จากประโยค “พวกผมเป็นเด็กอาชีวะเรียนมาน้อย ขออยู่หน้าเพื่อใช้กำลังปกป้องพวกพี่…” ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหยิบยกประเด็นเรื่องคุณค่าของการเรียนอาชีวะมาพูดคุยกันมากขึ้น
ข้อมูลจากหลายด้านพอบอกให้รู้ว่าการเรียนสายอาชีวะไม่เป็นที่นิยม และสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าสายสามัญ แถมเงินเดือนยังน้อยกว่าปริญญาตรี แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานที่ชัดเจนว่าในตลาดแรงงานสายอาชีวะยังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ไปจนถึงขาดแคลนบุคลากรนับหมื่นต่อปี
แต่ในอีกทางหนึ่งการจะเรียนอะไร เลือกเส้นทางอาชีพไหน ก็เป็นแค่ตัวเลือกที่ต่างกัน และไม่มีใครสำคัญไปมากกว่าใคร
“พวกผมเป็นเด็กอาชีวะเรียนมาน้อย ขออยู่หน้าเพื่อใช้กำลังปกป้องพวกพี่
เผื่อว่าพวกผมตาย…พวกพี่จะได้ใช้สมองพัฒนาประเทศต่อไป”
นี่คือประโยคที่เด็กอาชีวะ ซึ่งอาสาเป็นหน่วยแนวหน้าในการชุมนุมประท้วงก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516
ครั้งนั้นนักเรียนอาชีวะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้อย่างมาก กระทั่งกาลเวลาเดินทางมาถึงการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 ประโยคนี้ถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังกลุ่มอาชีวะอาสาเป็นการ์ดแนวหน้าในการชุมนุม เมื่อมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

https://www.komchadluek.net/news/scoop/166358
คำถามก็คือ เด็กอาชีวะนั้นเรียนมาน้อย และไม่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศเท่ากับเด็กสามัญจริงหรือ?
ถ้าหากเราโฟกัสที่คำว่า “เรียนน้อย” คงต้องนำไปสู่คำถามที่ตามมาเรื่อยๆ ว่า “น้อย” แปลว่าอะไร เพราะถ้าหากเทียบเคียงกับการศึกษาสายสามัญแล้ว การเรียนจนถึงระดับปวส. ใช้เวลาไม่ได้ต่างจากการเรียนมัธยมปลายไปจนจบปริญญาตรี เพียงแค่รูปแบบการเรียนอาจมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการเรียนสายอาชีวะเน้นการเรียนในภาคปฏิบัติมากกว่า
แต่ในความแตกต่างนั้นจะนำมาเปรียบเทียบว่า “น้อย” หรือ “มาก” อาจไม่สามารถทำได้

https://www.npc-se.co.th/coursedetail-89
เมื่อดูตามความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน เราจะพบแรงงานสายอาชีพนั้นยังขาดแคลนอยู่มาก
ในปี 2560 มีการประเมินว่าแรงงานในระบบอาชีวะของไทยขาดแคลนอย่างน้อย 2 หมื่นคนต่อปี แต่ในการพัฒนาเศรษฐกิจในงานสายอาชีวะนั้นยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ รายงาน Human Capital Report 2016 ระบุถึงสัดส่วนของแรงงานฝีมือของประเทศสวีเดน, เยอรมนี, สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 48% ส่วนประเทศส่วนไทยมีเพียง 14.4% เท่านั้น
แม้จะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ค่านิยมในสังคมกลับให้ค่าเด็กอาชีวะน้อยกว่าเด็กสามัญ หรือกระทั่งมีคำพูดในบ้านว่า “ยังไงก็ขอให้มีลูกจบปริญญาสักคน” ส่งผลให้ปัจจุบันเด็กนักเรียนเมื่อจบชั้น ม.3 ตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีพ 30% สายสามัญ 70% ซึ่งทางคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กำลังพยายามรณรงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเรียนต่อสายอาชีพเป็น 50% ในอนาคต
แม้หลายรัฐบางที่ผ่านมาจะพยายามส่งเสริมให้เด็กเลือกเรียนสายอาชีวะมากขึ้น แต่ค่านิยมว่าการเรียนจบปริญญา “ดีกว่า” เรียนสายอาชีพก็ยังไม่หายไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่านิยมเด็กเรียนสายวิชาการ เรียนวิทย์-คณิตเท่ากับคนฉลาด สายศิลป์คือไม่เก่ง และสายอาชีพแย่ยิ่งกว่า ดังนั้น สังคมส่วนหนึ่งจึงมองว่าเด็กเรียนสายอาชีพคือคนที่ “ไม่เก่ง” ตามมาตรฐาน

https://www.thairath.co.th/news/local/1590258
ค่านิยมในสังคมเป็นส่วนหนึ่ง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าจ้างเป็นส่วนสำคัญ เพราะค่าแรงขั้นต่ำตามวุฒิการศึกษาของสายอาชีวะนั้นน้อยกว่าสายสามัญอย่างเห็นได้ชัด
หากอ้างอิงจากมาตรการเยียวยาในช่วงโควิด-19 จะพบว่ามาตรการสนับสนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่โดยที่รัฐจะออกค่าจ้างให้ 50% เป็นระยะเวลา 12 เดือน อัตราค่าจ้างของสายอาชีวะจะต่ำกว่าปริญญาตรี ดังนี้
ปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท
ปวส. เดือนละ 11,500 บาท
ปวช. เดือนละ 9,400 บาท
ทั้งๆ ที่อัตราจ้างซึ่งเป็นเรื่องของ ‘ราคา’ ไม่ใช่สิ่งที่จะวัด ‘คุณค่า’ ว่าใครดีหรือด้อยกว่าใครอีกคน
ทว่าคำพูดอาสาไปเป็นแนวหน้าปะทะในการชุมนุมในอดีตและวันนี้ ยังคงสะท้อนว่ากลุ่มนักเรียนอาชีวะอาจมองคนที่เรียนสายสามัญมีคุณค่ามากกว่า
แต่แท้จริงแล้วไม่มีใครที่มีคุณค่าดีหรือด้อยกว่าใคร หรือต้องรู้สึกว่าตัวเองสามารถ “เสียหายได้” เพราะไม่ใช่คนสำคัญ ไม่ใช่เลย
แล้วคุณล่ะ คิดกับการเรียนสายอาชีวะอย่างไร?
อ้างอิง:
- ประชาไท.ใครๆ ก็เชียร์ ‘สายอาชีวะ’ แต่ทำไมเด็กไม่เลือกเรียน?.https://bit.ly/3eF1iMQ
- เดลินิวส์. อาชีวะรุกเคาะประตูชวนเด็กเรียนอาชีพตามโจทย์ประเทศ. https://bit.ly/38CChRF
- ไทยรัฐ. วิกฤติ! แรงงานขาดแคลน ทำไม เด็กไทยเรียนอาชีวะน้อยลง?.https://bit.ly/3paQCKN
- ฐานเศรษฐกิจ. ไทยขาดแรงงานอาชีวะปีละ 2 หมื่นคน. https://bit.ly/2GHOHvL
- The Bangkok Insight. นายจ้างมีเฮ! รัฐช่วยเงินค่าจ้าง50% ยาว 1 ปี จ้างงานเด็กจบใหม่ 2.6 แสนคน. https://bit.ly/3p4ySAC