3 Min

นักวิจัยพบคนกิน ‘ไวอากร้า’ เป็นประจำ ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

3 Min
3747 Views
10 Apr 2021

ไวอากร้า (Viagra) คือ “ความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์” อย่างหนึ่ง เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่วิทยาศาสตร์สามารถให้ “โซลูชั่น” กับปัญหาคลาสสิคของมนุษย์ผู้ชายในวัยชรา

ซึ่งปัญหาที่ว่าก็คือปัญหา “นกเขาไม่ขัน” แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่า ไปๆ มาๆ ไวอากร้าอาจไปช่วยแก้ปัญหาอื่นที่สำคัญก็ได้ และปัญหาที่ว่าก็คือ “โรคหัวใจ”

Viagra

Viagra | Wikipedia

กลับสู่ต้นกำเนิดไวอากร้า

ถ้าใครรู้ต้นกำเนิดของไวอากร้า คงไม่แปลกใจนักที่ไวอากร้าจะส่งผลดีต่อโรคหัวใจ เพราะดั้งเดิมไวอากร้าถูกพัฒนามาเพื่อ “ลดความดัน” หรือทำการขยายหลอดเลือดเพื่อให้ความดันในเส้นเลือดในร่างการมนุษย์ลดลง

แต่ไปๆ มาๆ ไวอากร้าไม่ได้ไปเน้นขยายหลอดเลือดทั้งร่างกาย แต่ดันไปขยายหลอดเลือดเฉพาะจุดแทน เรียกได้ว่าทำยาลดความดัน แต่ดันออกมาเป็นยาที่ทำให้เลือดไปคั่งที่ ‘กระเจี๊ยว’ แทน

ทางบริษัท Pfizer ที่พัฒนายาตัวนี้มาแล้วก็เลยรู้สึกว่า ไหนๆ จะเอาไปขายในฐานะ “ยาลดความดัน” ไม่ได้ ก็เอามาขายในฐานะยาแก้ “นกเขาไม่ขัน” ดีกว่า และมันก็ดังเป็นพลุแตกในเวลาต่อมา

ซึ่งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ไวอากร้าก็หมดสิทธิบัตรเรียบร้อย หรือมันเป็น “ยาสามัญ” แบบพาราเซตามอลที่ใครๆ ก็ผลิตได้ ไม่ได้ถูกผูกขาดโดย Pfizer อีก (ชื่อสามัญของไวอากร้าคือ Sidenafil ในไทยก็มีผลิต ยี่ห้อชื่อ Sidegra) ส่งผลให้ราคาลดต่ำลงมาก และทำให้อาการ “นกเขาไม่ขัน” เป็นเรื่องเล็กของมนุษยชาติไปแล้ว

แต่การที่ไวอากร้าแพร่หลายขึ้น มันก็เกิดความกังวลว่าคนซื้อหาไปกินเองจะ “อันตราย” หรือเปล่า โดยเฉพาะกลุ่มคนเป็น “โรคหัวใจ” เพราะถ้าใครเคยกินก็คงจะรู้ว่าจะทำให้เลือดลมสูบฉีดสุดๆ รู้สึกหัวใจเต้นแรง จนบางคนกลัวว่าจะหัวใจวาย และจริงๆ เราก็ได้ข่าวเนืองๆ ว่าพวก “พ่อเฒ่า” ที่ “ตายคาอก” สาวๆ นั้น หลายคนก็ตายเพราะหัวใจวายเนื่องจากกินไวอากร้า

แต่หารู้ไม่ จริงๆ จาก “ผลการทดลอง” ของทีมวิจัยที่สวีเดน ผลกลับตรงกันข้ามเลย เพราะเขาพบว่า คนที่กินไวอากร้าเป็นประจำ ความเสี่ยงของการ “หัวใจวาย” และพวกโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจจะลดลงหมด

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

อย่างที่เล่ามาแต่แรก ไวอากร้าคือยา “ลดความดัน” ที่ผ่านการ “ขยายหลอดเลือด” อยู่แล้ว ซึ่งทุกวันนี้คนที่มีภาวะ “ความดันโลหิตสูง” หลายๆ คน หมอก็ต้องจ่ายยา “ขยายหลอดเลือด” อยู่แล้ว ซึ่งการกินไวอากร้าก็เหมือนเป็นการเพิ่มเอฟเฟคยาเข้าไปขยายหลอดเลือดมากขึ้น

ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า พวกโรคกลุ่มหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด ถือว่า “ความดันโลหิตสูง” เป็นสาเหตุ เพราะยิ่งสูง มันยิ่งทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย และการกินยาลดความดันก็คือการชะลอความเสียหายของหลอดเลือดนั่นเอง

ตรงนี้ แม้ว่า “ไวอากร้า” จะเป็น “ยาลดความดันที่ผิดพลาด” แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้กินไปแล้วความดันไม่ได้ลด ในทางการแพทย์นี่รู้เลยว่า “ไซด์เอฟเฟค” ทั่วๆ ไปอย่างหนึ่งของไวอากร้าคือความดันจะลดลงกว่าปกติ ดังนั้นมันเลยสมเหตุสมผลมาก หากคนที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด กินไวอากร้าเข้าไป ความเสี่ยงจะลดลงอีกดังผลวิจัย

มากไปยังไงก็ไม่ดี

แม้ว่าจะเป็นดังนี้ ก็ต้องรีบเบรกคนเอาไว้ก่อนจะแห่กันไปซื้อไวอากร้ามากินกันว่า นี่ก็แค่งานวิจัยชิ้นเดียว จะกินไวอากร้าแก้โรคหัวใจนี่ยังต้องศึกษากันอีก แต่มันเป็นประเด็น เพราะมันไปยืนยันสิ่งที่หลายคนสงสัยมานานว่า ไอ้ความคิดที่ว่าไวอากร้าจะทำให้โรคหัวใจ “แย่ลง” น่าจะผิด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไวอากร้าก็เช่นเดียวกับยาทั้งหลายในโลก จะดีหรือไม่อยู่ที่โดส ใครจะกินก็ต้องเข้าใจโดสก่อน เพราะยาทุกชนิดกินเกินโดส น่าจะ “มีอันตราย” หมด

และในกรณีของไวอากร้า ก็มีบันทึกเอาไว้ว่า มีหลายคนที่กินแบบ “โอเวอร์โดส” แบบกินไป 10 เท่าของโดสที่คนกินกัน ผลหลักๆ ก็คือ ตาจะรับรู้แสงมากจนแสบตา และเห็นแสงวูบวาบๆ ไปพักใหญ่ ซึ่งเขาก็สันนิษฐานกันว่า เพราะมันไปเพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณดวงตาจนเพี้ยน

และแม้ว่าผลสุดท้ายจะไม่มีใคร “ตาบอด” แต่ก็เรียกได้ว่าน่าจะได้บทเรียนกันไปพอควรเลยกับคนที่ “โอเวอร์โดส” ไวอากร้า

ดังนั้นนี่ก็ไม่ใช่ยาที่จะกินซี้ซั้วได้อยู่ดี

อ้างอิง