4 Min

มีเมียสามคนผิดด้วยเหรอ? เมื่อ ‘เสาหลักดาบพิฆาตอสูร’ ถูกตั้งคำถาม

4 Min
3573 Views
17 Dec 2021

Select Paragraph To Read

  • แม้แต่ตัวการ์ตูนก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
  • ประเด็นถกเถียงไม่ได้มีแค่ ‘เมียสามคน’ แต่รวมถึงความรุนแรง

เมื่อหลายวันก่อนผู้ใช้ทวิตเตอร์ในญี่ปุ่นคนหนึ่งทวีตว่ารู้สึก ‘อยากอ้วก’ เมื่อเห็นตัวละคร ‘อุซุย เทนเง็น’ (Uzui Tengen) ในการ์ตูนชื่อดัง ‘ดาบพิฆาตอสูร’ (Kimetsu no Yaiba หรือ Demon Slayer) มีเมียถึงสามคน และมีคนรีทวีตข้อความกันมากมายจนกลายเป็นไวรัลก่อนต้นทางจะลบทวีตไป แต่สื่อออนไลน์หลายสำนักก็นำไปรายงานเป็นข่าวแล้วเรียบร้อย

คนที่ไม่สนใจการ์ตูนญี่ปุ่นอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นประเด็นใหญ่จนต้องเป็นข่าว แต่ถ้าย้อนไปดูความนิยมที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่านี่คือการ์ตูนที่มียอดขายกว่า 82.3 ล้านก๊อบปี้ทั่วโลกในเวลาเพียงปีกว่าๆ คือระหว่าง 2019-2020 และภาพยนตร์แอนิเมชันที่ออกฉายปีที่แล้วก็รับรายได้ทำลายสถิติแชมป์เก่าอย่าง Spirited Away ของสตูดิโอจิบลิที่เคยโด่งดังทั่วโลก

แถมยังมีโพลสำรวจความเห็นเด็กประถมของญี่ปุ่นกว่า 7,000 คน พบว่าคนที่เด็กๆ ชื่นชอบมากที่สุดก็คือ ‘คามาโดะ ทันจิโร่’ ตัวละครหลักของดาบพิฆาตอสูร ซึ่งได้คะแนนอันดับ 1 แซงหน้าพ่อแม่และครู แถมยังมีตัวละครอื่นๆ ในเรื่องนี้ที่ติดโผอีกหลายราย โดยเหตุผลที่ชื่นชอบก็คละๆ กันไปว่าเป็นเพราะตัวละครมีความมุ่งมั่น ใจดี รักครอบครัว จึงอาจสะท้อนได้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้มีอิทธิพลเข้าข่าย Soft Power ที่ทรงพลังสำหรับเด็กญี่ปุ่นยุคหลัง 2010 เป็นต้นมา

เมื่อตอนใหม่ของแอนิเมชันเรื่องนี้ออกฉายตามแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม จึงมีผู้ติดตามชมไม่น้อย และการเปิดตัว ‘อุซุย เทนเง็น’ คาแรกเตอร์หลักของดาบพิฆาตอสูรที่มีปูมหลังเป็นนินจาและมีภรรยา 3 คน ก็นำไปสู่ทวีตที่เป็นข่าว เพราะคนทวีตมองว่าการมีเมียหลายคนเป็นเรื่องที่ไม่ควรส่งเสริม เพราะกดขี่เพศหญิง และไม่เหมาะสมจะอยู่ในการ์ตูนที่เด็กประถมรอดู

แม้แต่ตัวการ์ตูนก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

สำนักข่าวออนไลน์อย่าง Soranews 24 และ Anime Hunch รายงานว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แอนิเมชันตอนใหม่ของดาบพิฆาตอสูรถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคม เพราะช่วงแรกแอนิเมชันตอนนี้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Red Light District Arc ซึ่งหมายถึงย่านค้าประเวณี ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าความหมายของย่านนี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ ประถมยังไม่ควรเรียนรู้ ทางฟูจิทีวีซึ่งได้ลิขสิทธิ์แอนิเมชันเรื่องนี้ในญี่ปุ่นจึงยอมเปลี่ยนชื่อตอนเป็นย่านสถานเริงรมย์ (Entertainment District Arc) แทน

ส่วนท่าทีของแฟนๆ ดาบพิฆาตอสูรในทวิตเตอร์และฟอรัมออนไลน์ที่พูดคุยประเด็นเมียสามคนของอุซุยเห็นต่างจากทวีตที่เป็นต้นทาง โดยมีผู้ตั้งกระทู้ว่าทวีตนั้นไม่น่าเกิดจากบัญชีที่มีตัวตนจริง แต่น่าจะเป็นแค่การสร้างกระแส เพราะตอนหลังก็ลบข้อความนั้นทิ้งและตั้งค่าบัญชีเป็นส่วนตัว และผู้ตั้งกระทู้บอกว่าไม่มีใครรู้สึกว่าการที่อุซุยมีเมียสามคนเป็นสิ่งที่รับไม่ได้

เหตุผลที่ยกมาประกอบคือฉากหลังของการ์ตูนดาบพิฆาตอสูรเกิดในญี่ปุ่นยุคโบราณ การที่ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ อีกทั้งอุซุยมีเมียสามคนเพราะต้องดูแลสมาชิกนินจาที่ผันตัวมาเป็นนักดาบขององค์กรพิฆาตอสูร ซึ่งเขาเองมีหน้าที่ ‘เสาหลัก’ ที่ต้องรับผิดชอบภารกิจกำจัดอสูรเพื่อให้โลกสงบสุข ขณะที่เมียๆ ทั้งสามคนของเขาก็ยอมรับความสัมพันธ์แบบนี้ ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการทำงานกวาดล้างอสูรไปด้วยกัน

คนดูและคนอ่านจำนวนหนึ่งจึงมองว่าตัวละครอุซุยเป็นแค่ ‘ภาพสะท้อน’ ของสังคมยุคนั้น และถ้าจะพูดถึงตัวละครที่เป็นแบบอย่างของเด็กในเรื่องนี้ได้ก็ยังมีอีกหลายคน ทั้งทันจิโร่, ชิโนบุ, เคียวจูโร่, กิยู และเซ็นอิตสึ ซึ่งเด็กประถมที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าชื่นชอบตัวละครเหล่านี้มากติดอันดับท็อป 10

ประเด็นถกเถียงไม่ได้มีแค่ ‘เมียสามคน’ แต่รวมถึงความรุนแรง

ถ้าเทียบกับตอนที่เป็นหนังสือการ์ตูนมังงะ ไม่มีคนร้องเรียนเรื่องดาบพิฆาตอสูรมากนัก แต่พอถูกทำเป็นแอนิเมชันเคลื่อนไหวฉายทางทีวีและภาพยนตร์ คือ Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba, Kimetsu no Yaiba: Mugen Ressha-hen และตอนล่าสุดนี้ โดยมีการจัดเรต PG12 ที่อนุญาตให้เด็กอายุ 12 ปีรับชมได้โดยผู้ปกครองให้คำแนะนำ ก็ทำให้เกิดเสียงต่อต้านขึ้นมา ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวของอุซุย และข้อวิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่าการ์ตูนดาบพิฆาตอสูรมีภาพและเนื้อหา ‘รุนแรงเกินไป’

ดาบพิฆาตอสูรถูกมองว่าต่างจากการ์ตูนญี่ปุ่นยอดฮิตเรื่องอื่นที่เจาะกลุ่มเด็กประถมเหมือนกัน เช่น ดราก้อนบอล, นารุโตะ หรือแม้แต่โปเกมอน คือการต่อสู้ในการ์ตูนเหล่านั้นใช้เพียงมือเปล่าและแทบจะไม่มีใครตายให้เห็น ส่วนดาบพิฆาตอสูรมีการใช้อาวุธสังหาร และมีตัวละครที่ตายเพราะการต่อสู้จริงๆ เพราะเนื้อหาหลักๆ ของเรื่องนี้คือการที่เด็กญี่ปุ่นในอดีตเข้าร่วมกับองค์กรนอกระบบ เพื่อต่อสู้อสูรที่ใช้อำนาจคุกคามมนุษย์ สนองเป้าหมายการมีชีวิตอมตะของตัวเอง

อาจเพราะด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 หลังจากที่ผู้ปกครองบางส่วนร่วมลงชื่อร้องเรียนต่อองค์กรพัฒนาด้านจริยธรรมรายการวิทยุโทรทัศน์และกระจายเสียงแห่งญี่ปุ่น (Broadcasting Ethics & Program Improvement Organization หรือ BPO) ให้พิจารณาเซนเซอร์ฉากในดาบพิฆาตอสูรที่มีการต่อสู้เลือดสาดและมีอวัยวะถูกฟันขาดกระจายกองกับพื้น คณะกรรมการ BPO หารือกันแล้วจึงมีคำตัดสินว่า ‘ไม่เซนเซอร์’ เพราะชิ้นส่วนที่เห็นในแอนิเมชันคือร่างของอสูรที่คล้ายมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์

นอกจากนี้ นักอ่านและผู้ชมที่เป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้อีกหลายรายก็ยืนยันว่าเนื้อหาหลักของดาบพิฆาตอสูรไม่ใช่การเข่นฆ่าเพื่อล้างแค้นหรือฆ่าเพื่อความสนุก แต่เป็นการสะท้อนภาพมนุษย์ที่ต้องอดทนและผลักดันขีดจำกัดของตัวเองเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่เหนือกว่าอย่างอสูรที่มีพลังผิดธรรมชาติ ขณะที่อสูรส่วนใหญ่ก็เคยเป็นมนุษย์มาก่อน แต่มีการบอกปูมหลังว่ายอมเป็นอสูรเพราะถูกกดขี่ ถูกต้อนให้จนมุม รวมถึงถูกหลอกล่อด้วยความทะเยอทะยานและเหตุผลอื่นๆ ทำให้ตัวละครหลักเห็นอกเห็นใจแม้กระทั่งอสูรที่ตัวเองต้องฆ่า

ใจความหลักของเรื่องจึงไม่ใช่การต่อสู้เอาชนะ แต่น่าจะเป็นการตั้งคำถามว่าเพราะอะไรคนถึงยอมกลายเป็นอสูร และทำไมคนจำนวนมากจึงยังยึดมั่นในความเป็นมนุษย์ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ดาบพิฆาตอสูรกลายเป็นการ์ตูนยอดฮิตไปทั่วโลก ไม่ได้หยุดอยู่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น

อ้างอิง:

  • Anime Hunch. Demon Slayer’s Latest Season Comes Under Criticism. https://bit.ly/3oNUP8R
  • My Anime List. No One Is Complaining about Uzui Having Three Wives. https://bit.ly/3m4FO0N
  • SoraNews24. Japan media watchdog BPO rewatches and reevaluates Demon Slayer following new complaints. https://bit.ly/322Kqxu
  • SoraNews24. Moms vs. demon slayers — Japanese grade schoolers asked: “Who do you respect most and why? ”. https://bit.ly/3s2y57e