2 Min

ถ้า “ราชินีผึ้ง” ตาย…จะเกิดอะไรขึ้นกับจักรวรรดิของผึ้งในรัง?

2 Min
7717 Views
15 Mar 2021

Select Paragraph To Read

  • แล้วหน้าที่จริงๆ ของราชินีคืออะไร?
  • แล้วถ้ามันตายล่ะ?

ผึ้งเป็นสัตว์ที่มีลำดับชั้นทางสังคมที่ชัดเจนมาก และชัดเจนมาตั้งแต่กำเนิด พวกมันไม่ได้อยู่กันแบบฝูง แต่อยู่กันอย่างจักรวรรดิ และตัวที่เป็นแม่ของทุกตัวในจักรวรรดิก็คือ “ราชินี” หรือ “นางพญา” เพียงตัวเดียวเท่านั้น

แต่ไม่มีใครอายุยืนยาวชั่วกัลปาวสาน ราชินีก็ตายได้เหมือนกัน…แล้วถ้าตายขึ้นมา จักรวรรดิรังผึ้งทั้งหมดจะเป็นอย่างไร?

Queenbee| beeopic

เราต้องเข้าใจก่อนว่าหน้าที่ของราชินีผึ้งคืออะไร ถ้าหากคุณเข้าใจว่าราชินีผึ้งเป็นผู้ปกครองที่ต้องรู้สารทุกข์สุกดิบของทุกตัวในรัง หรือเป็นผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจสั่งการ ขอบอกเลยว่าคุณเข้าใจผิด อันที่จริงราชินีผึ้งไม่ได้มีอำนาจควบคุมตัวอื่นในรัง เผลอๆ ผึ้งงานมีหน้าที่ควบคุมราชินีอีกทีด้วยซ้ำ และผึ้งงานก็สามารถปฏิวัติฆ่าและตั้งราชินีตัวใหม่ได้ด้วย

แล้วหน้าที่จริงๆ ของราชินีคืออะไร?

ในฐานะแม่ของรังใหญ่ หน้าที่หลักของราชินีผึ้งคือวางไข่ ตลอดช่วงอายุขัยราว 5 ปี ของราชินีตัวหนึ่ง มันสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ 1,500 ฟอง ซึ่งไข่เหล่านี้เกิดจากน้ำเชื้อที่ถูกผสมไว้ในฤดูผสมพันธ์ุครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตราชินี มันจะผสมพันธ์ุกับผึ้งตัวผู้ 7-10 ตัวและเก็บน้ำเชื้อไว้ใช้ตลอดชีวิต โดยจะค่อยๆ ใส่ลงในเซลล์เพาะเลี้ยงซึ่งตัวอ่อนผึ้งก็จะโตไปทำหน้าที่ต่างๆ ในรัง

นอกจากนี้นางพญายังมีคุณสมบัติพิเศษคือต่อมฟีโรโมนที่อยู่เหนือกรามเป็นสิ่งที่ประคองสังคมในรังเอาไว้ โดยมันจะกดไม่ให้รังไข่ของผึ้งงาน (ซึ่งเป็นเพศเมียแต่จะไม่ได้ผสมพันธ์ุ) ไม่ให้ทำงาน และดึงดูดให้ผึ้งงานในรังคอยอยู่ใกล้ๆ ป้อนอาหารและเลียทำความสะอาด

bee | ghanalive

แล้วถ้ามันตายล่ะ?

เมื่อจักรวรรดิผึ้งสูญเสียราชินี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันอาจจะบังเอิญถูกฆ่า อุบัติเหตุ หรือสิ้นอายุขัยไปเอง ขั้นตอนจริงๆ ค่อนข้างคล้ายกัน เมื่อนางพญาแก่ตัวและอ่อนแอปริมาณฟีโรโมนจะลดลงไปด้วย และผึ้งงานจะสร้างเซลล์ขนาดใหญ่พิเศษ (Queen cell) เพื่อเก็บตัวอ่อนสำหรับนางพญาตัวต่อไปขึ้นมาและนางพญาเดิมจะเป็นคนวางไข่ในเซลล์เหล่านั้นด้วยตัวเอง

แต่ถ้าหากการตายไม่ได้อยู่ในแผน นางพญาเกิดตายกะทันหันเรื่องราวในรังก็ค่อนข้างวุ่นวายพอตัว ผึ้งงานจะสร้างเซลล์ขนาดใหญ่เหมือนกัน และมันจะนำไข่หรือตัวอ่อนของผึ้งงานที่มีอายุน้อยกว่า 3 วันประมาณ 10-20 ตัว มาเลี้ยงให้เป็นราชินี แต่ด้วยเซลล์ขนาดใหญ่และอาหารพิเศษที่เรียกว่านมผึ้ง (Royal milk) จะสร้างให้ตัวอ่อนแข็งแรงสมบูรณ์มากกว่าอาหารปกติ

Queenbee | immediate

ประมาณ 8 วันผ่านไป เรื่องราวจะเริ่มโหดร้ายสักหน่อย เพราะราชินีใหม่ที่ฟักออกจากเซลล์ตัวแรก แสดงศักยภาพว่ามันแข็งแรงที่สุดในกลุ่มตัวอ่อนราชินี โดยการต่อยตัวอ่อนที่ยังไม่ได้ฟักทั้งหมดให้ตายอยู่ในเซลล์ และกลายเป็นราชินีตัวใหม่ของรัง

แต่ถ้าหากมีตัวอ่อนราชินีฟักพร้อมกันหลายตัว นี่ก็คือศึกชิงบัลลังก์ผึ้ง เพราะราชินีใหม่ทั้งหมดจะต้องต่อสู้เพื่อฆ่าตัวอื่นให้หมด ตัวที่เหลือรอดก็จะได้เป็นเจ้าบัลลังก์ตัวถัดไป

3-4 วันหลังจากการฟัก ต่อมฟีโรโมนของมันก็จะเริ่มงอกออกมาและบินออกไปผสมพันธ์ุเพื่อกลับมาฟักไข่และเป็นราชินีของรังเดิมต่อไป แต่ก็มีบางครั้งที่ราชินีตัวใหม่จับกลุ่มกับผึ้งงานและทิ้งรังไปสร้างรังใหม่เหมือนกัน ส่วนในกรณีที่ผึ้งงานเลี้ยงราชินีตัวใหม่ไม่สำเร็จและรังไม่มีราชินี สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครวางไข่ หรือผึ้งงานก็จะวางไข่ด้วยตัวเองแต่ไม่แข็งแรง สุดท้ายจักรวรรดิผึ้งรังนั้นก็จะล่มสลายในที่สุด

อ้างอิง: