3 Min

รักทะลุกำแพงเหล็กรัฐบาลจีน! แฟนคลับขึ้นป้ายอวยศิลปินต่างแดน ไม่สนกฎคุมสื่อออนไลน์

3 Min
738 Views
15 Dec 2021

Select Paragraph To Read

  • กฎข้อหนึ่งคือห้ามคลั่งรัก กฎข้อสองคือห้ามเปย์หนักเกินไป
  • ชาวเน็ตจีนเจาะทะลุกำแพงเหล็กมานานแล้ว

การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มข้น ในนามการปกป้องความมั่นคงและศีลธรรมอันดี ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศจีน เพราะฉายา ‘กำแพงเหล็ก’ ที่จีนได้รับมา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกำแพงเมืองจีนมากนัก แต่เป็นเพราะคำสั่งของรัฐบาลจีนที่ห้ามประชาชนใช้สื่อสังคมออนไลน์จากต่างประเทศโดยเด็ดขาด และให้ใช้เฉพาะสื่อ ‘เมดอินไชน่า’ อย่างเดียวเท่านั้น

ไม่นานมานี้ คณะกรรมการกำกับดูแลโลกไซเบอร์ของจีนก็เพิ่งจะยกระดับมาตรการควบคุมการแสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสกัดการกระทำที่กระทบต่อมาตรฐานศีลธรรมอันดีของรัฐ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์ให้ปฏิบัติตามแต่โดยดี

เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนสั่งให้ ‘เว่ยป๋อ’ สื่อโซเชียลที่เปรียบได้กับทวิตเตอร์ของสหรัฐอเมริกา ระงับบัญชีผู้ใช้ที่ประกาศตัวเป็นแฟนคลับวง BTS บอยแบนด์เกาหลีใต้ หลังจากคนกลุ่มนี้รวบรวมเงินไปจัดกิจกรรมให้กำลังใจศิลปินที่ตัวเองรักและชื่นชม ซึ่งการกระทำนี้ไม่ผิดกฎหมายแน่ๆ ถ้าเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ แต่พอเป็นประเทศจีน กลับเจอข้อหา ‘ระดมเงินทุนโดยผิดกฎหมาย’

เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน มีการเผยรายชื่อ 88 คนดังในสื่อออนไลน์ซึ่งรัฐบาลจีน ‘ขึ้นบัญชีดำ’ จับตามองความเคลื่อนไหวด้วยข้อหายาวเป็นหางว่าว เช่น แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม, ส่งเสริมค่านิยมฟุ้งเฟ้อ, เผยแพร่หรือยั่วยุให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ กระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของชาติ และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนอื่นๆ ในสังคม โดยอ้างถึงกรณีแฟนคลับกลุ่มคนดังสร้างความวุ่นวายหรือทะเลาะเบาะแว้งกันเองตามสื่อออนไลน์เพื่อปกป้องคนที่ตัวเองชอบ

ส่วนคนดังที่อยู่ในบัญชีดำเหล่านี้ก็มีทั้งนางแบบ, อินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่น, บล็อกเกอร์ และนักร้องนักแสดงชื่อดังที่มีข่าวคราวอื้อฉาวกันอยู่ก่อนแล้ว เช่น คริส อู๋ (Kris Wu) หรือ อู๋อี้ฝาน อดีตสมาชิกวงบอยแบนด์เกาหลีใต้ EXO ที่ถูกจับและตั้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

กฎข้อหนึ่งคือห้ามคลั่งรัก กฎข้อสองคือห้ามเปย์หนักเกินไป

อย่างไรก็ดี Campaign สื่อดิจิทัลฝั่งตะวันตก ประเมินว่าคำสั่งปิดกั้นสื่อออนไลน์และการห้ามพฤติกรรมคลั่งไคล้คนดังของหน่วยงานรัฐบาลจีนครั้งนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมอันดีเสียทั้งหมด แต่น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่รัฐบาลจีนเคยสั่งควบคุมตัวและไต่สวน ‘ฟ่านปิงปิง’ นักแสดงหญิงชื่อดังที่มีผลงานในวงการบันเทิงฮอลลีวูดของสหรัฐฯ มาก่อน

ช่วงกลางปี 2018 ฟ่านปิงปิงเงียบหายไปจากหน้าสื่อนานหลายเดือน เช่นเดียวกับบัญชีเว่ยป๋อของเธอก็ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลย แม้จะมีสื่อต่างประเทศสอบถามไปยังรัฐบาลจีน ก็ไม่เคยได้รับคำตอบอะไรที่ชัดเจน จนกระทั่งฟ่านปิงปิงปรากฏตัวอีกครั้งช่วงปลายปี และขออภัยแฟนๆ โดยมีข่าวจากสื่อรัฐบาลจีนชี้แจงว่าที่เธอหายไปเพราะโดนสอบสวนเรื่อง ‘ภาษี’

ผู้ถูกขึ้นบัญชีดำครั้งล่าสุดนี้ก็เป็นคนในวงการบันเทิงและคนดังในสื่อออนไลน์ที่มีคนติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ต่างจากฟ่านปิงปิงในอดีต และอีกอย่างที่เหมือนกันคือรายได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการอุดหนุนหล่อเลี้ยงจากเหล่าแฟนคลับที่ติดตามซื้อผลงาน หรือไม่ก็จ่ายเงินบูสต์ผลงานออนไลน์ของศิลปินจนติดอันดับ ทำให้สื่อต่างชาติมองว่ารัฐบาลจีนอาจกำลังปราบปรามขบวนการเลี่ยงภาษี ควบคู่ไปกับการจัดระเบียบสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งรับอิทธิพลของโลกทุนนิยมเข้ามา ‘มากเกินไป’

พฤติกรรมหนึ่งที่รัฐบาลจีนมองว่า ‘รับไม่ได้’ และขัดแย้งกับมาตรฐานทางศีลธรรมอันดี ได้แก่ การทุ่มเทเงินทองและเวลาให้กับศิลปินคนดังต่างๆ อย่างอู้ฟู่ โดยไม่สนใจแนวคิดมัธยัสถ์และการคำนึงถึงส่วนรวมที่เป็นหลักการดั้งเดิมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกทั้งแฟนคลับเหล่านี้ก็ไม่ได้สนับสนุนแค่ศิลปินจีน แต่ยังรวมไปถึงศิลปินต่างชาติอีกเป็นจำนวนมาก

ชาวเน็ตจีนเจาะทะลุกำแพงเหล็กมานานแล้ว

แม้จะมีกฎเข้มงวดขนาดนี้ แต่ก็ต้องบอกว่ามาตรการปิดกั้นสื่อออนไลน์ของรัฐบาลจีนไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ใช้เน็ตชาวจีนที่เป็นแฟนคลับของศิลปินต่างชาติพร้อมจะแหวกกำแพงเหล็กด้วยการใช้ VPN หรือเครือข่ายเสมือนส่วนตัว ไปใช้สื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศเพื่อสื่อสารกับโลกภายนอก และประกาศความรักความชื่นชมที่มีต่อศิลปินเหล่านั้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดคือแฟนคลับจีนประกาศระดมเงินเช่าพื้นที่โฆษณาที่นครลอสแองเจลิสของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2021 เพื่ออวยพรวันเกิดให้กับ ‘วี’ (V) หรือ คิมแท-ฮยอง สมาชิกวง BTS และให้กำลังใจวงที่จะจัดคอนเสิร์ตในสหรัฐฯ ด้วย

ถ้าไปถามรัฐบาลจีน ก็คงบอกว่าการระดมเงินของกลุ่ม Baidu V Bar ซึ่งเป็นแฟนคลับวง BTS ขนาดใหญ่ที่สุดในจีน “เป็นการกระทำผิดกฎหมาย” และไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสม แต่ถ้าถามว่าแฟนๆ เหล่านี้แคร์มากไหม? ก็บอกเลยว่า …ไม่

สิ่งที่เป็นหลักฐานชี้ชัดคือการที่ชาวเน็ตจีนเจาะทะลุกำแพงการปิดกั้นสื่อของรัฐบาล เข้าสู่โลกทวิตเตอร์ของฝั่งตะวันตกเพื่อทำกิจกรรมให้ลุล่วง โดยหลีกเลี่ยงการใช้เว่ยป๋อที่เสี่ยงจะถูกปิดกั้นและแทรกแซงจากรัฐบาลจีน อีกทั้งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงได้ง่ายๆ ด้วย

อ้างอิง: