2 Min

‘วัดรอบเอว’ เป็นประจำ ช่วยเลี่ยงปัญหาด้านสุขภาพ

2 Min
851 Views
27 May 2022

เทรนด์รักสุขภาพกำลังเป็นกระแส และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีแนวทางเพื่อสุขภาพออกมามากมาย 

ล่าสุดแนวทางจากสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (National Institute for Health and Care Excellence: NICE) ของประเทศอังกฤษ ได้ออกคำแนะนำให้เช็กสุขภาพกันมากขึ้น ด้วยการหมั่นวัดขนาดรอบเอว เพื่อประเมินไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้อง เนื่องจากเป็นสาเหตุใหญ่ที่เพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคอันตรายต่างๆ 

พร้อมกับเตือนด้วยว่า ถึงแม้บางคนจะมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็อาจจะมีขนาดรอบเอวที่มากเกินไป หรือเรียกได้ว่ามีโอกาสที่ไขมันหน้าท้องจะเกินมาตรฐาน ฉะนั้นควรมีขนาดรอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีความสูง 175 เซนติเมตร (5 ฟุต 9 นิ้ว) ควรมีขนาดรอบเอวที่น้อยกว่า 87.5 เซนติเมตร (34 นิ้ว) ซึ่งหากวัดแล้วพบว่ามีขนาดรอบเอวมากเกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง ควรหันมาใส่ใจการควบคุมน้ำหนักและดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้การใช้เกณฑ์ดังกล่าวเพื่อวัดอัตราส่วนของรอบเอวต่อส่วนสูงนั้น สามารถใช้ได้กับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีมวลกล้ามเนื้อมาก ขณะเดียวกันมันไม่สามารถใช้ได้ผลกับคนที่มีส่วนสูงน้อยกว่ามาตรฐาน หรือคนที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 อีกทั้งสตรีมีครรภ์ กระทั่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (เพราะอาจสูญเสียส่วนสูงเมื่ออายุมากขึ้น)

การวัดขนาดรอบเอวที่ถูกต้องควรเริ่มต้นวัดจากบริเวณของซี่โครงและส่วนบนของสะโพก โดยพันสายวัดไว้ตรงกลางระหว่างจุดดังกล่าว ขณะวัดรอบเอวก็ควรหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ ไม่ต้องเกร็งหน้าท้อง หรือหายใจเข้าเก็บลมเข้าท้องนานเกินไป

นอกจากนี้สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ ยังระบุอีกว่า ผู้คนจากกลุ่มชาติพันธุ์เอเชียบางกลุ่ม และกลุ่มคนผิวสีมีแนวโน้มที่จะมีไขมันสะสมบริเวณรอบเอว หรือภาวะอ้วนลงพุงมากกว่าคนกลุ่มอื่น

ราเชล แบตเตอร์แฮม (Rachel Batterham) ที่ปรึกษาด้านโรคอ้วน โรคเบาหวาน และต่อมไร้ท่อ กล่าวว่า ไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้องช่วยบอกความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ได้ อาทิ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจ 

อัตราส่วนระหว่างรอบเอวต่อส่วนสูงเป็นการวัดที่เรียบง่าย ใช้งานง่าย สามารถบอกถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ควบคุมน้ำหนัก เพื่อดูแลสุขภาพของตัวเอง

ขณะที่บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักว่าควรปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทั้งการกินอาหารและการออกกำลังกายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ดร.พอล คริสป์ (Dr. Paul Chrisp) ผู้อำนวยการศูนย์แนวทางปฏิบัติของ NICE กล่าวว่า แนวทางฉบับปรับปรุงนี้จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขา และเรียนรู้วิธีว่าจะจัดการกับมันได้อย่างไร

อ้างอิง