4 Min

เกิดอะไรในซินเจียง? มหกรรมแบนฝ้ายซินเจียงเจอจีนคว่ำบาตรกลับ จนต้องกลับมาง้อ

4 Min
886 Views
06 Apr 2021

Select Paragraph To Read

  • เกิดอะไรขึ้นในซินเจียง?
  • ประชาชนจีนมองเรื่องนี้ยังไง?

Highlight

  • หลังจาก H&M แถลงเลิกใช้ฝ้ายจากซินเจียง ซึ่งเชื่อว่าละเมิดชาวอุยกูร์อย่างร้ายแรง
  • ทำให้จีนส่งสัญญาณเริ่มแบน H&M ปิดหน้าร้านอย่างน้อย 6 สาขา ถอดออกจากเว็บอีคอมเมิร์ซ และอีกกว่า 500 สาขาที่ถูกตัดการค้นหาออกจากแอปพลิเคชันนำทาง
  • จนสุดท้าย H&M ต้องกลับมาง้อและจะฟื้นความเชื่อใจอีกครั้ง เรื่องนี้มีที่มาที่ไปยังไง?

เป็นประเด็นที่เริ่มลุกลามต่อเนื่องเมื่อร้าน H&M อย่างน้อย 6 สาขาในประเทศจีนถูกห้างสรรพสินค้าปิดลงแบบไม่มีกำหนด และอีกกว่า 500 สาขาที่ถูกตัดการค้นหาออกจากแอปพลิเคชันนำทาง และถอดออกจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอีกอย่างน้อย 3 เจ้าใหญ่ เป็นสัญญาณว่า H&M กำลังถูกจีน “คว่ำบาตร” อย่างแท้จริงแล้ว

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่อย่าง H&M รวมถึงสปอร์ตแบรนด์ Nike และอีกหลายแบรนด์ประกาศเบนการใช้งานผ้าฝ้ายจากซินเจียงในการผลิตสินค้าเพราะปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ซินเจียง และถูกบังคับให้ใช้แรงงานในไร่ฝ้ายอย่างไร้ความเป็นธรรม

| BBC

เกิดอะไรขึ้นในซินเจียง?

ซินเจียงเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีขาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก ที่นั่นเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีน รวมถึงเป็นแหล่งผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดด้วย ซินเจียงผลิตฝ้ายมากถึงราว 1 ใน 5 ของโลก แต่ในพื้นที่ประสบปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธ์ุมาอย่างยาวนาน

ชาว “อุยกูร์” ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองราว 3.2 ล้านคนในซินเจียง เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์กับรัฐจีนเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากในอดีตซินเจียงเคยเป็นจุดเชื่อมระหว่างเอเชียกลางและเอเชียใต้ที่มีเส้นทางการค้าที่เจริญรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหม ในศตวรรษที่ 14 พื้นที่บริเวณนี้เรียกว่า “เตอร์กิสถานตะวันออก” จนช่วงศตวรรษที่ 19 พื้นที่ซินเจียงถูกผนวกรวมกับแผ่นดินจีนหลังจากอิทธิพลของโลกตะวันตกเข้ามา และต้องการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน

พอเข้าปี 1949 จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นคอมมิวนิสต์ เริ่มมีการเข้าควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และประเพณีดั้งเดิม ในช่วงเวลานั้น มีชาวมุสลิมออกมาเรียกร้องกว่าแสนคน จนนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่ม ‘องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก’ (East Turkistan Liberation Organization : ETLO) และกลุ่ม ‘ขบวนการอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก’ (East Turkistan Islamic Movement : ETIM)

| CDN

ความขัดแย้งของรัฐบาลจีนกับชาวอุยกูร์เป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมากันมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนพยายามเข้ามาพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในซินเจียง แต่ชาวอุยกูร์มองว่า จีนต้องการนำชาวจีนเข้ารุกล้ำในพื้นที่ ความตึงเครียดได้ปะทุเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ในปี 2009 เมื่อเกิดเหตุปะทะนองเลือดระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวจีนฮั่น จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน บาดเจ็บมากกว่า 1,600 คน ถูกจับกุมกว่า 1,500 คน และหลายคนถูกประหารชีวิต

ปี 2017 มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนกักขังชาวอุยกูร์ และสมาชิกชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ อย่างน้อย 800,000 คน และอาจจะมากกว่า 2 ล้านคนใน “ค่ายกักกัน” เจ้าหน้าที่ทางการจีนเรียกค่ายนี้ว่าโรงเรียน “ปรับทัศนคติ” หรือ “ฝึกอาชีพ” แต่ก็มีการรายงานวันรัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ผ่านการตั้งค่ายกักกัน บังคับให้เปลี่ยนความเชื่อ ทรมาน ใช้เป็นแรงงาน จนถึงการทำหมันชาวอุยกูร์

และหนึ่งในข้อละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จีนถูกระบุคือการใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในไร่ฝ้ายของซินเจียง

นั่นเป็นเหตุทำให้เกิดการปฏิเสธการใช้งานฝ้ายในแฟชั่นแบรนด์ดังทั้ง 2 แบรนด์ ซึ่งมีการเขียนแถลงการณ์ว่าจะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงมาตั้งแต่ปีที่แล้วแต่มันเพิ่งถูกเผยแพร่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากชาติตะวันตกหลายชาติเริ่มจำกัดสินค้าประเทศจีน

| voanews

ประชาชนจีนมองเรื่องนี้ยังไง?

แน่นอนว่าหลังจากเกิดการแบนฝ้ายจากซินเจียง รัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ในซินเจียง ส่วนในโซเชียลมีเดียของจีนเกิดความเกรี้ยวกราดปะทุขึ้นมาโดยเชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าวลือจากชาติตะวันตกเพื่อสร้างข้อจำกัดทางการค้า ทั้งที่แบรนด์แฟชั่นต้องการสร้างรายได้ในประเทศจีน ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต่อต้านแบรนด์เพราะความไม่พอใจ

กลุ่มสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน (Communist Youth League) ระบุบนโซเชียลมีเดียว่า

“ต้องการสร้างรายได้จากจีนแต่ปล่อยข่าวปลอมและคว่ำบาตรผ้าฝ้ายจากซินเจียง? หวังมากไปหรือเปล่า”

สำหรับ H&M ประเทศจีนถือว่าเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจาก เยอรมนี สหรัฐ และสหราชอาณาจักร คิดเป็น 5.2% ของรายได้ทั้งหมด โดยเปิดทำการ 505 สาขาทั่วประเทศจีน การที่ชาวจีนจำนวนมากออกมาแบนการซื้อสินค้า การถูกปิดหน้าร้าน ไปจนถึงถอนออกจากอีคอมเมิร์ซ ส่งผลต่อรายได้ของแบรนด์อย่างแน่นอน

ในขณะที่นักแสดงจีนหวัง อี้ป๋อ และถาน ซงอวิ้น ได้ประกาศยุติการเป็นหุ้นส่วนส่งเสริมการขายให้กับ Nike ทั้งหมดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 11 แบรนด์เช่น Burberry และ Adidas ที่ถูกชาวจีนคว่ำบาตรจากกรณีเดียวกัน

ไม่รู้ว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะจบสวยไหม แต่สถานการณ์ล่าสุดคือ H&M ได้ประกาศ “ง้อ” เพราะต้องการฟื้นสัมพันธไมตรีกับจีน บริษัทได้ฟื้นความเชื่อใจกับชาวจีนต่อ หลังจากที่ H&M ขาดทุนหนักไปในไตรมาสแรกของปี ถึงราว ๆ 4.9 พันล้านบาท

ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญที่หลายแบรนด์ให้ความสนใจ แต่ตลาดยักษ์ใหญ่ในจีนก็คงเป็นเรื่องที่เททิ้งไปเฉย ๆ ไม่ได้แน่ ๆ เหมือนกัน

อ้างอิง:

  • BC. Nike, H&M face China fury over Xinjiang cotton ‘concerns’. https://bbc.in/2Ocj0i3
  • Bloomberg. WHO Chief Faults Covid Report for Dismissing Lab Leak Theory. https://bloom.bg/39AsT0s
  • INSIDER. H&M was wiped from the internet in China, sending a chilling warning to other retailers. https://bit.ly/3sGTHDI
  • ไทยรัฐ. จีนเดือดชาติตะวันตกทำ ‘ฝ้ายซินเจียง’ แปดเปื้อน ไอดอลจีนฉีกสัญญาแบรนด์ดัง. https://bit.ly/2PhiL5W
  • ประชาไท. ซินเจียงกับการแก้ไขความขัดแย้ง. https://bit.ly/32w3IZS
  • mgronline. H&M กลับมาง้อจีน หลังเผย “ขาดทุนยับ” ในไตรมาสแรก. https://bit.ly/2Pr6X0R