“เอากระโปรงหนูไปใส่ไหม?” ‘กระโปรง’ สัญลักษณ์ความอ่อนแอไม่มีค่าในโลกชายเป็นใหญ่
- ครั้งหนึ่งในการชุมนุม กลุ่มประชาชนปลดแอกถามเจ้าหน้าที่ ชูป้าย และพูดปราศรัยในทำนอง “เอาประโปรงไปใส่ไหม”
- จากนั้นคำพูดข้างต้นก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในเชิงมองว่าผู้หญิง “อ่อนแอและด้อยกว่า”
- แต่คำถามสำคัญคือในยุคนี้เราควรใช้การด่าทอที่มีเพศเป็นสัญลักษณ์อยู่ไหม? และกระโปรงเป็นเครื่องแต่งกายของทุกคนได้หรือยัง?
กระโปรง = ศัตรูตัวร้ายที่คุกคามความเป็นชาย?
เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังมีการใช้ถ้อยคำในการชุมนุมประท้วง ตั้งแต่ในป้าย ไปจนถึงคำพูดปราศรัยที่มีนัยยะเหยียดเพศ เช่น “เอากระโปรงหนูไปใส่ไหม?” หรือทำนอง “ถ้าทำแบบที่พูดไม่ได้ก็เอากระโปรงไปสวมดีกว่า” ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์ต่อมา เพราะผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ออกมาเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม แต่ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกลับไม่ได้มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันนัก
คำถามคือ ใส่กระโปรงแล้ว…ทำไม?
คนไทยอาจจะเคยชินกับการด่าทอที่ใช้เพศมาเป็นสัญลักษณ์ คำที่เราคุ้นเคยก็เช่น “ไอ้หน้าตัวเมีย” เพราะในสังคมที่วางความเป็นผู้ชายว่าเท่ากับเพศที่มีค่า มีราคา เข้มแข็ง และสำคัญกว่าเพศอื่น แปลว่าเพศหญิงคือสิ่งที่ไม่มีคุณค่า อ่อนแอ และต่ำกว่า อย่างนั้นหรือ? (ในชุดความคิดแบบนี้ยังมองเพศหลักเพียง 2 เพศ ส่วนเพศอื่นๆ นั้นถูกจัดอยู่ในเลเวลตกขอบ) ดังนั้น ถ้าต้องการจะว่ากล่าวใครสักคนว่า “อ่อนแอ” ก็ใช้ผู้หญิงมาเป็นสัญลักษณ์
ในคำด่านั้น ยังหมายรวมถึง “กระโปรง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เครื่องแต่งกายของผู้หญิงด้วย ส่วนผู้ชายที่ถูกด่าให้เอากระโปรงมาใส่ก็จะต้องรู้สึกอับอายขายขี้หน้า เพราะว่าถูกมองว่า “ไม่มีความเป็นชาย”
ดังนั้นหลายฝ่ายจึงเริ่มมีการรณรงค์ให้เลิกใช้คำด่าทอที่มีนัยยะของการเหยียดเพศ ที่กดเพศใดๆ ให้ต่ำลง เพราะความเข้มแข็ง อ่อนแอ หรือการมีคุณค่าของบุคคลใดๆ ไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ
เอาล่ะ เราก็กลับมาที่กระโปรง
ในยุคหนึ่งการที่ผู้หญิงสวมกระโปรงและชายสวมกางเกงนั้นมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน และวัฒนธรรมแต่งกายแบบตะวันตกก็แพร่ไปทั่วโลกจนเป็นเส้นมาตรฐานการแต่งกาย แต่ในยุคสมัยนี้ มองว่าทุกเพศมีความเท่าเทียมกัน ผู้หญิงสวมกางเกงได้เป็นปกติ แล้วผู้ชายล่ะ ควรสวมกระโปรงอย่างผ่าเผยได้หรือยัง?
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มนักเรียนชายกว่า 100 คนในวิทยาลัย Nouvelles Frontières ประเทศแคนาดา รวมตัวกันสวมกระโปรงเข้าเรียนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการสู้กับการเลือกปฏิบัติ ‘โฮโมโฟเบีย’ (อาการเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ) และการเหยียดเพศ เพราะในปี 2020 ใครอยากจะใส่อะไรก็ใส่ไปเถอะ!
ในปี 2019 นักร้องนักแสดงหนุ่ม Billy Porter สวมชุดกระโปรงสีแดงชมพูฟูฟ่องร่วมงานประกาศรางวัล Tony awards พร้อมให้สัมภาษณ์ว่าครั้งหนึ่งการที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาสวมกางเกงและทำงานเป็นสิ่งทรงพลัง วันนี้การที่ผู้ชายจะสวมกระโปรงก็เป็นเรื่องทรงพลังเหมือนกัน นี่คือการโต้ตอบกับชุดความคิดสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยังอยู่
“ในนาทีที่ผู้ชายสวมกระโปรง มันดูน่าสยองใช่ไหมในความคิดคุณ ผู้ชายเข้มแข็ง และผู้หญิงอ่อนแอเหรอ ผมจะไม่ทำแบบนั้นอีกต่อไป ถ้าผมอยากจะใส่กระโปรง ผมก็จะใส่!” Billy Porter กล่าว
ในยุคที่เปิดกว้างเรื่องทางเพศมากขึ้นกว่าเดิม ตัวคุณล่ะ “กระโปรง” ยังเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอและไม่มีค่าอยู่หรือไม่
แล้วถึงเวลาที่เราจะเลิกด่าทอไล่ใครไปสวมหรือเอา “กระโปรง” คลุมหัวแล้วหรือยัง?
อ้างอิง:
- Coe. Combating Gender Stereotypes and Sexism. https://bit.ly/2GtpEMP
- Montreal gazette. Boys wear skirts to school to protest sexism and discrimination against women. https://bit.ly/38c2ZQL
- The guardian. Masculinity is a trap – which is why more men should wear skirts. https://bit.ly/368dHF8
- Lgbtq nation. 100 teen boys shocked administrators when they all wore skirts to school. https://bit.ly/3esOBVb