5 Min

เสียงเพลงใต้เงาสงคราม ย้อนฟัง 5 เพลงยุค ‘สงครามเวียดนาม’ ในวาระ 5 ทศวรรษของการสิ้นสุดสงคราม

5 Min
170 Views
30 Apr 2025

เมื่อรถถังของฝ่ายเวียดนามเหนือเคลื่อนตัวเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้ในเมืองไซ่ง่อน (ที่ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์) ในวันที่ 30 เมษายน 1975 ก็ถือเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามที่กินเวลาราวๆ 20 ปี 

แม้จะเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์การขยายอำนาจของชาติมหาอำนาจที่คว้าชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่รู้จักกันในนาม ‘สงครามเย็น’ 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สงครามเวียดนาม’ หรือ ‘สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2’ นอกจากจะทิ้งร่องรอย ‘บาดแผล’ ให้กับผู้คนจำนวนมากแล้ว ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อันเป็นจุดพลิกผันสำคัญครั้งหนึ่งในสงครามเย็น

อีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะชาติฝ่ายโลกเสรีอันมีที่ตั้งใกล้เคียงกับเวียดนาม และต้องให้ความสนับสนุนแก่สหรัฐฯ (ขณะที่สหรัฐฯ ก็สนับสนุนไทยอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน) เพื่อป้องกันอิทธิพลของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ค่อยๆ คืบคลานมาในแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยภายใต้เงื้อมเงาแห่งสงครามอันยาวนานและเกี่ยวพันกับผู้คนหลากหลายประเทศ ยังมี ‘เสียงเพลง’ ที่เป็นดังภาพสะท้อนวิธีคิดของผู้คนและบทบันทึกบรรยากาศในห้วงเวลาดังกล่าวคลอมาตามสายลมแห่งชะตากรรมของผู้คน

ในวาระครึ่งศตวรรษแห่งการยุติของสงคราม เราจึงชวนย้อนมองเรื่องราวของสงครามผ่านมิติวัฒนธรรม กับ 5 บทเพลง ทั้งไทยและเทศในช่วงเวลาหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์โลกอันสัมพันธ์กับประเทศไทย

[Masters of War (1963) – Bob Dylan]

“Come you masters of war

You that build the big guns

You that build the death planes

You that build all the bombs

You that hide behind walls

You that hide behind desks

I just want you to know

 I can see through your masks”

นี่คือเพลงประท้วง (Protest song) ที่ถูกใช้มากที่สุดเพลงหนึ่งในขบวนการประท้วงต่อต้านสงครามและเรียกร้องสิทธิพลเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 ของสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดที่เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2025 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Rolling Stone ได้ยกย่องให้เป็นเพลงประท้วงที่ดีที่สุดตลอดกาลอันดับที่ 6 เลยทีเดียว

เพลงนี้เขียนโดยราชาเพลงโฟล์ก ‘บ๊อบ ดีแลน’ (Bob Dylan) ขณะที่เขามีอายุราว 20 ปีเท่านั้น โดยบ๊อบได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงผู้มีอำนาจที่มีส่วนในการก่อสงครามอย่างตรงไปตรงมาต่างจากเพลงอื่นๆ 

บ๊อบเคยระบุถึงการเขียนเพลงนี้ว่า “ผมไม่เคยเขียนอะไรแบบนั้นมาก่อน ปกติผมไม่ได้ร้องเพลงที่หวังให้ใครตาย แต่กับเพลงนี้ ผมอดไม่ได้จริงๆ”

ในห้วงเวลาดังกล่าวตรงกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ (John F. Kennedy) ที่เริ่มยกระดับการสนับสนุนเวียดนามใต้มากขึ้น เช่น เพิ่มที่ปรึกษาทางทหาร, ก่อตั้งหน่วย Military Assistance Command, Vietnam (MACV) เพื่อประสานงานและช่วยเหลือกองทัพเวียดนามใต้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็นต้น

[เสียงสั่งจากจงอางศึก (1967) – เพลิน พรหมแดน]

“เห็นหมู่สกุณามันบินถลาเมื่อเวลาจะค่ำ 

พี่จากน้องมารบยังแดนเวียดนาม

หน่วยรบอันมีชื่อว่าจงอางศึกไทย”

ในปี 2510 (1967) ประเทศไทยใต้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีการส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเวียดนามกับชาติโลกเสรีอื่นๆ โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยกำลังผสมเฉพาะกิจ ‘กรมทหารอาสาสมัคร’ หรือที่รู้จักกันในสมญา ‘จงอางศึก’ (Queen Cobra) ซึ่งอยู่ภายใต้กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ก่อนที่จะถูกผลัดเปลี่ยนกับ ‘กองพลทหารอาสาสมัคร’ หรือ ‘กองพลเสือดำ’ ในเวลาไม่นาน

ทั้งนี้การไปรบของกองพันจงอางศึกในต่างแดนครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นการไปเพื่อปราบภัยคอมมิวนิสต์ไม่ให้เข้ามายังประเทศไทย และยังเป็นปรากฏการณ์ในระดับที่ศิลปินทั้งลูกทุ่งและลูกกรุงพร้อมใจกันออกมาสะท้อนเรื่องราวของ ‘จงอางศึก’ ในแง่มุมของความเห็นใจและเอาใจช่วย ไม่ว่าจะเป็น พร ภิรมย์, ชรินทร์ นันทนาคร, ชินกร ไกรลาศ

รวมไปถึง ‘เพลิน พรหมแดน’ ในเพลงชื่อ ‘เสียงสั่งจากจงอางศึก’ ที่พรรณนาถึงชายผู้หนึ่งที่ต้องห่างหญิงสาวคนรักมายังสนามรบต่างแดน โดยก่อนจากลาได้บอกหญิงคนรักให้ภูมิใจที่คนรักไปรบเพื่อชาติและขอให้เธอมั่นคงในความรักที่มีต่อตนเอง

[Đường Trường Sơn xe anh qua (1968) – Văn Dung]

(หมายเหตุ: ไม่พบเวอร์ชันต้นฉบับ)

“Ơi cô gái Trường Sơn 

Bao đêm em đi mở đường 

Cho từng chuyến xe anh qua 

Vang giọng hát em ngân xa”

เพลงจากฟากฝั่งเวียดนามเหนือที่ถูกเขียนโดย ‘วัน ดุง’ (Văn Dung) อดีตหัวหน้าแผนกดนตรีของสถานีวิทยุ Voice of Vietnam หรือสถานีวิทยุของฝ่ายเวียดนามเหนือ หนึ่งในนักแต่งเพลงผู้เลื่องชื่อในช่วงสงคราม 

เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นขณะที่เขาอยู่พื้นที่แนวหน้าเคซันห์ (Khe Sanh) ที่เวียดนามใต้ ซึ่งตรงกับช่วงปฏิบัติการ ‘ยุทธการเคซันห์’ ในปี 1968 ที่กองกำลังเวียดนามเหนือสู้รบกับหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ 

เพลงนี้มีเนื้อหายกย่อง ‘อาสาสมัครเยาวชนหญิง’ ที่พร้อมอุทิศวัยเยาว์ในการทำเพื่อชาติ โดยทำหน้าที่เปิดเส้นทางและช่วยลำเลียงเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์จากเวียดนามเหนือสู่เวียดนามใต้บนเส้นทางลับที่ชื่อว่า ‘Trường Sơn‘ หรือ ‘เส้นทางโฮจิมินห์’ ที่เป็นเส้นทางอันคดเคี้ยวพาดผ่านภูเขาและป่าไม้ยาวนับหมื่นกิโลเมตร ครอบคลุมพรหมแดนของ 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เพื่อหลบเลี่ยงการโจมตีของฝั่งสหรัฐฯ และเวียดนามใต้

[Tinh Yêu Tuyệt Vời (The Greatest Love; 1972) – CBC Band]

“Tình yêu tuyệt vời như đóa hoa tươi

Tình yêu tuyệt vời như áng thơ hay

Tình yêu tuyệt vời như áng mây bay

Tình yêu tuyệt vời yêu đắm yêu say.”

เพลงรักอันเร่าร้อนเช่นเดียวกับดนตรีที่เร่าร้อนไม่แพ้กัน หากเพลงก่อนหน้าเป็นภาพสะท้อนจากฝั่งเวียดนามเหนือ เพลงนี้ก็เป็นดังภาพสะท้อนจากฝั่งเวียดนามใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐฯ ในมิติวัฒนธรรม และถูกถ่ายทอดผ่านดนตรีแบบ Psychedelic rock ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 ในสหรัฐฯ

ทว่าในสายตาของทั้งฝั่งเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้เอง ดูจะไม่พอใจกับอิทธิพลนี้มากนัก เพราะฝั่งเวียดนามเหนือจะมองว่าเป็น ‘สงครามจิตวิทยา’ มอมเมาเยาวชนให้พ้นจากการต่อสู้ ส่วนฝั่งเวียดนามใต้ก็ครหาว่าเป็นการ ‘ละทิ้งอัตลักษณ์’ ของชาติ

เพลงนี้ถูกถ่ายทอดโดยวง Con Bà Cu หรือ CBC Band ที่หมายถึง ‘ลูกของแม่’ เพราะ 3 ผู้ร่วมก่อตั้งวง ตุง ลินห์ (Tung Linh), บิช โลน (Bich Loan) และ ตุง ฟาน (Tung Van) เป็นพี่น้องกัน และก่อตั้งวงขึ้นมาเพื่อหาเงินให้แม่ หลังจากที่พี่ชายคนหนึ่งของพวกเขาถูกเกณฑ์ไปร่วมกองทัพของเวียดนามใต้และนำดนตรีแบบเวียดนามกับแบบตะวันตกมาถ่ายทอด

แต่ในช่วงท้ายๆ ของสงคราม พวกเขาจำต้องลี้ภัยออกจากเวียดนามท่ามกลางการรุกคืบของฝั่งเวียดนามเหนือ และการล่มสลายทีละน้อยของฝั่งเวียดนามใต้ จนในที่สุดพวกเขาก็ได้ไปตั้งรกรากกันใหม่ที่สหรัฐอเมริกา

[แหม่มปลาร้า (1974) – สายัณห์ สัญญา]

“ทำไมไม่ไปอยู่อเมริกา 

คุณหญิงดอลลาร์กลับมาทำไมเมืองไทย

ไปกินหมูแฮม ไข่ดาวหนมปังอันใหญ่

ไอ้หนุ่มจีไอมันคอยเอาใจเอาใจโอ้โอ๋”

บทเพลงไทยปลายยุคสงครามเวียดนามจากปลายปากกาของ ‘เทวดาเพลง’ ชลธี ธารทอง ที่ยิ่งตอกย้ำชื่อเสียงให้กับ ‘สายัณห์ สัญญา’ ในฐานะผู้ถ่ายทอดเพลงนี้ 

โดยเป็นการเสียดสีหญิงไทยที่เป็น ‘เมียเช่า’ ของทหาร ‘จีไอ’ ในวันที่ทหารสหรัฐฯ ค่อยๆ ถอนกำลังออกจากประเทศไทยภายหลังการลงนามข้อตกลงหยุดยิงหรือ ‘ข้อตกลงสันติภาพปารีส’ ร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ ในปี 1973 

เพราะการใช้ไทยเป็นฐานทัพอากาศในหลายๆ พื้นที่ ทำให้พื้นที่เหล่านี้ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับเม็ดเงินจำนวนจากทหารสหรัฐฯ ในวัยฉกรรจ์ที่ต้องการความบันเทิงเริงใจในยามที่ไม่ได้ต้องไปสู้ศึกสงคราม จึงนำไปสู่การผุดขึ้นของโรงแรม สถานบันเทิง บังกะโล ร้านอาหารจำนวนมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ในมิติสังคม วัฒนธรรมที่หลายอย่างก็ส่งผลมาถึงปัจจุบัน 

การถอนทัพของทหารสหรัฐฯ จึงเป็นดั่งแรงกระชากให้คนบางส่วนตื่นจากฝันอันเพริศแพร้วกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง เฉกเช่นสนามบินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ต่างกัน

อ้างอิง