ทำไม Barbie ต้องสีชมพู? แล้วสีชมพูถูกผูกโยงกับ ‘ความเป็นหญิง’ จริงหรือ?
ความจริงแล้ว Barbie ไม่ได้ใช้สีชมพูกับเครื่องแต่งกายหรือแม้แต่กับแพ็กเกจมาตั้งแต่แรก โดยตุ๊กตาตัวแรกที่วางขายในเดือนมีนาคมของปี ค.ศ. 1959
หลังเข้าโรงฉายมาได้ 2 สัปดาห์กว่าๆ ภาพยนตร์ ‘Barbie’ ก็ได้สร้างตำนานบทใหม่อีกครั้ง จากการทำรายได้ผ่านหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์ จากการเข้าฉายทั่วโลกได้สำเร็จ และยังทำให้เกิดกระแสปากต่อปากจนทำให้ผู้ชมไปอุดหนุนโรงภาพยนตร์กันเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดของเล่นของสะสมที่เกี่ยวข้องก็คึกคักขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การเข้าฉายของภาพยนตร์ Barbie ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ Barbiecore หรือการแต่งตัวโดยใช้สีชมพูสดสว่างเป็นหลักตามมาด้วย ว่าแต่ทำไมตุ๊กตา Barbie ถึงอยู่คู่กับสีชมพูกันนะ? เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเด็กผู้หญิงหรือเปล่า?
ความจริงแล้ว Barbie ไม่ได้ใช้สีชมพูกับเครื่องแต่งกายหรือแม้แต่กับแพ็กเกจมาตั้งแต่แรก โดยตุ๊กตาตัวแรกที่วางขายในเดือนมีนาคมของปี ค.ศ. 1959 สวมใส่ชุดว่ายน้ำสีขาวสลับดำ แต่เพิ่งมาเริ่มใช้สีชมพูเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดเมื่อทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา เพื่อเสริมภาพลักษณ์ความเป็นของเล่นของเด็กผู้หญิง โดยทางบริษัทผู้ผลิตอย่าง Mattel เอง ก็ให้ความเห็นว่าเฉดสี Barbie Pink นี้ เป็นสัญลักษณ์ของการ Empowerment นำเสนอพลังและศักยภาพของเด็กผู้หญิงได้ดี
แต่ทุกคนทราบกันหรือไม่ว่า ความจริงแล้วสีชมพูไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเพศใดเพศหนึ่งด้วยซ้ำ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า สีชมพูถูกทำให้แพร่หลายครั้งแรก โดยมาดาม เดอ ปงปาดูร์ สมาชิกราชสำนักฝรั่งเศสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งสมัยนั้นการย้อมสีชมพูไม่ได้ทำได้โดยง่าย และถูกมองเป็นเครื่องประดับของชนชั้นสูง แต่เมื่อสีชมพูถูกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มันก็ไม่ได้เป็นสีที่จำกัดไว้เพื่อชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งอีกต่อไป
ในยุคแรกที่สีชมพูกลายมาเป็นสีเครื่องแต่งกายทั่วไปในสหรัฐอเมริกา มันเคยเป็นสีกลางๆ ที่ทั้งผู้ชายผู้หญิงเลือกสวมใส่อย่างไม่แบ่งแยก และหากจะมีเพศใดเพศหนึ่งเลือกสวมใส่มากกว่า ก็มักจะเป็นผู้ชายเสียด้วยซ้ำ เพราะสีชมพูนั้นโดดเด่น ดึงดูดความสนใจ และเปี่ยมด้วยพลังอำนาจ ขณะเดียวกัน สีฟ้ามักถูกสวมใส่โดยผู้หญิง เพราะเป็นสีโทนเย็น ดูแล้วสบายตา และสำหรับชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแล้ว สีฟ้ายังเป็นสีเครื่องแต่งกายของพระนางมารีย์พรหมจารีด้วย
แล้วสีชมพูสีฟ้านี่มา ‘สลับหน้าที่’ กันตอนไหนกันแน่นะ? ก็คงระบุได้คร่าวๆ ว่าเป็นช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ราวทศวรรษที่ 1930 ถึง 1940 ซึ่งผู้ชายหันมาสวมใส่เฉดสีเข้มที่ใกล้เคียงกับเครื่องแบบทหารกันมากขึ้น ต่อเนื่องมาจนยุคที่ผู้คนเริ่มตรวจเพศลูกในท้องได้ล่วงหน้า ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา และห้างร้านต่างๆ ก็ต้องการปล่อยแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายของเหล่าว่าที่คุณพ่อคุณแม่ จึงเกิดเป็นแนวคิดแนวปฏิบัติที่ว่า สีชมพูสำหรับเด็กผู้หญิง และสีฟ้าสำหรับเด็กผู้ชาย
การกำหนดสีแบบนี้ทำให้บางครัวเรือนต้องเลือกซื้อของสิ่งเดียวกันในหลากหลายสี หรือเลือกที่จะซื้อใหม่ แทนการส่งต่อของใช้จากลูกคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ซึ่งการตลาดเช่นนี้ก็ดูจะได้ผล และกลายเป็นภาพจำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเลยด้วยซ้ำ สังเกตได้จากหลากหลายแคมเปญเพื่อผู้หญิงที่เลือกใช้สีชมพูเป็นส่วนประกอบ หรือแม้แต่ใช้คำว่า ‘Pink’ ในชื่อ เช่น โครงการ Pink Parking ในเกาหลี หรือ Lady Parking ของไทยเอง ที่ใช้สีชมพูเป็นพื้นหลัง
แต่การมาถึงของภาพยนตร์ Barbie ก็ช่วยปรับสถานะ ‘ผูกขาด’ (ที่ไม่ควรมีอยู่แต่แรก) นั้นลงได้บ้าง จากการที่แฟนๆ ภาพยนตร์ได้เห็นเหล่านักแสดงเดินสายโปรโมตในเสื้อผ้าสีชมพูทั้งชายและหญิง ตอกย้ำว่าสีไม่ใช่สัญลักษณ์ของเพศใดเพศหนึ่ง และความจริงแล้ว สีหนึ่งๆ ก็ควรจะมีไว้สำหรับทุกคนด้วย
อ้างอิง:
https://www.popsci.com/science/pink-girl-color-barbie/
https://apnews.com/article/barbie-pink-culture-4b9388235a255d3d29d2d00cc1629bef
https://www.history.com/news/barbie-through-the-ages