อูยองอูคงไม่พอใจ! เกาหลีใต้เคยอ้างข้อมูลเพื่อขอ ‘ล่าวาฬ’ อีกครั้ง แต่ถูกปฎิเสธเพราะไม่น่าเชื่อถือ

3 Min
584 Views
22 Aug 2022

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการว่าความ ความสัมพันธ์ และเรื่องออทิสติกแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่อูยองอูตัวเอกสำคัญของอูยองอู ทนายอัจฉริยะ’ (Extraordinary Attorney Woo) พูดอยู่ตลอดก็คือเรื่องของวาฬในหลากหลายประเภท แต่ตัดภาพมาที่ความเป็นจริง ทราบกันหรือไม่ว่าเนื้อวาฬถือเป็นอาหารที่ผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันมีเพียงญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ที่ยังล่าในระดับอุตสาหกรรม โดยไม่สนเสียงค้านจากคณะกรรมาธิการล่าวาฬสากล (International Whaling Commission: IWC) ที่ตั้งขึ้นเพื่อยุติการล่าก่อนวาฬจะสูญพันธุ์ไปจากโลก

เหตุที่ประเทศดังกล่าวยังคงล่าวาฬ มักอ้างสาเหตุทางวัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาชีพ ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองในอะแลสกา แคนาดา กรีนแลนด์ และบางส่วนของรัสเซีย ที่ภูมิประเทศและสภาพอากาศไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากสัตว์เป็นหลัก

ซึ่งเหล่านี้ก็พอฟังเป็นเหตุเป็นผลได้ในระดับหนึ่งแต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ต้องทำงานเชิงวิจัยและมีข้อมูลเชิงสถิติรายงานประกอบเช่นมีวาฬเหลือเท่าไหร่และจะจับเท่าไหร่จึงจะไม่ทำให้วาฬสูญพันธุ์

นอกจากประเทศที่ว่ามาแล้วเกาหลีใต้เคยเป็นอีกประเทศที่เรียกร้องขอกลับมาล่าวาฬอีกครั้ง (เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว) แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะถูกนานาชาติมองว่าขาดความน่าเชื่อถือ

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า จำเป็นต้องล่าวาฬอีกครั้งเพราะวาฬทำให้ชาวประมงจับปลาได้น้อย

หรือกล่าวได้ว่า เกาหลีใต้มองวาฬเป็นภัยคุกคามอาชีพทำประมงในน่านน้ำของประเทศตัวเอง จนทำให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อทั้งคนประกอบอาชีพประมง และความมั่นคงทางอาหารของประชาชน

แต่เหตุผลดังกล่าวกลับถูกนานาประเทศ และ IWC ประณามอย่างหนัก เพราะไม่ยอมแสดงหลักฐานหรือข้อมูลว่าวาฬขโมยปลาไปเท่าไหร่ น้ำหนักปลาที่จับได้ลดลงแค่ไหน มีวาฬเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ รวมถึงไม่ได้วิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้จำนวนปลาลดลง

อันที่จริง ประเด็นเรื่องวาฬขโมยปลา ก็เป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงกันอยู่เรื่อยๆ และก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แถมบางกรณีพวกวาฬก็ทำกันอย่างโจ่งครึ่ม ชนิดที่ขโมยไปจากอวนตรงๆ เลยก็มี เช่นในอะแลสกา หรือในน่านน้ำอินโดนีเซียก็เคยมีวาฬโผล่มางับเอาอวนจับปลาใต้ท้องเรือกันแบบไม่แคร์ชาวประมงกันเลย

เพียงแต่เหตุการณ์ที่ว่า มีโอกาสเกิดน้อยมาก เพราะวาฬไม่ค่อยชอบมาอยู่ในที่ที่มีเรือประมงแล่นผ่านบ่อยๆ ทั้งจากเสียงรบกวนและเครื่องมือจับปลาที่สร้างความรำคาญให้กับการดำเนินชีวิตของพวกมัน

นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว เกาหลีใต้ยังอ้างอีกอย่างว่า ต้องการนำวาฬมาศึกษาวิจัย ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ขอ IWC เพื่อล่าวาฬมาโดยตลอด (ก่อนจะถอนตัวไปเมื่อปี 2019 และเดินหน้าล่าเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก) แต่เหตุผลนี้ก็ถูกปัดตกไปอีก ด้วยเหตุผลเรื่องความคลุมเครือของข้อมูลว่าจะล่ามากแค่ไหน รวมถึงยังไม่ยอมบอกด้วยว่า จะจัดการกับซากวาฬหลังการวิจัยอย่างไร

สุดท้ายนักล่าวาฬของเกาหลีใต้ก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน เมื่อข้อเสนอถูกปฏิเสธไปจนหมด

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเท็จจริงอีกด้านถึงสาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้ไม่ได้รับอนุญาตเหมือนประเทศอื่นๆ 

เรื่องแรก เป็นเพราะในช่วงที่แต่ละประเทศยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงของ IWC เกาหลีใต้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการลักลอบล่าวาฬแบบผิดกฎหมายมากที่สุดในโลกจึงกลายเป็นข้อกังขาว่าหากอนุญาตแล้วจะขาดการควบคุมจนกระทบต่อสถานะของวาฬที่เหลืออยู่เอาได้

กับอีกอย่างที่ทำให้หลายฝ่ายกังวล เป็นเพราะเวลานั้นคนกินวาฬในเกาหลีใต้พยายามสร้างวัฒนธรรมการกินวาฬขึ้นมาใหม่ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการล่าวาฬ เช่น การคิดค้นเมนูวาฬใหม่ๆ และเน้นสร้างแรงจูงใจเพื่อให้มีผู้บริโภคหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต่างจากญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ ที่อ้างถึงวัฒนธรรมโบราณ และเป็นกิจกรรมเพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมทางความเชื่อหรือเรื่องทางจิตวิญญาณมากกว่าการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ขึ้นมา

ทั้งยังมีผลสำรวจที่ว่า คนเกาหลีใต้ไม่เชื่อว่าการกินวาฬเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเมืองอุลซันที่มีฐานใหญ่ของวัฒนธรรมกินวาฬของประเทศ (และขึ้นชื่อเรื่องการไม่แคร์กฎหมายล่าวาฬ) ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับการอนุรักษ์ของ IWC เป็นอย่างยิ่ง

หลังเหตุการณ์คราวนั้น เกาหลีใต้แทบไม่เอ่ยปากถึงเรื่องการขอล่าวาฬอีก แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวประมงในประเทศยังคงลักลอบล่าวาฬกันอยู่ตลอด เนื่องจากกฎหมายยังมีช่องโหว่ให้สามารถค้าเนื้อวาฬ หากจับได้โดยบังเอิญขณะจับปลาชนิดอื่นๆ อยู่ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ก็แทบไม่ได้มีการตรวจสอบเลยว่าเนื้อวาฬที่อยู่บนเรือเกิดจากความจงใจหรือบังเอิญกันแน่

จวบจนปัจจุบัน อันมากด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงและความตระหนักต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่าและสัตว์ทะเลที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มหันมาเข้มงวดกับประเด็นนี้มากขึ้น และจับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งก็ดูว่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี

แต่สุดท้ายแล้ว ภายใต้ข้อกฎหมายที่ยังอนุญาตให้ค้าเพราะความบังเอิญก็ดูจะเป็นความชัดเจนที่ไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่นัก

อ้างอิง