เจาะลึก ‘สถาบันวิทยสิริเมธี’ แหล่งบ่มเพาะนักวิทย์ นักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่ประเทศนวัตกรรมก้าวหน้า
เมื่อยุคสมัยนี้ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามามีบทบาทในหลากหลายมิติ ทำให้เรื่องของทักษะ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงเป็นเหมือนหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
เช่นนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้องค์กรยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่างกลุ่ม ปตท. ร่วมกับพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน สร้างสถาบันทางการศึกษา เพื่อหวังเป็น ‘แหล่งบ่มเพาะบัณฑิตและนักวิจัย’ ที่มีทักษะความรู้ ความสามารถ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ด้วยผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยเฉพาะ
สถาบันการศึกษาที่กำลังพูดถึงมีชื่อว่า ‘สถาบันวิทยสิริเมธี’ หรือ ‘VISTEC’ (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology) โดยตั้งอยู่ในส่วนของวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง หรือบนพื้นที่เพื่อการศึกษา และการเรียนรู้ในเมืองแห่งนวัตกรรม
สำหรับสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นสถาบันการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนเฉพาะทาง รวมถึงเปิดโอกาสให้กับคนที่มีความสนใจ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อก้าวไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ
โดยปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้เปิดสอนด้วยกัน 4 สำนักวิชา ได้แก่
- สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE)
- สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE)
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE)
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST)
ซึ่งแต่ละสำนักวิชาของที่นี่ ได้ทำ ‘การเรียนการสอนแบบบูรณาการ’ เน้นสร้างสรรค์งานวิจัยเชิงลึก สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล สามารถก่อให้เกิดเทคโนโลยี และนวัตกรรม อันเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศในอนาคต
นอกเหนือจากการเรียนการสอนที่ทำให้คนเก่งสายวิทย์หลายคนสนใจแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างคือ คนที่ได้รับเลือกเข้ามาศึกษาที่แห่งนี้ จะได้รับ ‘ทุนเรียนฟรี’ แบบไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แถมได้รับค่าใช้จ่ายรายเดือน มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย
พร้อมทั้งนี้ก็มี ‘ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า’ หรือ Frontier Research Center (FRC)ที่ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ล้ำสมัย เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จึงเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะบัณฑิตของที่นี่ ‘ได้ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ’ เช่น มหาวิทยาลัย Oxford, มหาวิทยาลัย Munich, มหาวิทยาลัย Bordeaux อีกทั้งได้ผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสูง ซึ่ง ‘ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก’ หลายฉบับ
รวมถึง ‘ได้รับการจัดอันดับงานวิจัยที่มีคุณภาพ’ จากดัชนีวารสารชั้นนำระดับโลก Nature Index Ranking ให้อยู่ในอันดับที่ 1 ของไทยด้านเคมี
โดยขอยกตัวอย่าง ผลงานวิจัย ‘การค้นหาตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยปัญญาประดิษฐ์และการคำนวณเคมีคอมพิวเตอร์’ และผลงานประดิษฐ์คิดค้น ‘สร้างโรงงานต้นแบบสำหรับกระบวนการผลิตไบโอเอทิลีน จากไบโอเอทานอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์สองมิติ’ ที่เพิ่งได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2567
นอกจากนี้ พื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ ยังได้รับบรรจุอยู่ในแผนของภาครัฐให้เป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi
และการมี หน่วยงานหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ร่วมกัน รวมถึงการเชื่อมต่อองค์ความรู้ไปสู่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มั่นคง
อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยต้องการผลักดัน หรือขับเคลื่อนให้ไปสู่ประเทศนวัตกรรมนั้น สถาบันวิทยสิริเมธีถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก้าวไปสู่เป้าหมาย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งคณาจารย์ นิสิต และนักวิจัย ได้มาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยมีการสนับสนุนที่เพียงพอในด้านงบประมาณ ทุนวิจัย และกองทุนต่าง ๆ
สามารถส่งเสริมการศึกษา พัฒนานวัตกรรม ตลอดจนบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยคุณภาพได้