2 Min

‘วาฬ-โลมา’ หลับไม่เคยสนิท เพราะมันนอนด้วยสมองครึ่งซีก และหลับตาข้างเดียว

2 Min
4285 Views
13 Jan 2022

วาฬและโลมาเกิด เติบโต และใช้ทั้งชีวิตอยู่ในมหาสมุทรก็จริง แต่พวกมันก็ยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่มีเหงือกหายใจใต้น้ำ และอาศัยการงับอากาศเหนือผิวน้ำลงปอดเป็นระยะตลอดวัน

ระบบหายใจแบบนี้แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่บนพื้นดินอย่างเช่น สุนัข หรือมนุษย์ เพราะเราไม่ต้องตัดสินใจว่าจะหายใจหรือไม่ มันเป็นกระบวนการอัตโนมัติที่ร่างกายดำเนินไปเอง แต่วาฬและโลมาไม่ได้หายใจอัตโนมัติ มันต้องว่ายขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ดังนั้นมันจึงต้องการสติในการมีชีวิตอยู่

คำถามก็คือ เวลานอนหลับที่ไม่มีสติสัมปชัญญะเท่าไร วาฬและโลมาทำอย่างไรให้ยังหายใจอยู่และไม่จมน้ำ

dolphin | storytrender

ความลับที่ทำให้มันรอดชีวิตในทุกวันคือ วาฬและโลมาหลับไม่เคยเต็มตาเลยสักครั้ง

พวกมันมักจะหลับด้วยตัวตั้งตรงอยู่ใกล้กับผิวน้ำเพื่อให้ขึ้นมาหายใจได้ง่าย หรือบางครั้งก็หลับทั้งๆ ที่ยังว่ายน้ำช้าๆ ไปตามกระแสน้ำ ที่มันสามารถทำแบบนั้นได้เป็นเพราะว่ามันหลับด้วยสมองเพียงครึ่งเดียว และหลับตาข้างเดียว เมื่อสมองซีกซ้ายปิดลง ตาขวาของมันก็จะปิดลงด้วย ดังนั้นในขณะพักผ่อนมันยังเหลือสติอยู่ครึ่งร่าง และส่วนนั้นจะทำหน้าที่ควบคุมการหายใจและตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ

ฟังดูเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อสำหรับสิ่งมีชีวิตที่หลับโดยสูญเสียสติโดยสิ้นเชิงแบบเราๆ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์เรื่องนี้โดยใช้คลื่นไฟฟ้าสมองกับโลมา และผลแสดงให้เห็นว่าสมองของมันปิดตัวครึ่งหนึ่งจริงๆ เมื่อมันหลับ ในขณะที่อีกข้างยังคงทำงานอยู่ โดยที่วาฬและโลมาใช้เวลานอน (ทีละครึ่ง) ราว 8 ชั่วโมงต่อวันและมักจะหลับตอนกลางคืนครั้งละ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

dolphin | whales

โดยทั่วไปพวกมันสามารถอยู่ในน้ำได้นานราว 30 นาทีก่อนจะเงยขึ้นมาหายใจสักครั้ง นับว่าโชคดีที่มันหลับอยู่นิ่งๆ ได้ไม่ต้องขึ้นมาหายใจถี่ๆ ทุกนาที สิ่งที่ทำให้วาฬและโลมาสามารถกลั้นหายใจใต้น้ำได้เป็นเพราะว่ามันมีปอดขนาดใหญ่พิเศษเมื่อเทียบกับสัดส่วนตัว เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้มากขึ้นในการสูดหายใจแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ดีวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาคำตอบชัดเจนได้ว่า การเปิดสมองเพียงครึ่งเดียวนั้นมีความรู้สึกอย่างไร แต่คาดว่ามันอาจเหมือนภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นก่อนที่มนุษย์จะผล็อยหลับไป ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วอาจดูเหมือนมันจะหลับไม่สนิทนัก แต่จากการศึกษาในปี 2008 ได้พบหลักฐานว่า โลมาเองก็มีช่วง REM หรือระยะการนอนหลับที่สามารถเกิดความฝันได้เช่นเดียวกับมนุษย์

อ้างอิง