ในเมื่อความเศร้าเป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงมาตลอด ทำไมบางครั้งคนเราจึงโปรดปราน และเสพติดการฟังเพลงเศร้ากันนะ?
การที่เพลงเศร้าเข้าไปอยู่ในเพลย์ลิสต์ประจำดวงใจของใครหลายคน อาจเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกกันว่า “Sadness Paradox” หรือ “ความย้อนแย้งในความเศร้า” นั่นคือ ปรากฏการณ์ที่คนเรารู้สึกพึงพอใจ และเพลิดเพลินไปกับการฟังเพลงเศร้า ถึงแม้อารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเพลงจะชวนให้เราจมดิ่งเพียงใดก็ตาม แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าปรากฏการณ์อันน่าฉงนนี้มีกลไกการทำงานอย่างไร
ทั้งนี้งานวิจัยเกี่ยวกับ Sadness Paradox ส่วนใหญ่เห็นพ้องตรงกันว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้คนเรารู้สึกดีเวลาฟังเพลงเศร้า แบ่งออกได้เป็น 6 ข้อหลักๆ ดังนี้
1. ความทรงจำที่หวนคืน
เวลาฟังเพลงเศร้า เรามักถูกดูดเข้าไปในเนื้อเพลงโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นเอง ความทรงจำเก่าๆ ก็จะค่อยๆ ไหลย้อนเข้ามาในห้วงความคิด อาจเป็นความทรงจำสมัยเด็ก หรือตอนมีแฟนครั้งแรก ความทรงจำที่ชวนให้คิดถึงจะทำให้จิตใจของเราพองฟูขึ้น การฟังเพลงเศร้าจึงเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังอดีตอันหอมหวาน ขณะเดียวกันก็รับรู้ถึงความเศร้าว่ามันไม่อาจกลายเป็นจริงได้อีกต่อไป
2. การระบายอารมณ์
เพลงเศร้าสามารถดึงให้เราเข้าถึงอารมณ์ร่วมไปกับมันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์แบบเดียวกันมาก่อน แม้จะไม่เคยอกหัก เราก็ยังอินกับเพลงอกหักจนน้ำตาคลอได้ เพราะการเชื่อมความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับเสียงเพลง ช่วยให้เราได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบในใจออกไป และบางครั้งเราก็ได้ร้องไห้ออกมา จึงทำให้เรารู้สึกโล่ง สบายใจขึ้น
3. ฮอร์โมนโปรแลคติน
การฟังเพลงเศร้าช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งมีหน้าที่ระงับความเศร้า และเกี่ยวข้องกับการร้องไห้ โดยขณะฟังเพลงเศร้า สมองจะหลงเชื่อว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับความเศร้านั้นอยู่ จึงปกป้องเราโดยการหลั่งโปรแลคตินออกมา แต่เพราะความเศร้าที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องจริง ฮอร์โมนจึงไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับอะไร เหลือทิ้งไว้เพียงความสงบ ผ่อนคลายใจให้เราได้สัมผัสอย่างเต็มที่
4. ความเห็นอกเห็นใจ
ส่วนใหญ่คนที่ชอบฟังเพลงเศร้ามักมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น โดยพวกเขาจะรับรู้ และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดี จึงสามารถเข้าถึงอารมณ์เศร้าไปพร้อมกับสุนทรียภาพของเพลงได้อย่างลึกซึ้ง และเพลงเศร้ามักบอกเล่าถึงความสิ้นหวัง หรือความเสียใจ การฟังเพลงเศร้าจึงพลางทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ตัวละครในบทเพลงต้องเผชิญไปด้วย จนสามารถกระตุ้นจิตใจให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นมากขึ้น
5. การควบคุมอารมณ์
เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์แย่ๆ จนรู้สึกหม่นหมอง เพลงเศร้าช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ที่สับสนของตัวเองได้ โดยทำให้ใจสงบลงจากการปล่อยวางความหนักหน่วง แล้วแทนที่ด้วยความซาบซึ้งในเสียงเพลง นอกจากนี้ เพลงเศร้าบางเพลงอาจเป็นเหมือนตัวแทนความในใจที่เก็บซ่อนไว้ลึกๆ ไม่อาจบอกใคร การฟังเพลงจึงเหมือนเป็นการสะท้อนเรื่องราวภายในใจให้ตัวเราตระหนักว่า แท้จริงเรากำลังรู้สึกแบบนี้ เพื่อหาทางควบคุมความรู้สึกนั้นให้ได้
6. เพื่อนในจินตนาการ
บางครั้งเวลารู้สึกเศร้า เราอาจเลือกฟังเพลงเศร้าแทนเพลงที่ให้อารมณ์สดใส ไม่ใช่เพราะต้องการซ้ำเติมตัวเอง แต่เพราะเพลงเศร้าเป็นเหมือนเพื่อนที่ปลอบประโลมเรา โดยเพลงที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับความรู้สึกที่เรากำลังเผชิญอยู่ จะช่วยให้รู้สึกเหมือนมีเพื่อนอยู่เคียงข้างเรา และพร้อมรับมือกับความเศร้าเสียใจไปด้วยกัน
อย่างไรก็ดีเพลงทุกประเภทมีเสน่ห์ในแบบของมัน และเสน่ห์ของเพลงเศร้าก็ไม่ได้อยู่ที่ความเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงบทบาทต่อหัวใจของเราอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องย้อนความทรงจำ พื้นที่ระบายอารมณ์ ตัวแทนความรู้สึก หรือเพื่อนผู้ปลอบโยนที่ดี
และปัจจัยเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ทุกสิ่งที่ทำให้คนเราตกหลุมรักเพลงเศร้า เพราะมีเพียง ‘ผู้ฟัง’ แต่ละคนเท่านั้น ที่สามารถให้คำตอบแก่ตัวเองได้ว่า นิยามที่แท้จริงในการฟังเพลงเศร้าของตัวเองคืออะไร
อ้างอิง
- Psychology Today. 6 Reasons Why We Enjoy Listening to Sad Music. psychologytoday.com
- The Swaddle. Why Some People Love Sad Music — And Others Don’t. theswaddle.com