3 Min

ความสุขคืออะไร? เมื่อมีทุกข์ย่อมมีสุข ตราบใดที่ใจสงบก็จะเกิดความสุขที่ยั่งยืน ไม่ได้สุขล้น หรือสุขลด แต่… เป็นสุขดี

3 Min
394 Views
27 Mar 2024

‘ความสุขคืออะไร?’ 

คำถามเดิมๆ ที่ใครๆ ต่างก็เคยถามตัวเอง บางคนได้คำตอบแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่ได้ หากว่ากันตามปัจเจกบุคคล รูปแบบและหน้าตาของความสุขคงแตกต่างกันออกไป ความสุขของบางคนอาจคือการมีเงินทองมากมาย บางคนคือการมีครอบครัวอบอุ่น บางคนแค่มีข้าวกิน หรือได้นอนเต็มอิ่มก็สุขแล้ว 

ฉะนั้น สิ่งที่เรามักตามหาอาจไม่ใช่หน้าตาของมัน แต่เป็น ‘ความรู้สึกสุขใจ’ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเองก็เป็นได้ 

PSYCHOLOGY ครั้งนี้จึงชวนทุกคนไปสำรวจนิยามแห่งความสุข ที่ในบทความอ้างอิงได้กล่าวไว้ว่า ‘Why achieving happiness is not the same as being happy?’ ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวแต่หมายถึงภาวะความสุขที่ยั่งยืนนั้นเป็นอย่างไร 

ลำดับแรกเราจึงพาทุกคนมามองนิยามความสุขผ่านมุมมองนักคิดและนักปรัชญามากมาย เริ่มที่นิยามจาก ลูเซียส อันเนอุส เซเนกา (Lucius Annaeus Seneca) ที่เขียนไว้ในหนังสือ ‘On the Happy Life (De Vita Beata)’ กล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนปรารถนาที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข” และเพื่อที่จะทำเช่นนั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำคือค้นพบว่าความสุขคืออะไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง 

จากความสงสัยใคร่รู้นี้เอง จึงพาเราย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณยุคนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่อย่างโสกราตีส (Socrates) ที่ใช้คำถามนี้หาคำตอบว่า “ความลับของความสุขไม่ได้อยู่ที่การแสวงหามากขึ้น แต่คือการพัฒนาความสามารถในการเพลิดเพลินให้น้อยลง” เพราะความสุขแท้จริงไม่ได้มาจากรางวัลหรือการยอมรับจากภายนอก 

แต่มาจากความสำเร็จภายในที่ลดความต้องการของตนเองลง เราจึงสามารถเรียนรู้ที่จะชื่นชมความสุขที่เรียบง่ายที่สุดได้มากขึ้น หรือก็คือ เพียงรู้สึกสุขใจกับสิ่งเล็กน้อยในทุกวัน แทนที่จะหวังความสุขปลายทางในวันข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงหรือเปล่าย่อมดีกว่า

ทีนี้แวะมาดูกันในฝั่งจิตวิทยากันบ้าง ด้าน รีเบกา โกเมซ (Rebeca Gómez) นักจิตวิทยาจาก European Institute of Positive Psychology อธิบายไว้ว่า ความสุขเป็นแนวคิดที่ซับซ้อนซึ่งเกี่ยวข้องกับมุมมองส่วนตัวและคุณค่าในชีวิตส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าอาจฟังดูเป็นนามธรรม แต่การแสดงออก เช่น ความผาสุกทางอารมณ์นั้น สามารถวัดและจับต้องได้จากมุมมองทางจิตวิทยา 

แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าความสุขเป็นประสบการณ์ที่ผันผวนและมีชีวิตชีวา ฉะนั้นชีวิตที่มีความสุขสมตลอดเวลานั้นคงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากชีวิตเต็มไปด้วยอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอ 

ดังนั้น ความสุขจึงเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความเป็นอยู่ที่ดีหรือสุขภาวะ (well-being) จากการจัดการกับอารมณ์ทั้งด้านบวกและลบอย่างไรให้มีประสิทธิผล รวมไปถึงการปลูกฝังความรู้สึกพึงพอใจโดยทั่วไปให้เป็นพื้นฐาน 

“ความสุขมักจะพบได้ตามธรรมชาติเมื่อคุณดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่แท้จริงและมุ่งเน้นไปที่กระบวนการ ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์เท่านั้น” เธอกล่าว กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เรารู้สึกสุขได้ตลอดการเดินทาง ไม่ใช่แค่ตอนถึงปลายทางเท่านั้น 

นอกจากนี้ การมีความสุขก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีปัญหาใดๆ หรือไม่รู้สึกทุกข์ใจเลย แต่การมีความรู้สึกสุขใจนั้นเป็นความสามารถในการจัดการกับปัญหาอย่างมีประสิทธิผลเมื่อปัญหาเกิดขึ้นต่างหาก 

โดยอาศัยทักษะการพัฒนาความยืดหยุ่นทางอารมณ์และการใช้กลยุทธ์การรับมือเชิงบวกสามารถช่วยให้บุคคลค้นพบความสุขแม้ในสถานการณ์ที่ท้าทายและยากลำบากได้ ไม่เชิงว่าต้องมองโลกในแง่ดีจนเกินไป แค่มองความเป็นจริงแล้วยอมรับความเป็นไปของชีวิตได้ แม้มันจะยากลำบากแค่ไหนแต่ใครที่เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้วอาจตกตะกอนได้ว่า ใจมันสงบสุข เพียงใด 

ทว่า การจะบรรลุธรรมแห่งความสุขได้นั้น ย่อมมีปัจจัยแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง ทั้งประสบการณ์ที่มีความหมาย ความสัมพันธ์ที่ดี ความสำเร็จส่วนบุคคล ความซาบซึ้ง และการรักษาความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมที่นำความหมายกับคุณค่าของชีวิต 

เมื่อสิ่งเหล่านี้สมดุลกันย่อมทำให้รู้สึกสุขได้ไม่ยาก และสามารถมองความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมีจิตใจที่สามารถประเมินสถานการณ์และความสามารถในการมุ่งความสนใจไปที่ด้านบวกและแสวงหาแนวทางแก้ไขที่สร้างสรรค์ได้ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายแค่ไหนก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์เป็นธรรมดา แล้วทุกข์ที่ว่านั้นก็คือ อารมณ์ความรู้สึกด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเครียด ตัวการขัดขวางหนทางแห่งความสุขตัวฉกาจของเรา อันเป็นกลไกการตอบสนองทางสรีรวิทยาที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเบรกเราในสถานการณ์ที่เข้ามาคุกคามชีวิต ดังนั้น แม้ดูเป็นตัวร้าย อันที่จริงความเครียดก็ถือเป็นสัญญาณเตือนให้มนุษย์เราคิดถึงความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตในอีกทางหนึ่งเหมือนกัน 

ปัญหาคือ หากเราปล่อยให้มันครอบงำ กัดกินหัวใจเป็นเวลานานจากสัญญาณเตือนจะเริ่มกลายเป็นลางร้าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อจิตใจจนบดบังความสุขไป 

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจึงเตือนเราเสมอว่าให้ตระหนักรู้ตัวตลอดเวลาว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ความสุขจากภายนอกจะเข้ามาแล้วหายไปเหมือนความทุกข์ 

แต่หากเราทำใจให้เป็นสุขได้จากภายในใจตัวเอง และตราบใดที่ใจสงบก็จะเกิดความสุขที่ยั่งยืน ที่ไม่ได้สุขล้น หรือสุขลด แต่… เป็นสุขดี 

 อ้างอิง