Male Gaze คืออะไร? ทำไมเราถึงไม่ควร ‘มอง’ แบบนั้น

4 Min
2786 Views
11 Oct 2023

คำว่า Male Gaze นี้ถูกใช้กับวงการหนังมาตั้งแต่ปี 1975 โดยนักทฤษฎีภาพยนตร์ ลอรา มัลวีย์ (Laura Mulvey) เพื่ออธิบายภาวะที่ตัวละครหญิงถูกวางให้โดนจับจ้อง

ความหมายของคำว่า Male Gaze

ดูจะเป็นยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มเข้าใจ แต่ก็ยังไม่เข้าใจดีนัก สำหรับการบอกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกมองจาก ‘มุมมองของผู้ชาย’ หรือ ‘Male Gaze’ อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการให้อำนาจต่อผู้ชาย และกดสถานะให้ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ และสิ่งนี้มีผลต่อความคิดจิตใจ รวมถึงการกระทำของเพศหญิง ขณะเดียวกัน แนวคิด Male Gaze ยังส่งผลเสียต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ Queer ที่จะถูกเลือกปฏิบัติด้วยความเกลียดกลัว เพิกเฉย หรือเหมารวม

แนวคิด Male Gaze แทรกซึมสู่สังคมกระแสหลักได้ด้วยการนำเสนอผ่านสื่อ ตั้งแต่สื่อโฆษณา รายการโทรทัศน์ ซีรีส์ หนัง ไปจนถึงมิวสิกวิดีโอ ทั้งด้วยการวางตัวผู้หญิงให้ถูกมอง ให้เป็น ‘อาหารตา’ และเป็นของสวยงามที่มีไว้ประดับฉาก หรือประดับบารมีตัวละครชาย มากกว่าจะเป็นคนที่มีชีวิตจิตใจแบบทั่วไป รวมถึงการให้ผู้หญิง ‘โชว์’ เนื้อหนังสัดส่วน ทั้งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเนื้อเรื่องด้วย

การครอบทุกอย่างไว้ให้ถูกมองผ่าน ‘เลนส์ของผู้ชาย’ ทำให้เกิดมาตรฐานที่ใช้ตัดสินผู้หญิงแบบผิดๆ เช่น มาตรฐานความสวย ที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องผอม ต้องมีหน้าอก หรือมีส่วนเว้าส่วนโค้ง และคนที่ไม่ได้มีรูปร่างเป็นไปตามมาตรฐานนี้จะถูกดูแคลน หรือมองว่าไม่ดีพอ ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำไปสู่ภาวะที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น โรคเกลียดรูปลักษณ์ตัวเอง หรือปัญหาความรุนแรงที่เพศชายจะกระทำต่อเพศหญิงด้วย

คำว่า Male Gaze กับวงการหนัง

ความจริงคำว่า Male Gaze นี้ถูกใช้กับวงการหนังมาตั้งแต่ปี 1975 โดยนักทฤษฎีภาพยนตร์ ลอรา มัลวีย์ (Laura Mulvey) เพื่ออธิบายภาวะที่ตัวละครหญิงถูกวางให้โดนจับจ้องโดยผู้สร้างผู้ผลิตเพศชาย ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและอยู่ในความรับรู้ของคนยุคนี้มากที่สุด ก็คือตัวละคร ฮาร์ลีย์ ควินน์ (Harley Quinn) จากจักรวาล DC นั่นเอง

ฮาร์ลีย์ ควินน์ นั้น เมื่ออยู่ในหนัง ‘Suicide Squad’ ปี 2016 โดยผู้กำกับชาย เดวิด เอเยอร์ (David Ayer) จะแต่งตัวไม่เหมือนในคอมิก คือจะใส่เสื้อขาวบาง เห็นทะลุเสื้อชั้นในสีแดง กางเกงขาสั้น ถุงน่องตาข่าย รองเท้าส้นสูง และโชกเกอร์รัดรอบคอ โดยคนดูจะได้มองตัวละครนี้ผ่านกล้อง ที่จับจ้องเธอแบบหัวจรดเท้า เท้าจรดหัว เน้นเรือนร่างที่ดูเซ็กซี่

ขณะที่ในหนัง ‘Birds of Prey’ ปี 2020 โดยผู้กำกับหญิง แคธี เหยียน (Cathy Yan) -ที่ก็เขียนบทโดยนักเขียนหญิง คริสตินา ฮอดสัน (Christina Hodson)- กลับใส่เสื้อที่แม้จะเปิดเผยเนื้อหนังบ้าง แต่ยังให้มู้ดแอนด์โทนน่ารัก ทั้งชุดเอี๊ยมเหลือง สปอร์ตบราสีชมพู และทรงผมไม่ได้เนี้ยบเป๊ะ ส่วนด้านงานกล้อง ก็ไม่ได้โฟกัสที่ร่างกายตัวละคร แต่ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนได้ร่วมประสบการณ์กับตัวละครมากกว่า

นอกจากเสื้อผ้าหน้าผมแล้ว บทพูดและเนื้อหาของหนังก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ผู้สร้างมักถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและยุคสมัยที่ผลงานถูกผลิตลงไป ถ้าจะพิจารณาจากการเปิดตัวของคาแรกเตอร์ ฮาร์ลีย์ ควินน์ นี้ ใน ‘Batman: The Animated Series’ จะเห็นว่าเธอมีบทบาทเป็นคู่หูของ โจ๊กเกอร์ (Joker) และมีสถานะเทียบเท่ากับเขา ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อตอนของ ‘Joker’s Favor’ ยังสื่อให้เห็นว่า โจ๊กเกอร์เป็นฝ่ายต้องการเธอ และเธอมีอำนาจเหนือกว่าโจ๊กเกอร์ในสถานการณ์นี้ด้วยซ้ำ

แต่เมื่อมาถึงคอมิกยุคถัดมา เนื้อหาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของตัวละครนี้กลับถูกรื้อใหม่ ให้เธอถูกกดทับโดยอิทธิพลของตัวละครโจ๊กเกอร์ แฟนหนุ่ม โดยระบุว่าเขาเป็นคนผลักเธอตกสารเคมี โดยที่เธอก็ไม่ได้ยินยอม กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ Toxic อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแม้ว่าหนัง Suicide Squad จะปรับส่วนนี้ให้เป็นความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายหญิงเอง แต่ก็เป็นไปเพื่อ ‘เอาใจแฟนหนุ่ม’ ตามแบบฉบับผลงาน Male Gaze อยู่ดี

อีกหนึ่งตัวอย่างสุดไอคอนิกที่ไม่มีโอกาสจะได้แก้ไขภาพลักษณ์อีกแล้ว เห็นจะเป็น แคร์รี ฟิชเชอร์ (Carrie Fisher) กับบท เจ้าหญิงเลอา (Princess Leia) ใน ‘Star Wars’ ที่ตกเป็นเหยื่อของแนวคิด Male Gaze ทั้งหน้าและหลังกล้อง ตั้งแต่ที่เธอถูกห้ามไม่ให้ใส่ชุดชั้นในระหว่างถ่ายทำ ทำให้คนในกองเห็นเรือนร่างของเธอทะลุเสื้อผ้า ไปจนถึงฉากเจ้าหญิงผู้ตกเป็นทาสในชุด ‘บิกินีสีทอง’ ใน Return of the Jedi ที่ทั้งไอคอนิกและกดขี่คุณค่าเพศหญิงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแม้แต่ตัว ฟิชเชอร์ เองก็ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าเธอไม่ชอบสถานการณ์นั้นเอามากๆ

จนตอนนี้ที่ ฟิชเชอร์ เสียชีวิตไปแล้ว 7 ปี และแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแพร่หลายถึงขีดสุด แต่ผลงานในยุคสมัยใหม่บางส่วนก็ยังก้าวข้ามแนวคิด Male Gaze ที่ฝังรากลึกในอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกไม่พ้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เพศหญิงจะเลิกเป็น ‘อาหารตา’ และในขณะเดียวกัน เพศทางเลือกก็ต้องไม่ถูกนำเสนอแบบ ‘เหมารวม’ ตามการชี้นำของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

อ้างอิง:

Female bodies and the harmful impact of the male gaze https://timesofindia.indiatimes.com/readersblog/if-only-i-can-speak/female-bodies-and-the-harmful-impact-of-the-male-gaze-51935/

Other as Spectacle: Women, Queerness, and the Male Gaze https://repository.lib.ncsu.edu/bitstream/handle/1840.20/39983/Copy%20of%20FISHER_Other%20as%20Spectacle_revisions.pdf?sequence=1&isAllowed=y

How Birds of Prey allows Harley Quinn to break free from Suicide Squad’s male gaze https://rtfgenderandmediaculture.wordpress.com/2020/11/18/how-birds-of-prey-allows-harley-quinn-to-break-free-from-suicide-squads-male-gaze/

How ‘Birds of Prey’ Deconstructs the Male Gaze https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-features/how-birds-prey-deconstructs-male-gaze-1277232/

The Male Gaze in the Media: A Tale of Two Harley Quinns http://www.oucampus.org/news/view.php/1041544/The-Male-Gaze-in-the-Media-A-Tale-of-Two

Written by Women: Harley Quinn’s Escape from the Male Gaze https://film-cred.com/written-by-women-harley-quinns-escape-from-the-male-gaze/

Princess in Chains: Leia’s Jedi Bikini https://www.slantmagazine.com/film/princess-in-chains-leias-jedi-bikini/

10 Dark Facts About Star Wars That Are Never Spoken About https://whatculture.com/film/10-dark-facts-about-star-wars-that-are-never-spoken-about

The ‘slave Leia’ controversy is about more than objectification https://www.theguardian.com/film/2015/nov/05/slave-leia-controversy-star-wars-objectification

เนื้อหาที่คุณอาจสนใจ:

ชวนดูวิธีรับมือผู้ชาย ‘เป็นพิษ’ ผ่านหนัง ‘Fair Play’ ทำยังไงเมื่อแฟนออกลาย ‘ชายแท้’

ติดตาม BrandThink Cinema ช่องทางอื่นๆ ได้ที่: https://linktr.ee/brandthinkcinema

#BrandThink

#BrandThinkCinema

#CreatesaBetterEcosystemforCinema