กัญชา ‘ห่วยสุดในโลก’ อยู่ที่ไหน? คำตอบคือ ‘ปารากวัย’

3 Min
698 Views
26 Jul 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

รัฐบาลปารากวัยอนุญาตให้คนในประเทศปลูกกัญชาและกัญชงเป็น ‘พืชเศรษฐกิจ’ ได้ และอนุญาตให้ใช้กัญชา ‘เพื่อการแพทย์’ โดยมีกฎคุมมาตรฐานที่เข้มงวด แต่ก็มีคนที่ลักลอบผลิต ‘กัญชาเพื่อสันทนาการ’ เจาะกลุ่ม ‘สายเขียว’ เป็นจำนวนมาก แม้ว่าเรื่องนี้จะยังไม่ถูกกฎหมายในปารากวัย ทำให้กัญชารูปแบบนี้มีโอกาสปนเปื้อนสูง จนสื่ออเมริกาเหนืออย่าง Vice บอกว่ากัญชาปารากวัยนั้น ‘ห่วยที่สุดในโลก’

ในตลาดกัญชาโลก ‘ปารากวัย’ คือผู้ส่งออกที่สำคัญประเทศหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์กัญชาจากปารากวัยคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของตลาดกัญชาส่งออกทั้งหมด เนื่องจากปารากวัยเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล สินค้าส่งออกหลักๆ จึงได้แก่พืชผลต่างๆ และกัญชากับกัญชงก็เป็นพืชที่รัฐบาลอนุญาตให้ปลูกได้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ Vice สื่อแคนาดา รายงานว่า กัญชาปารากวัยเป็นกัญชา ‘คุณภาพแย่ที่สุดในโลก’ เมื่อปี 2022 

อย่างไรก็ดี Vice ไม่ได้พูดถึงกัญชาปารากวัยที่ผลิตแบบ ‘ถูกกฎหมาย’ ซึ่งทั้งหมดเป็น ‘กัญชาเพื่อการแพทย์’ ที่รัฐบาลอนุญาตให้ผลิตได้ตั้งแต่ปี 2018 แต่ Vice เจาะจงถึง ‘กัญชาเถื่อน’ ที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองเหตุผลเรื่อง ‘สันทนาการ’ โดยเฉพาะ

จากการติดตามไปสัมภาษณ์เกษตรกรในปารากวัย Vice บอกว่ากระบวนการลักลอบผลิตกัญชาอัดแท่งในปารากวัยนั้น ‘ต่ำกว่ามาตรฐาน’ เพราะนอกจากจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงกันเยอะ (ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการทำให้เกิดสารปนเปื้อนในกัญชาส่วนใหญ่) ยังมีคนใช้เครื่องอัดเก่าๆ ทำจากเหล็กกับไม้เพื่อทำให้กัญชาเป็นก้อนๆ และหลายที่ก็ใช้ ‘น้ำอัดลม’ หรือไม่ก็ ‘แยม’ เป็นตัวช่วยให้กัญชาจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น 

ปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามาทำให้กัญชาอัดแท่งส่วนใหญ่ในปารากวัย ‘อันตราย’ เพราะคนที่นำไปเสพอาจจะได้รับสารเคมีตกค้าง รวมถึงเชื้อราและแบคทีเรียที่เกิดเพราะความชื้นจากน้ำอัดลมหรือแยม กัญชาอัดแท่งปารากวัยจึงมีราคาถูกมากถ้าเทียบกัญชาจากแหล่งอื่นๆ กัญชาปารากวัยจึง ‘แพร่หลาย’ ในประเทศแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ เพราะราคาที่ไม่แพงทำให้ผู้เสพพอจะมองข้ามเรื่องคุณภาพไปได้บ้าง

เหตุผลที่กัญชาเถื่อนปารากวัยถูกส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในแต่ละปี ก็เป็นเรื่องที่คนในบ้านเราน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตสินค้ากัญชาเพื่อการแพทย์อย่างถูกกฎหมายมีแค่ ‘นายทุนใหญ่’ ไม่กี่ราย เกษตรกรปลูกกัญชาต้องทำตามเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ของบริษัทผู้รับซื้อกัญชาเหล่านี้อย่างเคร่งครัด และเมื่อเกษตรกรรายย่อย (แต่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ) ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดในตลาดกัญชาปารากวัย การลักลอบผลิตกัญชาอัดแท่งในครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก 

ส่วนเส้นทางกระจายกัญชาเถื่อนไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็ข้ามไปตามเส้นทางธรรมชาติ ด้วยการจัดการของแก๊งค้ายาในภูมิภาค และปารากวัยก็มีบรรยากาศบางอย่างคล้ายๆ กับประเทศไทย ตรงที่ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ถูกกฎหมายสามารถหาซื้อและขายกันได้ง่ายๆ เพราะการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ (หรือจ่ายส่วย) ให้เจ้าหน้าที่ ก็ช่วยให้ ‘การค้าสีเทา’ ดำเนินไปได้ และนานๆ ทีถึงจะมีข่าวตำรวจยึดกัญชาเถื่อนล็อตใหญ่และนำไปเผาทิ้งมาให้ได้ยินกันบ้าง 

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่ากัญชาเถื่อนจากปารากวัยจะถูกมองเป็นผลิตภัณฑ์อันตราย แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่าจะแพร่กระจายไปยังกลุ่มผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ง่าย เพราะมีราคาถูกและผลิตได้จำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งเผลอๆ การจะพบเจอกัญชาปารากวัยในไทยก็มีความเป็นไปได้สูง

เมื่อหันมาดูชะตากรรมเกษตรกรผู้ปลูกกัญชาในไทย หรือธุรกิจรายย่อยที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ รวมถึงผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ น่าจะกำลังเจอกับภาวะ ‘สุญญากาศ’ เพราะกฎหมายที่จะกำกับดูแลกัญชายังค้างเติ่ง และไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมาบริหารประเทศจะมีนโยบายกัญชาแบบไหนแน่ 

อ้างอิง