย 38 รายการ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงจนน่าตกใจ โดยเฉพาะรถถังหลักที่สูญเสียถึงกว่า 452 คัน 

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ โดยปกติอาวุธที่ถูกยึดได้มักจะน้อยกว่าที่ถูกทำลายเยอะมาก เพราะฝ่ายแพ้มักจะต้องเสียหายอย่างหนักก่อน ถึงค่อยปล่อยให้อาวุธถูกยึด แต่รายการของยุทโธปกรณ์รัสเซียที่ถูกยูเครนยึดนั้นกลับมีไม่ต่างกันขนาดนั้น 

…เชื่อว่าเป็นเพราะปัญหาด้านการส่งกำลังบำรุงที่เกิดจากรัสเซียประเมินยูเครนผิดแต่แรก

เรื่องนี้มีประเด็นแวดล้อมคือ:

  1. ความตั้งใจปิดเกมเร็วโดยเฉพาะในสมรภูมิด้านเหนือ ทำให้ฝ่ายรัสเซียเลือกขับผ่านหรือขับข้ามเมืองหลายเมืองเพื่อลดโอกาสปะทะ เท่ากับเปิดโอกาสให้ทหารยูเครนสามารถขยายจุดโจมตีหน่วยสนับสนุนที่ไม่ได้รับการคุ้มกันอย่างแน่นหนา
  2. สภาพภูมิประเทศของยูเครน ณ ช่วงที่บุกนั้นเป็นโคลนเลนมาก ทำให้ยานพาหนะล้อยางเคลื่อนตัวได้อย่างเชื่องช้า มีปัญหารถติดหล่ม 
  3. ประเด็นต่อมาคือความพร้อมของบุคลากรหน้างาน ซึ่งไม่ได้ถูกเตรียมใจให้มาโจมตียูเครนที่ถือเป็น ‘บ้านพี่เมืองน้อง’ เท่าที่ควร ทำให้ขวัญของทหารรัสเซียหลายหน่วยถดถอย (เทียบกับทหารยูเครนที่ขวัญดีเพราะต้องสู้เพื่อปกป้องชาติ) จนเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน โดนซุ่มโจมตี กำลังบำรุงมาช้า รถติดหล่ม รถน้ำมันหมด ทหารรัสเซียจำนวนมากจึงเลือกล่าถอยและทิ้งยานพาหนะไว้เพราะไม่อยากตกเป็นเป้า กลายเป็นภาพขบวนยานเกราะรัสเซียถูกทำลายตามรายทาง

เรื่องนี้เกิดบ่อยในสมรภูมิทางภาคเหนือที่ยูเครนได้เปรียบทางด้านพื้นที่และการข่าว ขณะที่สมรภูมิด้านใต้ ด้านตะวันออกมีอัตราการทิ้งรถเพื่อเอาตัวรอดที่น้อยกว่า 

กองทัพอากาศรัสเซียมีปัญหาด้านการครองน่านฟ้า

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของรัสเซียคือ กองทัพอากาศไม่สามารถครองน่านฟ้าอย่างสมบูรณ์ทั้งที่มีพลานุภาพเหนือกว่าฝ่ายยูเครนมาก เนื่องจากมีปัญหาการสื่อสารระหว่างนักบินและทหารภาคพื้นดิน อนึ่ง กองทัพรัสเซียได้วางลำดับความสำคัญให้กำลังที่อยู่หน้างานคือ กองทัพบก เป็นผู้กำหนดเป้าหมาย แล้วส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับกองทัพอากาศมาโจมตี ทำให้นักบินของรัสเซียต้องใช้ข้อมูลที่ได้รับมาอย่างจำกัดมาประเมินเอง (จะต่างกับฝ่ายตะวันตกที่มักเน้นการสื่อสาร 2 ทาง)

ปัญหาเรื่องนี้ปรากฏตั้งแต่ช่วงที่กองทัพรัสเซียบุกจอร์เจียในปี 2008 ทว่าหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของจอร์เจียนั้นล้าสมัยและมีจำนวนจำกัด ทำให้ฝ่ายรัสเซียสามารถครองน่านฟ้าได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ตลอดสงคราม จนเอาชนะสงครามอย่างเด็ดขาด

จรวดคาลิเบอร์

ขณะที่สนามรบยูเครนนั้น มีความแตกต่างกับกรณีจอร์เจียอย่างชัดเจน เพราะแม้ว่ารัสเซียจะพยายามทำลายฐานเรดาร์ภาคพื้นดินตั้งแต่วันแรกของสงคราม แต่ทางยูเครนก็ได้รับการสนับสนุนด้านการข่าวจากอากาศยานลาดตระเวน อาทิ E-3 Sentry, RC-135, และ Global Hawk ของนาโต (NATO) ที่ทำการบินอยู่ในดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ยูเครนคล้ายมีดวงตาบนท้องฟ้าที่รัสเซียไม่สามารถทำลายได้ นอกจากนี้ยูเครนยังมีระบบต่อต้านอากาศยานที่หลากหลายและมีจำนวนมากกว่าจอร์เจียหลายเท่า 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในช่วงแรกๆ ของสงครามนั้น รัสเซียมักใช้อาวุธนำวิถีที่ร้ายกาจ เช่น จรวดร่อน และจรวดไฮเปอร์โซนิค (Hypersonic) มาโจมตีอย่างได้ผล มีผลงานเช่นการทำลายคลังอาวุธของยูเครนจนเสียหายยับเยิน

อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามผ่านไป กองทัพอากาศรัสเซียกลับเน้นใช้อาวุธไม่นำวิถี ทำให้อากาศยานประสิทธิภาพสูงทั้ง Su-24 Fencer, Su-25 Frogfoot หรือแม้แต่สุดยอดเครื่องบินโจมตี Su-34 Fullback และ Su-30 Flanker ต้องบินลงมาโจมตีในเพดานต่ำเพื่อให้ยิงถูกเป้าหมายง่าย ทำให้อากาศยานเหล่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลายด้วยจรวดต่อต้านอากาศยานจำนวนมหาศาลที่ยูเครนได้รับมอบจากพันธมิตรตะวันตก 

เครื่องบิน Su-34

ผลคือมีอากาศยานรัสเซียถูกทำลายเป็นระยะ ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดรัสเซียจึงไม่ยอมใช้อาวุธนำวิถีเหมือนช่วงต้นสงคราม แต่กลับเอาอากาศยานชั้นดีติดอาวุธที่ต้องทิ้งในเพดานบินต่ำ และเสี่ยงต่อการถูกทำลาย?

เรายังไม่ทราบว่าสิ่งนี้เป็นเพราะอะไร บางฝ่ายอ้างว่าอาจเป็นการเก็บของดีไว้สำหรับการรบข้างหน้า บางฝ่ายบอกว่ารัสเซียมีข้อจำกัดในการทดแทนอาวุธเหล่านั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรเรื่องเหล่านี้ทำให้รัสเซียไม่สามารถครองน่านฟ้ายูเครนได้อย่างสมบูรณ์

กองทัพยูเครนมีความโหดสัสอยู่บ้าง

ยูเครนมีกำลังพลกว่า 200,000 นาย ซึ่งทำการสู้รบกับฝ่ายกบฏที่รัสเซียหนุนหลังมาตั้งแต่ปี 2014 รวมถึงได้รับการสนับสนุนอาวุธที่เหมาะสม อาทิ จรวดต่อต้านรถถัง Javelin และ NLAW ทั้งยังได้รับการฝึกตามมาตรฐานของนาโต

กองทัพทหารยูเครน พร้อมยานเกราะ

ศึกยูเครนนั้นต่างจากสมรภูมิที่รัสเซียเคยรบชนะก่อนหน้านี้ เช่น สมรภูมิเชชเนีย-ซีเรีย ซึ่งศัตรูส่วนใหญ่มีอาวุธล้าสมัยกว่ารัสเซียมาก หรือสมรภูมิจอร์เจียที่ประเทศจอร์เจียมีกองทัพประจำการขนาดเล็ก และไม่มีศักยภาพจะต้านรัสเซียได้

ทางการรัสเซียยังประเมินผิด เพราะประชาชนยูเครนไม่ได้ลุกฮือสนับสนุนรัสเซียอย่างที่คาด (ก่อนสงครามมีประชาชนยูเครนโปรรัสเซียไม่น้อย) ตรงกันข้าม ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนกองทัพของชาติ ทำให้ยูเครนไม่ใช่ศัตรูหมูๆ ที่รัสเซียสามารถเคี้ยวได้ภายในไม่กี่วัน

จริงๆ แล้ว รัสเซียยังโหดสัสอยู่ไหม

หลังทำการรบได้ 1 เดือน กระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้ออกมาประกาศความสำเร็จของแผนปฏิบัติการเฟสแรก โดยบอกว่าเฟสนี้รัสเซียได้ทำลายแสนยานุภาพทางทหารของยูเครนสำเร็จแล้ว จึงออกคำสั่งให้กองกำลังที่ต่อสู้ในสมรภูมิด้านเหนือถอนไปยังเบลารุสเพื่อปรับกำลังใหม่

การถอยครั้งนี้ทำให้ดูเหมือนยูเครนชนะในยกหนึ่ง เพราะสามารถป้องกันด้านเหนือสำเร็จ อย่างไรก็ตามนักเคราะห์จำนวนมากต่างลงความเห็นไปในทิศทางว่ารัสเซียยังมีเขี้ยวเล็บอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงแผนการในเฟส 2 ที่รัสเซียจะหันมาเน้นแนวรบด้านตะวันออก มีประเด็นแวดล้อมดังนี้:

  1. ถึงรัสเซียจะใช้ยุทธวิธีผิดพลาด แต่อย่าลืมว่าหลักๆ นั้นก็ผิดพลาดอยู่ที่สมรภูมิด้านเหนือ แต่สมรภูมิด้านตะวันออกและใต้นั้นรัสเซียทำการรบได้ดีกว่ามาก ตัวอย่างความสำเร็จในสมรภูมิด้านนี้คือ รัสเซียสามารถตีเมืองเคอร์ซอนซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางใต้แตก นอกจากนั้นยังสามารถทำลายโรงกลั่นน้ำมัน และคลังน้ำมันสำคัญของยูเครน ทำให้กองทัพยูเครนในสมรภูมิด้านใต้ต้องสูญเสียมาก จนยากจะเคลื่อนย้ายหน่วยทหารขนาดใหญ่
  2. รัสเซียยังมีพันธมิตรอยู่มาก เช่นที่มีการสั่งให้ทหารในทรานส์นิสเตรีย (เป็นดินแดนที่แยกตัวจากมอลโดวาและสวามิภักดิ์รัสเซียอยู่) เตรียมความพร้อม ซึ่งนี่อาจจะเป็นสงครามจิตวิทยาเพื่อทำให้กองทัพยูเครนพะวงหน้าพะวงหลัง เพราะขณะตั้งรับรัสเซียที่บุกมาทางใต้/ตะวันออก ก็จะต้องระวังทัพทรานส์นิสเตรียที่อยู่ทางตะวันตกด้วย 
  3. ในด้านน่านน้ำ รัสเซียมีกองเรือทะเลดำที่สามารถครองน่านน้ำอย่างสมบูรณ์ ซึ่งกองทัพรัสเซียสามารถใช้เรือรบเป็นฐานปล่อยจรวดร่อนนำวิถีเพื่อโจมตีเป้าหมายสำคัญ หรือใช้ส่งกำลังบำรุงและยกทัพขึ้นตามเมืองชายฝั่งก็ได้
  4. รัสเซียยังมีอุตสาหกรรมอาวุธอันแข็งแกร่งซึ่งสามารถผลิตมาทดแทนอาวุธที่เสียไปเสมอ โดยที่ยูเครนไม่มีศักยภาพในการทำลายอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ ผิดกับอุตสาหกรรมฝั่งยูเครนที่มีแต่จะถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ เพราะรบในแดนตน
  5. การถอนกำลังรบเปลี่ยนเป็นเฟส 2 อาจเป็นการขุดหลุมพรางเพื่อล่อให้กองทัพยูเครนที่อยู่ภาคเหนือต้องเปลี่ยนจากการซุ่มโจมตีเป็นการรุก เพื่อเข้าแก้ไขสมรภูมิตะวันออกและใต้ ซึ่งรัสเซียย่อมฉวยโอกาสนั้นกำจัดยูเครนด้วยพลานุภาพที่เหนือกว่า

จากข้อมูลที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า แม้รัสเซียผิดพลาดในการเผด็จศึกระยะสั้น แต่ก็ทำผลงานได้ไม่แย่เกินไป และคงยังมีเขี้ยวเล็บซ่อนอยู่อีกมาก

แม้เราอาจพูดได้ว่า รัสเซียยังห่างไกลจากคำว่าชัยชนะ แต่แน่นอนว่าพวกเขาก็ยังห่างไกลจากความพ่ายแพ้ในระดับที่ต้องยอมถอนตัวออกจากยูเครนเช่นกัน 

…ต้องยอมรับว่า ยูเครนเป็นคู่ต่อสู้ที่มีศักยภาพมาก แต่รัสเซียก็พร้อมจะเล่นเดิมพันที่สูงขึ้นด้วย

…การคว่ำบาตรจากพันธมิตรตะวันตกจะทำให้รัสเซียอ่อนแอลง แต่จะไม่ได้มีผลรวดเร็วทันใจเหมือนที่กองเชียร์ยูเครนหลายคนอยากให้เป็น

…การศึกที่ผ่านมาทำให้ชื่อเสียงความโหดสัสของรัสเซียเสื่อมลงไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่ถูกกู้คืนมาอีก เพราะเกมหลังจากนี้สามารถดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้นอีกมาก

อ้างอิง: