5 Min

ทำไม ‘ฝรั่ง’ ถึงเลี้ยงแมวมากกว่าหมา? เหตุผลที่มากกว่ารสนิยม

5 Min
2829 Views
21 Apr 2022

คิดว่าเลี้ยงแมวหรือเลี้ยงหมาดีกว่ากันครับ? คำตอบน่าจะขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลเป็นสำคัญนะครับ หากจะมานั่งเถียงกันก็คงจะเป็นข้อถกเถียงที่ใหญ่โตไม่ได้ข้อยุติ ไม่ได้ต่างจากการเถียงกันว่าแมนยูฯ หรือลิเวอร์พูลอะไรเป็นทีมที่ดีกว่ากัน ยัน Oasis หรือ Blur เป็นวงดนตรีที่ดีกว่ากัน หรือกระทั่งเถียงกันว่าเล่นเกมบน PC หรือบนคอนโซลดีกว่ากัน

คำถามพวกนี้เถียงกันไปก็คงไม่จบ แต่ในกรณีของการเลี้ยงหมาแมวถ้าดูจากสถิติแล้ว ข้อเท็จจริงที่เราเห็นก็คือ ในโลกตะวันตก (กล่าวคือยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา) ที่เขามีการเก็บสถิติสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นระบบ ประชากรของแมวนั้นจะมีมากกว่าหมานิดหน่อยในแทบทุกประเทศเลย แต่ในเอเชีย ลาตินอเมริกา และที่อื่นๆ ในโลก สิ่งที่เราพบก็คือ ประชากรของหมาจะมากกว่าแมวเยอะเลย

ลองนึกภาพง่ายๆ ก็ได้ครับ ท่านผู้อ่านคงพอเคยเห็นผู้หญิงแก่ๆ คนตะวันตกที่บ้านเลี้ยงแมวเป็นสิบๆ ตัว แต่ในทำนองเดียวกัน เราจะแทบไม่เห็นครอบครัวฝรั่งเลี้ยงหมากันเป็นฝูงๆ ในทำนองเดียวกันเลย (ซึ่งภาพคนเลี้ยงหมาแบบเป็นฝูงๆ นี่เราก็จะเห็นในบ้านเรามากกว่า …แต่ก็อาจเป็นกรณีบ้านสุนัขจรจัดนะครับ

เอ แบบนี้แปลว่า ‘ฝรั่ง’ นั้นโดยรวมๆ เป็นคนรักแมวมากกว่ารักหมาหรือเปล่า?

จริงๆ คำตอบอาจจะไม่ง่ายแบบนั้นครับ

แน่นอนครับว่าในสังคมตะวันตก สถานะของสัตว์เลี้ยงนั้นถือว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวจริงๆ ไม่ว่าจะเลี้ยงหมาหรือแมวโดยรวมๆ ก็มักจะเลี้ยงเป็นอย่างดีเหมือนลูก ซื้ออาหารดีๆ พรีเมียมให้กัน มีอะไรก็พาไปหาหมอ และจริงๆ สังคมฝรั่งก็นิยมซื้อประกันสุขภาพให้สัตว์เลี้ยงกันด้วยซ้ำ และตัวเลขก็ไม่ใช่น้อยๆ นะครับ ในยุโรป หมาแมวที่มีประกันสุขภาพนี่น่าจะราวๆ ครึ่งหนึ่งเลยของที่คนเลี้ยงๆ กัน ซึ่งจริงๆ พวกสื่อสายธุรกิจการเงินนี่เขากำลังจับตาตลาดประกันสุขภาพสัตว์เลี้ยงเลย เพราะมันโตสุดๆ ในสังคมผู้สูงอายุแบบยุโรป

แต่เลี้ยงสัตว์ก็เหมือนลูกน่ะครับ จะเลี้ยงดูให้ดี ก็ต้องมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี หรือพูดง่ายๆ ก็ต้องมีเงินเลี้ยงน่ะครับถึงจะเลี้ยงได้

รู้ไหมครับว่าประเทศตะวันตกบางประเทศ (อย่างเยอรมนี) เขามีการเก็บภาษีหมานะครับ พูดง่ายๆ คือเลี้ยงหมานี่ต้องเสียภาษีครับ เพราะเขาถือว่าคนที่เลี้ยงหมาต้องพาหมาออกมาเดินเล่นอยู่แล้วเพื่อสุขภาพของหมา บางประเทศกำหนดเป็นกฎหมายด้วยซ้ำว่าคนเลี้ยงต้องพาหมามาออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ทีนี้พอหมาต้องออกมาเดินเล่นในที่สาธารณะ มันก็เลี่ยงไม่ได้ใช่ไหมครับว่ามันก็ต้องขับถ่ายไปตามระเบียบ และถึงเจ้าของจะทำความสะอาดแล้วตามความเหมาะสม พื้นที่สาธารณะก็ยังจะสกปรกขึ้นอยู่ดี

ดังนั้นเขาก็ถือกันว่ายังไงคนที่เลี้ยงหมามันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำให้พื้นที่สาธารณะสกปรก ดังนั้นเขาก็เลยมีมาตรการเก็บภาษีเพื่อเป็นงบประมาณในการทำความสะอาดตรงนี้ ซึ่งก็เก็บเป็นรายปีด้วย

ในหลายๆ ประเทศที่ไม่ได้เก็บภาษีหมา เขาก็จะมีระบบแบบ ‘ใบอนุญาตเลี้ยงหมา’ (Dog license) เป็นตัวๆ แทน ซึ่งมันก็จะมีทั้งแบบที่ทำทีเดียวใช้ได้ตลอดชีวิตหมาไปเลย หรือแบบที่ต้องต่อรายปีแบบทะเบียนรถยนต์ (อาจฟังดูตลกนะครับ แต่มันเป็นอย่างนั้น) ซึ่งบางทีระบบนี้ก็จะพัฒนามาเป็นระบบบังคับฝังไมโครชิปลงในตัวหมาแทน

ซึ่งระบบพวกนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บภาษีหมาหรือใบอนุญาตเลี้ยงหมา มันก็จะมาคู่กับระบบขึ้นทะเบียนหมา ที่หมาแต่ละตัวที่คนจะเลี้ยงก็ต้องไปขึ้นทะเบียนว่าเป็นพันธุ์อะไร เกิดเมื่อไหร่ ใครเป็นเจ้าของ พักอยู่ที่ไหน ฉีดวัคซีนครบตามกำหนดหรือเปล่า ฯลฯ กับหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นที่เจ้าของพักอาศัย (คิดง่ายๆ ก็คล้ายๆ การลงทะเบียนเป็นผู้อาศัยในทะเบียนบ้านที่อำเภอนั่นแหละครับ) 

แต่รู้ไหมครับว่า ระเบียบทำนองเดียวกันนั้นแทบไม่มีเลยกับแมว คือแทบไม่มีประเทศตะวันตกประเทศไหนเลยที่คนเลี้ยงแมวจะต้องเอาแมวไปขึ้นทะเบียน เสียภาษี หรือต้องมีใบอนุญาตเลี้ยงเหมือนหมา (ในอเมริกา รัฐที่คนเลี้ยงแมวต้องมีใบอนุญาตก็มีแค่บางรัฐเช่น แคลิฟอร์เนีย และแมรีแลนด์)

ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ การจะเลี้ยงแมวนี่วุ่นวายน้อยกว่าหมาเยอะครับ เพราะเลี้ยงหมานั่นต้องไปติดต่อราชการตลอด และราชการฝรั่งนี่ถึงระบบรวมๆ อาจจะดีกว่าไทย แต่ความเชื่องช้าในการดำเนินการก็เป็นที่เลื่องลือครับ พูดง่ายๆ คือจะเลี้ยงหมาก็ต้องรอไปติดต่อราชการที่ก็ต้องรอนานๆ แบบไทยนั่นแหละ แต่เลี้ยงแมวนั้นไม่ต้องทำแบบเดียวกันเลย ใครอยากเลี้ยงก็เลี้ยงได้เลย

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้ฝรั่งนิยมเลี้ยงแมวกันมากกว่า เพราะมันไม่ต้องยุ่งยากไปติดต่อกับรัฐเพื่อทำให้มันถูกต้อง

แต่เหตุผลแบบนี้ก็อาจจะดูง่ายไปหน่อย ท่านผู้อ่านก็คงยังไม่พอใจ ผู้เขียนก็ยังไม่พอใจ

มาดูกันต่อครับ

คือพอมาดูอีกก็จะพบว่า ‘ฝรั่ง’ เขาไม่ได้บังคับ ‘ขึ้นทะเบียน’ หมากันเอาสนุกๆ หรือเพื่อแค่ให้มันเป็นระเบียบแบบที่ไม่มีเหตุผลอธิบายไม่ได้มากกว่านั้น (แบบที่บ้านเรามักอ้างเพื่อทำอะไรสารพัด) ถ้าดูตามประวัติศาสตร์ การขึ้นทะเบียนหมามันเกิดขึ้นเพราะบ้านเขามีปัญหาหมาข้างถนนล้นเมือง สร้างความสกปรกให้กับเมืองมาก เท่านั้นไม่พอ ในหลายๆ ที่มันยังมีปัญหาเป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้าอีก ซึ่งก็เรื่องใหญ่นะครับเพราะมันเป็นไวรัสที่ทำให้คนถึงตายได้เลยถ้าโดนกัด (ถ้าใครเกิดทัน สมัยก่อนถ้าใครโดนกัดก็จะต้อง ‘ฉีดยารอบสะดือ’)

พูดแบบเทคนิคหน่อยก็คือสำหรับฝรั่ง การขยายตัวของประชากรหมามันเคยเป็นปัญหาระดับสาธารณสุขของประเทศเลยครับ ต้องมีวาระแห่งชาติจัดการกัน

ผลของการจัดการก็คือ สุดท้ายหมาทุกตัวที่คนจะเลี้ยงก็ต้องขึ้นทะเบียนหมด ซึ่งเหตุผลสำคัญคือมันจะทำให้แยกหมาที่มีเจ้าของกับหมาข้างถนนที่ต้องจัดการออกจากกันได้ เพราะถ้าไม่ขึ้นทะเบียนมันก็จะแยกไม่ได้ นอกจากนั้น การขึ้นทะเบียนก็ยังทำให้มีผู้รับผิดชอบหมาแต่ละตัวชัดเจนอีก ซึ่งก็ทำให้คนเลี้ยงต้องรับผิดชอบพาหมาไปฉีดวัคซีนตามกำหนด (ซึ่งทั่วๆ ไปวัคซีนที่บังคับให้ฉีดตามกฎหมายคือพิษสุนัขบ้าเป็นหลักครับ เมืองไทยก็เป็นงี้) หรือถ้าหมาไปก่อความเดือดร้อนวุ่นวายก็จะสามารถหาคนรับผิดชอบได้

ส่วนทางด้านหมาข้างถนน ก็จะโดนจับเข้าสถานพักพิงให้หมดซึ่งพื้นฐานก็คือจะโดนจับไปทำหมันเพื่อให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ออกมาสร้างความไม่เป็นระเบียบบนท้องถนนได้อีก ซึ่งปลายทางของหมาพวกนี้ก็มักจะเป็นการหาผู้อุปการะไปเลี้ยง หรือถ้าสถานพักพิงไม่สามารถรองรับหมาได้ การปลิดชีวิตหมาอย่างเมตตาด้วยการฉีดยาก็จะเป็นทางเลือกสุดท้ายของหมาที่ไม่มีผู้รับอุปการะ

พูดง่ายๆ ก็คือหมาข้างถนนนี่ถูกคุมประชากรสุดๆ ไม่ให้มันขยายตัวไปมากกว่าเดิม

แต่แมวเหรอครับ แทบไม่มีที่ไหนหรอกครับที่จะคุมในแบบเดียวกัน

ในแง่หนึ่งแมวมันเป็นสัตว์ที่จะแอบๆ ขับถ่ายในที่ที่ไม่ให้คนเห็นอยู่แล้ว และก็เป็นสัญชาตญาณอีกที่จะขับถ่ายแล้วกลบ ดังนั้นการสร้างความสกปรกต่อพื้นที่สาธารณะของแมวจรจัดมันจึงลับหูลับตาคน นอกจากนี้แมวมันก็ยังไม่เคยเป็นพาหะของโรคระบาดใดๆ ที่จะเป็นปัญหาสาธารณสุขในวงกว้างขนาดที่รัฐต้องลงมาจัดการอีก

ดังนั้นแมวจึงแพร่พันธุ์กันได้สนุกเลย เพราะรัฐไม่มีการควบคุมประชากรแบบหมาที่จะโดนจับไปตอน นอกจากนี้ไม่มีระเบียบว่าจะต้องมีเจ้าของคอยรับผิดชอบ รัฐก็จึงไม่ได้มีมาตรการจัดการแมวจรจัดแบบหมาจรจัด ซึ่งนั่นก็อาจสอดคล้องกับธรรมชาติของแมวจำนวนไม่น้อยที่ชอบออกไป ‘เที่ยวนอกบ้าน’ อีก ซึ่งหมาจะทำแบบเดียวกันไม่ได้เพราะจะถูกเทศบาลจับ (ในกรณีของประเทศที่เข้มงวดเรื่องการจัดการหมาจรจัด)

และผลของการควบคุมประชากรหมาไปจนถึงการขึ้นทะเบียนหมาสารพัดในโลกตะวันตก ก็ส่งผลทำให้สุดท้ายหมาในสังคม ‘ฝรั่ง’ น้อยกว่าแมวในที่สุด 

และนี่เป็นสิ่งที่สังคมตะวันออกและลาตินอเมริกาแทบจะไม่มีเลย หรือถึงจะมีก็น้อยมากๆ (อาจจะเว้นญี่ปุ่นไว้ประเทศนึง) ดังนั้นบ้านเมืองของสังคมตะวันออกไปถึงลาตินอเมริกาจึงเต็มไปด้วยคนเลี้ยงหมาและหมาข้างถนน (ซึ่งหมาข้างถนนมันก็เริ่มมาจากหมาที่คนเลี้ยงแล้วทิ้งนี่แหละครับ ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นหมาป่าที่อยากวิวัฒนาการมาอยู่ร่วมกับมนุษย์)

ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การขยายอัตราส่วนของแมวต่อหมาในสังคมมันก็ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาการจัดการพื้นที่สาธารณะไปจนถึงจิตสำนึกต่อสาธารณะในสังคมซึ่งมันก็เป็นปกติของบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วน่าจะเกือบทุกประเทศมีสัดส่วนของแมวในสังคมมากกว่าหมา

อ้างอิง