ภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เปลี่ยนงานต่อสู้กับภัยธรรมชาติให้กลายเป็นหน้าที่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ by I’m from Andromeda

6 Min
935 Views
30 Jun 2022

ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาเริ่มมีแนวคิดที่จะนำผู้ต้องขังในเรือนจำออกมาทำงานสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดถนน ลอกท่อระบายน้ำ หรือซ่อมแซมผิวถนน ด้วยเหตุผลด้านค่าแรงที่ต่ำกว่าพื้นฐานและยังให้โอกาสพวกเขากลับคืนสู่สังคม จนภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เปลี่ยนให้พวกเขาต้องกลายเป็นด่านหน้าในการป้องกันประเทศของตน

หลังจากจักรวรรดิญี่ปุ่นตัดสินใจประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ด้วยการนำเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีใส่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ท่าเรือที่ล้อมรอบไปด้วยฐานทัพเรือน้ำลึกของกองเรือแปซิฟิกแห่งสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าเป็นการเปิดฉากรบครั้งแรกของจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อสหรัฐอเมริกา และเป็นการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เต็มตัวของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นบางส่วนผู้ฝักใฝ่ในจักรวรรดิญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในอเมริกาขณะนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะถือสัญชาติดั้งเดิมหรือสัญชาติอเมริกันแล้วก็ตาม ต่างจับมือวางแผนก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ มันคือแผนการลักลอบเข้าไปทำลายดินแดนศัตรูซึ่งยากที่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกเข้าถึง 

นักโทษกำลังถางหญ้าและไม้ที่ง่ายต่อการติดไฟ

ต้นปี ค.. 1942 หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ตรวจพบว่ามีความพยายามสร้างสถานการณ์ด้วยการลอบวางระเบิดในแหล่งผลิตยุทโธปกรณ์ทหาร โรงงานต่อเรือ และลอบวางเพลิงในสถานที่เสี่ยงต่อเหตุเพลิงไหม้ โดยเฉพาะการลอบวางเพลิงเพื่อให้เกิดไฟป่าในแถบรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยพบว่ามีเหตุเพลิงไฟป่าเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต แม้ในช่วงนั้นฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีรูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)จะตัดสินใจใช้นโยบายที่รุนแรงต่อชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในดินแดนอเมริกาแล้วก็ตาม

ชาวญี่ปุ่นประมาณ 120,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งแปซิฟิก ราว 2 ใน 3 เป็นพลเมืองอเมริกันโดยสมบูรณ์ พวกเขาเกิดและเติบโตในที่นี่ อย่างไรก็ตาม หลังการโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ คลื่นแห่งความสงสัยและความกลัวต่อประเทศญี่ปุ่นทำให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีรูสเวลต์ต้องใช้นโยบายที่รุนแรงต่อผู้อยู่อาศัยเหล่านี้ ชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นแทบทุกคนถูกบังคับให้ออกจากบ้าน ทิ้งทรัพย์สินของตน ย้ายไปอาศัยอยู่ในค่ายกักกันตลอดช่วงสงคราม แม้ว่านโยบายนี้จะละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญหลายประการก็ตาม โดยรัฐบาลกล่าวอ้างว่า ทำเพื่อความมั่นคง

ถึงแม้ชาวญี่ปุ่นราวแสนคนจะต้องไปอาศัยในค่ายกักกันตลอดสงครามก็ตาม แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใดเหตุไฟป่าถึงเกิดถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงเวลานั้นผู้ชายส่วนใหญ่ในประเทศไม่ว่าจะทำอาชีพใดๆ ต่างตัดสินใจเข้าไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อาชีพและอุตสาหกรรมที่อยู่ในประเทศบางครั้งถูกทดแทนด้วยผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่ล้วนขาดสรรพกำลัง โดยเฉพาะด้านบรรเทาสาธารณภัย 

แคลิฟอร์เนียเป็นหนึ่งในรัฐที่ช่วงเวลานั้นขาดแคลนหน่วยดับเพลิงและกำลังพลในการช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมาก พวกเขาจึงได้เลือกใช้ผู้ชายที่ไม่สามารถออกไปร่วมรบได้ นั่นคือผู้ต้องขังในเรือนจำ’ 

ในช่วงต้นปี ค.. 1942 เรือนจำชิโน (Chino Prison) เรือนจำสำหรับผู้ต้องขังคดีไม่รุนแรงในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลอสแองเจลิสไปทางตะวันออกราว 80 กิโลเมตร กลายเป็นเรือนจำแรกที่เข้าร่วมกับกรมป่าไม้ ด้วยการจัดตั้งค่ายดูแลป่า 14 แห่ง ค่ายแห่งแรกเปิดบนพื้นที่ขนาด 10 เอเคอร์ ที่ภูเขาพาโลมาร์ ในป่าสงวนแห่งชาติคลีฟแลนด์ (จนถึงปี 2014 มีค่ายดูแลป่าไม้เกือบ 40 แห่งทั่วทั้งรัฐ

จากรายงานของกรมป่าไม้และหน่วยป้องกันอัคคีภัยของรัฐแคลิฟอร์เนียระบุว่า มีผู้ต้องขังทำหน้าที่ช่วยเหลือดับไฟป่าและปกป้องไฟป่ามากกว่า 3 ล้านชั่วโมงต่อปี 

ผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่ได้ถูกบังคับมาดับไฟป่า แต่ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครซึ่งต้องผ่านกระบวนการคัดกรองหลายด่าน (แน่นอนว่าไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดรุนแรงหรือคดีลอบวางเพลิงทำหน้าที่นี้ได้) หลังผ่านการคัดกรอง พวกเขาจะถูกส่งไปฝึกอบรมพื้นฐานและทำงานสาธารณะพื้นฐานทั่วไป เมื่อพวกเขาเริ่มมีประสบการณ์ก็จะถูกส่งไปอบรมพิเศษเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยเผชิญเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นเหตุอัคคีภัย น้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมถึงหน่วยปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย 

นอกจากค่าแรงเล็กน้อยที่ผู้ต้องขังได้รับแล้ว พวกเขายังได้รับการลดหย่อนโทษ ได้รับการพักงาน ได้รู้สึกถึงอิสระส่วนตัวที่มากขึ้นเล็กน้อยจากความเสียสละและความพยายามที่ได้ลงแรงไป นอกเหนือเวลาที่วิกฤต ผู้ต้องขังยังได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือพัฒนาชุมชนในแถบชนบท ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังสามารถช่วยลดความแตกแยกทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เปลี่ยนผู้ต้องขังให้กลายเป็นกองทัพปกป้องบ้านเรือนและธรรมชาติในประเทศ พวกเขาทำงานทุกรูปแบบเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติจากไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลียร์เศษไม้กิ่งไม้รอบแนวป่าเพื่อไม่ให้ลุกลามไว สร้างกำแพงกันไฟ ปรับระดับดิน ระดับถนน และทำแนวป้องกันไฟ 

นักโทษกำลังฝึกช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ในเรือนจำ Tehachapi ค.ศ. 1959

ประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างเรียกผู้ต้องขังในค่ายเหล่านี้ว่าทหารและเรียกที่ทำงานของพวกเขาว่าเป็นสนามเพลาะหรือสนามรบ’ 

สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐ มักจะพูดอย่างให้เกียรติผู้ต้องขังเหล่านี้ 

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ช่วยเหลือน้ำท่วม เหตุเครื่องบินตก หรือเหตุแผ่นดินไหว หากหน่วยช่วยเหลือที่เข้าไปเป็นผู้ต้องขัง พวกเขามักจะพูดให้เครดิตผู้ต้องขังเหล่านี้และชื่นชมเป็นอันดับแรกก่อนเสมอ สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่มองตนเองว่าเป็นคนไร้ค่า ไม่มองว่าเป็นบุคคลที่สังคมไม่ต้องการ ความลำบากและการต่อสู้กับภัยอันตรายทำให้พวกเขาเหล่านี้ต่างมองเห็นคุณค่าในตนเอง 

จากรายงานประจำปีของกรมราชทัณฑ์ในช่วงเวลานั้น ผู้ต้องขังที่ทำหน้าที่เหล่านี้กล่าวว่าตนเองนั้นเหมือนทหารที่ยืนเฝ้าอยู่หอคอย เฝ้ามองคุ้มกันการโจมตีทางอากาศ รู้สึกเหมือนเป็นผู้พิทักษ์มากกว่านักโทษ

หากมองดูแล้วโครงการเหล่านี้ นอกจากจะสร้างโอกาสในการฟื้นฟูและปกป้องผืนป่าแล้ว มันยังช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ช่วยเหลือด้วยเช่นกัน นักโทษช่วยเหลือป่า และป่าก็ช่วยคนเหล่านั้น 

หากความเลวร้ายของเมืองและความเสื่อมโทรมของสังคมได้ทำลายความประพฤติและความเป็นพลเมืองที่ดีของพวกเขา ป่าไม้ ภูเขา และความใกล้ชิดกับชาวบ้านในชนบทก็สามารถเป็นยาแก้พิษที่ช่วยเหลือให้พวกเขาเป็นคนที่ดีขึ้นได้

เวย์น ฮันนิคัทท์ (Wayne Hunnicutt) อดีตผู้ต้องขัง กล่าวถึงชุมชนที่เขาได้ช่วยเหลืออยู่บ่อยครั้งว่าพวกเขามักมอบสิ่งของให้ผู้ต้องขังอยู่หลายครั้ง และไม่มีใครปฏิบัติกับเราเหมือนนักโทษ” 

ชาร์ลส์ ดีน (Charles Dean) หนึ่งในอาสาสมัครนักดับเพลิงในปี 1954-1955 ผู้เคยทำงานเคียงข้างกับผู้ต้องขังกล่าวว่าในทีมของเรานั้น ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกัน

ในจดหมายฉบับหนึ่งของปี 1961 ที่ชาวบ้านคนหนึ่งส่งให้กับผู้ต้องขังที่แชมเบอร์เลนครีก มีใจความว่า ฉันอยากจะขอบคุณกลุ่มดับเพลิงที่ 1 สำหรับการต่อสู้และควบคุมไฟที่เกิร์นวิลฉันได้ยินผู้หญิงคนหนึ่งพูดว่าผู้ชายเหล่านั้นมาจากอาสาสมัคร เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใส่เครื่องแบบชุดสีน้ำเงิน มันคล้ายกับชุดเครื่องแบบที่ทหารเรือสวม ไฟได้ตกลงมาที่ระเบียงหลังบ้านฉัน ตรงที่ฉันแขวนเสื้อที่ซักเสร็จแล้วอยู่ แล้วพวกเขาก็เข้ามาทันที แล้วไฟก็ดับลง พวกเขาไม่ได้ทำให้เสื้อผ้าของฉันสกปรกด้วยซ้ำ’ … จากนั้นฉันก็บอกผู้หญิงคนนั้นว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นนักโทษ หลังจากนั้นเธอก็พูดว่าฉันไม่สนหรอกว่าพวกเขาเป็นใคร พวกเขาช่วยบ้านของฉันไว้’”

ปี ค.. 1964 ชาวเครสต์ไลน์ในเทือกเขาซานเบอร์นาดิโนเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแสดงความขอบคุณ พร้อมกับหนังสือที่ชื่นชมและแสดงความขอบคุณที่มีลายเซ็นมากกว่า 1,300 ลายเซ็น พวกเขายังสร้างรูปปั้นเพื่อรำลึกถึงหน่วยดับเพลิงที่เต็มไปด้วยผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์แคลิฟอร์เนียเรียกหน่วยดับเพลิงนี้ว่ากองทัพแคลิฟอร์เนียที่ไม่เหมือนใคร

ปี ค.. 1960 สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อจำนวนนักโทษในเรือนจำของรัฐเริ่มลดลงเป็นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ อาสาสมัครจากเรือนจำก็ลดน้อยลง แทนที่ด้วยอาสาสมัครจากประชาชนและชุมชนมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังและชุมชนก็เริ่มลดเลือนหายไป

นักโทษกำลังเดินแถวไปดับไฟป่าที่เผาไหม้ไปกว่า 24000 เอเคอร์ มิถุนายน 1966

ปัจจุบันยังคงมีผู้ต้องขังทำหน้าที่ดับไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นราว 30 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าทั้งหมด หากทำงานตลอดทั้งวัน พวกเขาได้รับค่าแรงที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินไม่ถึง 2 ดอลลาร์ต่อวัน แต่สิ่งที่เขาได้มากกว่านั้น คือการลดหย่อนโทษจำคุก โดยลดจำนวนที่ต้องถูกกักขัง 2 วันสำหรับการทำงานทุกวัน 

แม้จะดูได้เงินน้อยและลำบาก แต่ผู้ต้องขังเหล่านี้ต่างหวังว่า การทำหน้าที่ช่วยดับไฟป่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐได้หลายล้านดอลลาร์ ทั้งยังทำให้เขาและสังคมมองเห็นคุณค่าของผู้ต้องขังว่า การกระทำผิดเพียงหนึ่งครั้งไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำผิดตลอดไป

แหล่งข้อมูล :