4 Min

ทำไม ‘ราชวงศ์อังกฤษ’ ถึงมัก ‘ไม่คาด’ เข็มขัดนิรภัย?

4 Min
87 Views
10 May 2025

แม้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษที่สาธารณชนต่างจดจำจะเต็มไปด้วยความสง่างาม ความเคร่งครัด และการอยู่ท่ามกลางระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดที่สุดในโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยสังเกตเห็นและตั้งคำถามอยู่เสมอก็คือ เหตุใดสมาชิกราชวงศ์อังกฤษหลายพระองค์ โดยเฉพาะในระหว่างปฏิบัติภารกิจทางการมัก ‘ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย’

ทั้งที่ความปลอดภัยบนท้องถนนควรเป็นเรื่องพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็น ‘สัญลักษณ์ของชาติ’ ที่ผู้คนจับตามองมากที่สุดในโลก ในบทความ ‘Here’s Why the Royal Family Usually Doesn’t Wear Seat Belts’ จาก Reader’s Digest ได้เปิดเผยเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมที่ดูจะขัดแย้งกับหลักความปลอดภัยดังกล่าว ผ่านการสัมภาษณ์ ‘ได เดวีส์’ (Dai Davies) อดีตหัวหน้าหน่วยอารักขาราชวงศ์แห่งสก็อตแลนด์ยาร์ด พร้อมข้อมูลเสริมจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอีกหลายคน ทำให้พบเหตุผลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

อันดับแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ‘ไม่ได้ตั้งใจละเลย’ ที่จะคาดเข็มขัดนิรภัยไปเสียหมด และพวกเขาก็คาดเข็มขัดนิรภัยอยู่เสมอในหลายสถานการณ์ เช่น เมื่อขับรถเอง เมื่อเดินทางไกล หรือขณะอยู่ในยานพาหนะที่วิ่งบนทางหลวงด้วยความเร็วสูง แต่ในบางโอกาส โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีการหรืองานรัฐพิธี จะพบว่าเหล่าสมาชิกราชวงศ์อังกฤษมักไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งก็มีเหตุผลประกอบรองรับมากกว่าที่คิด

[เหตุผลแรก เพราะ ‘ถนนถูกปิด’ และเส้นทาง ‘ปลอดภัย’ อยู่แล้ว]

ในโอกาสสำคัญ เช่น พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3  แห่งราชอาณาจักร, พิธีสวนสนาม (Trooping the Colour) หรือรัฐพิธีที่มีการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ถนนสายต่างๆ จะถูกปิดหรืองดให้ใช้บริการเพื่อให้เฉพาะยานพาหนะของราชวงศ์อังกฤษวิ่งผ่านเท่านั้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจึงมีน้อยมาก

ด้าน ได เดวีส์ อธิบายว่า การประเมินความเสี่ยงในแต่ละภารกิจของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ หากเป็นเส้นทางระยะสั้น ใช้ความเร็วต่ำ และไม่มีรถยนต์หรือยวดยานของผู้อื่นปะปน ก็แทบไม่มีความจำเป็นที่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเลย

[เหตุผลต่อมา คือ เพื่อความ ‘รวดเร็ว’ หากต้องอพยพออกจากรถ]

ราชวงศ์อังกฤษถือเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคาม ‘มากที่สุดในโลก’ ไม่ว่าจะเป็นการลอบทำร้ายหรือการประท้วง และในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น การปลดเข็มขัดนิรภัยหรือการถอดชุดพิธีการที่ซับซ้อนอาจทำให้เสียเวลาไปไม่กี่วินาที แต่เวลาเพียงเสี้ยววินาทีนั้นอาจหมายถึง ‘ชีวิต’ ของสมาชิกราชวงศ์พระองค์หนึ่งเลยก็เป็นได้

[เหตุผลที่ 3 พื้นที่ส่วนพระองค์ไม่มีกฎหมายบังคับ]

มีภาพถ่ายจำนวนมากที่เผยให้เห็นพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพในพระราชฐานส่วนพระองค์ เช่น ปราสาทบาลมอรัล หรือ ตำหนักซานดริงแฮม

ได เดวีส์ ได้ให้เหตุผลว่า ในพื้นที่ส่วนพระองค์ สมาชิกราชวงศ์อังกฤษมีสิทธิ์และสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ เช่นเดียวกับพลเมืองทั่วไป ดังนั้นการที่จะคาดหรือไม่คาดเข็มขัดนริภัย จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจส่วนพระองค์เช่นกัน
.
[เหตุผลที่ 4 การคาดเข็มขัดนิรภัยทำให้เสื้อผ้าเสียทรง]

.

ในพระราชพิธี รัฐพิธี หรืองานสำคัญต่างๆ ที่มีสื่อมวลชนรอถ่ายภาพเหล่าสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ การปรากฏกายในชุดที่ดูดีที่สุดเป็นส่วนหนึ่งของ ‘หน้าที่อันทรงเกียรติ’ แห่งราชวงศ์อังกฤษ

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของราชวงศ์อังกฤษ อย่าง ‘ไมเคิล แชนด์เลอร์’ (Michael Chandler) อธิบายว่า ธรรมเนียมการแต่งกายของพระราชวงศ์อังกฤษนั้นมีความเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะผู้ชายที่ต้องสวมสูท หรือสุภาพสตรีที่ต้องสวมเดรส การคาดเข็มขัดนิรภัยอาจทำให้ชุดเหล่านี้ยับ ไม่เรียบร้อย หรือเสียรูปทรงได้ แม้เหตุผลนี้อาจฟังดูเป็นรองจากความปลอดภัย แต่ในฐานะบุคคลสาธารณะ ภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ราชวงศ์อังกฤษไม่อาจละเลยได้เช่นกัน

แม้จะมีเหตุผลต่างๆ มารองรับการที่ราชวงศ์อังกฤษมักไม่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถหรืออยู่ในรถยนต์ก็ตาม แต่ก็ยังเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วการปฏิบัติเช่นนี้ ‘เสี่ยง’ ต่อความปลอดภัยอยู่หรือไม่

ได เดวีส์ ได้ยอมรับว่าการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็คือความเสี่ยงเช่นกัน และ ‘ตรรกะพื้นฐานของคนทั่วไปก็คือควรคาดไว้เสมอ’ เว้นแต่จะมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ

[เหตุการณ์จากอดีตที่สอนบทเรียนสำคัญ]

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึง ‘ความสำคัญของเข็มขัดนิรภัย’ คือ การเสียชีวิตของ ‘ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ (Diana, Princess of Wales) และโดดี ฟาเยด ณ กรุงปารีส ในปี 1997

รายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษเผยว่า หากทั้งสองคาดเข็มขัดนิรภัยในคืนนั้น โอกาสรอดชีวิตอาจสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แม้อาจได้รับบาดเจ็บหนักแต่ก็อาจไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ต่อกรณีนี้ ได เดวีส์แสดงความคิดเห็นว่า หากมีเจ้าหน้าที่อารักขาอยู่ในรถยนต์คืนนั้น พวกเขาจะสั่งให้คาดเข็มขัดทันที และคงบอกคนขับให้ชะลอความเร็ว

[แล้วราชวงศ์อังกฤษเคยโดนปรับข้อหาไม่คาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่?]

ตามกฎหมายแห่งสหราชอาณาจักร ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัยขณะอยู่ในรถยนต์และยานพาหนะ หากฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงสุดถึง 500 ปอนด์ ยกเว้นเพียง ‘พระมหากษัตริย์’ หรือ ‘สมเด็จพระราชินีนาถ’ แห่งสหราชอาณาจักร ด้วยหลักการทางกฎหมายที่องค์ประมุขนั้น ‘อยู่เหนือกฎหมาย’ และไม่สามารถถูกดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าเคยมีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดถูกปรับในข้อหานี้เช่นนั้น ยกเว้นกรณีของเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี และไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่เคยถูกหมายเรียกเนื่องจากขับรถเร็วเกินกำหนดมาแล้ว

แม้ในอดีตอาจมีกรณีที่ราชวงศ์อังกฤษไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมาแล้วมากมาย แต่ในยุคใหม่ เหล่าสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และแคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ มักปรากฏตัวในรถยนต์พร้อมการคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ โดยเฉพาะเวลาที่ทั้งคู่พาพระโอรสและพระธิดาไปโรงเรียน

หรือแม้แต่ภาพเหตุการณ์สำคัญ อย่างคราวที่เจ้าชายวิลเลียมทรงไปรับเจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โต ขณะยังเป็นทารกแรกเกิดออกจากโรงพยาบาลกลับสู่พระตำหนักที่ประทับส่วนพระองค์ ก็ยังปรากฏภาพของเจ้าชายวิลเลียมที่วางเจ้าชายจอร์จไว้ในคาร์ซีท แล้วคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนขับรถกลับด้วยพระองค์เองเอง กลายเป็นภาพจำที่น่าชื่นชมของสาธารณชนและสะท้อน ‘แนวคิดยุคใหม่’ ที่ราชวงศ์อังกฤษเริ่มตระหนักถึงบทบาทที่ต้อง ‘เป็นแบบอย่าง’ ของสังคมมากขึ้น อย่างพฤติกรรมเล็กๆ เช่น ‘การคาดเข็มขัดนิรภัย’ ก็สามารถเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเคารพกฎหมาย ความใส่ใจต่อชีวิต และความรับผิดชอบต่อสาธารณะได้เช่นกัน

อ้างอิง