ในโลกปัจจุบัน ความพยายามจะเข้าใจสัตว์นั้นมีมากขึ้นตามความเข้มข้นของความใส่ใจเรื่องสิทธิสัตว์ สิ่งที่ท้าทายก็คือ มนุษย์ไม่ได้มีความเข้าใจพื้นฐานกับสัตว์ต่างๆ สักเท่าไหร่ เพราะขนาดสัตว์ที่มีประวัติร่วมกับมนุษย์มานานกว่า 2 หมื่นปีอย่างหมานั้น มนุษย์ก็ยังไม่มีความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งเลย
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เราก็มีวิทยาการอย่างการใช้ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลรูปแบบต่างๆ ชนิดที่มนุษย์ทำไม่ได้ และข้อมูลในรูปแบบหนึ่งที่ AI จัดการได้ก็คือการจำแนก ‘เสียงร้อง’ ของสัตว์ ว่ามันหมายถึงอะไร โดยสิ่งแรกๆ ระดับพื้นฐานที่เขาทำกันก็คือการใช้ AI แปล ‘อารมณ์’ ของสัตว์ตามเสียงร้อง
สัตว์ชนิดแรกๆ ที่ถูกประเดิมใช้เทคนิคนี้ แปลเสียงคือ ‘หมู’ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มนุษย์เริ่มเลี้ยงประมาณ 1 หมื่นปีก่อน และถือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงมายาวนานที่สุด (มนุษย์เลี้ยงหมูมาก่อนแมวซะอีก)
นักวิจัยได้บันทึกเสียงของหมูในสถานการณ์ต่างๆ (เช่น ได้อาหาร ได้เจอเพื่อนหมู ต่อสู้กัน โดนจับไปตอน หรือจับไปเชือด ฯลฯ) แล้วนำข้อมูลไปป้อนเข้าระบบ AI และสร้าง AI เพื่อแปล ‘ภาษาหมู’ ออกมาได้ในที่สุด และตีพิมพ์ผลวิจัยนี้ลงในวารสาร Scientific Reports ฉบับเดือนมีนาคม 2022
ถ้าจะสรุปงานวิจัยนี้สั้นๆ เป็น ‘ภาษาคน’ ก็คือ ถ้าหมูร้องเสียงต่ำๆ สั้นๆ จะแสดงว่ามันกำลังมีความสุข แต่ถ้าร้องเสียงสูงๆ ยาวๆ ก็แปลว่ามันกำลังมีความทุกข์
แต่ก็นั่นแหละ นี่คือคำอธิบายง่ายๆ เพราะการ ‘ฟังหมู’ จริงๆ มันไม่ง่ายแบบนั้น ไม่งั้นก็คงไม่ต้องลำบากสร้าง AI ขึ้นมาเพื่อแปลภาษาหมูดังหรอก ดังนั้นถ้าฟังหมูไม่ออก เราก็สามารถใช้ AI ที่ว่านี้ทำการแปลภาษาหมูให้ฟังได้
ซึ่งทางนักวิจัยก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า AI แปลภาษาหมูนี้ จะถูกนำไปพัฒนาเป็นแอฟพลิเคชั่น ที่ ‘คนเลี้ยงหมู’ จะเอาไปใช้จริงๆ เพื่อทำความเข้าใจพวกมัน เพื่อสวัสดิภาพการมีชีวิตที่ดีขึ้น
อ้างอิง
- IFLS. Pigs’ Grunts And Squeals Have Been Translated To Reveal Their Emotions. https://www.iflscience.com/…/pigs-grunts-squeals…/