3 Min

‘ช็อตไฟฟ้า-ยิงเป้า-รมแก๊ส’ บางรัฐในอเมริกา อาจกลับไปประหารนักโทษแบบเก่า หลังยาที่ใช้ฉีดประหารชีวิตขาดแคลน

3 Min
722 Views
09 Jun 2021

ย้อนกลับไปในปีค.ศ.1982 รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐแรกที่ใช้วิธีการฉีดยาประหารแทนวิธีการอื่นๆ เช่น การช็อตเก้าอี้ไฟฟ้า หรือการรมแก๊ส โดยเชื่อว่าการฉีดยาประหารนั้นค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและมีมนุษยธรรมมากกว่า

 

โดยการฉีดยาประหารชีวิตเป็นวิธี ‘ทางเลือก’ สำหรับนักโทษประหารในรัฐต่างๆ ที่ยังบังคับใช้โทษประหารชีวิตอยู่ แต่ในบางรัฐการฉีดยาเป็นทางเลือกเดียวในการประหารชีวิต เช่น รัฐเท็กซัส และรัฐโอกลาโฮมา ในขณะที่รัฐอื่นๆ เช่น รัฐโคโลราโด้ รัฐเดลาแวร์ หรือนิวยอร์กไม่มีโทษประหารชีวิตเลย

แต่คำถามก็คือ การฉีดยา เป็นการประหารที่มีมนุษยธรรมแล้วจริงๆ เหรอ?

เพราะในหลายครั้ง การประหารก็ผิดพลาดไปอย่างน่าสยดสยอง จากทั้งประเด็นของผู้ที่รับหน้าที่ประหารชีวิตไม่มีความเชี่ยวชาญ อย่างกรณีหนึ่งที่นักโทษต้องทนทรมานหลายชั่วโมง เพราะผู้ประหารหาเส้นเลือดของนักโทษไม่เจอ หรือกรณีที่นักโทษถึงกับต้องเอ่ยปากบอกกับผู้ประหารด้วยตนเองระหว่างการประหารว่ายาที่ใช้ไม่ได้ผล

นายแพทย์คนหนึ่งได้กล่าวไว้ในชั้นศาลว่า ผู้ที่รับหน้าที่ประหารชีวิตของนักโทษบางคน เพิ่งจะเคยจับเข็มฉีดยาเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วยซ้ำ

และด้วยเหตุผลหลายๆ ด้าน รวมทั้งเหตุผลทางด้านศีลธรรม บริษัทยาหลายบริษัทปฏิเสธที่จะจัดหายาที่ใช้ในการประหารให้กับทางภาครัฐ เช่นในปี 2016 บริษัทไฟเซอร์ปฏิเสธไม่จัดหายาให้กับภาครัฐ เพราะว่าไม่อยากถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มผู้รณรงค์ต่อต้านการประหารชีวิต

เมื่อไม่มียาให้ใช้ บางรัฐจึงหาทางออกด้วยยกเลิกการประหารชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน บางรัฐ เช่น รัฐเซาท์ แคโรลิน่า เลือกที่เปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น อาจจะเลือกใช้ยาปริศนาตัวอื่นที่ไม่รู้ที่มาที่ไปแน่ชัด หรือเลือกวิธีการประหารชีวิตแบบอื่น ระหว่างการช็อตไฟฟ้า หรือการยิง

วิธีการประหารแบบช็อตไฟฟ้านั้น ทำโดยการให้นักโทษนั่งเก้าอี้แล้วต่อขั้วไฟฟ้าเข้ากับร่างกาย ก่อนจะส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ ซึ่งหลายๆ ครั้งที่ประหารชีวิตก็เกิดความผิดพลาดจนกลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่นไฟฟ้าช็อตจนผิวของนักโทษถูกเผาไหม้เกรียม หรือบางครั้งก็ต้องส่งกระแสไฟฟ้าช็อตหลายทีกว่านักโทษจะเสียชีวิต

ส่วนวิธีการประหารด้วยการยิงนั้น นักโทษจะต้องนั่งบนเก้าอี้ แล้วเจ้าหน้าที่อาสาทั้งหมด 5 นายจะยิงไปที่อกของนักโทษพร้อมกัน ตามแผนแล้วนักโทษจะเสียชีวิตหลังถูกยิงทันที แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เช่นในปีค.ศ.1879 นักโทษรายหนึ่งต้องใช้เวลาถึง 27 นาทีกว่าจะสิ้นใจหลังถูกยิง

และอีกวิธีหนึ่งที่มักใช้ในการประหารชีวิตคือการใช้ห้องรมแก๊ส ซึ่งวิธีนี้ดั้งเดิมแล้วถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้แทนการแขวนคอ และเป็นวิธีที่เชื่อว่ามีความโหดร้ายและทารุณน้อยกว่า แต่ว่าหลายเคสที่ใช้การประหารด้วยวิธีนี้ก็ผิดพลาดไปอย่างน่าสยดสยองเช่นกัน เช่นเคสของนายจิมมี่ ลี เกรย์ ที่ไม่ได้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจตามที่ควร แต่เขาต้องทนดิ้นรนกระแทกศีรษะตัวเองเข้ากับเสาเหล็กในห้องรมแก๊สจนเสียชีวิตไปในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคือมีการเปิดเผยในภายหลังว่าผู้ประหารในเคสของนายจิมมี่ ลี เกรย์ นั้นเป็น “คนเมา” อีกด้วย แต่ไม่ว่าผู้ประหารจะเมา หรือมีสติครบถ้วน วิธีนี้ก็โหดร้ายทารุณสร้างความทรมานให้นักโทษอย่างมหาศาลอยู่ดี

เมื่อยาที่ใช้ฉีดประหารชีวิตขาดแคลน รัฐจึงต้องมองหาวิธีการอื่นเพื่อรองรับนักโทษที่รอเข้ารับการประหารอีกมากกว่า 2,500 ราย นักโทษจึงจำเป็นต้องเลือกว่าหากไม่ฉีดยา จะจบชีวิตตัวเองด้วยการโดนยิง หรือช็อตไฟฟ้า หรือรมแก๊ส หรือจะเลือกวิธีแปลกพิสดารและล้าหลังอื่นๆ แต่ว่าถึงมียาให้ฉีด ก็ใช่ว่าจะได้สิ้นใจอย่างสงบไร้ซึ่งความเจ็บปวดอีกอยู่ดี ดูเหมือนไม่ว่าจะเลือกวิธีไหนก็ดูจะไม่น่าพิสมัยไปหมดทั้งนั้น

นับว่าเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ และทางออกที่แน่ชัดก็ยังไม่ค่อยปรากฏขึ้นมาในเวลานี้ เพราะอย่างไรก็ตาม หากตัดประเด็นเรื่องควรมีโทษประหารหรือไม่ออกไป ถึงแม้จะเป็นนักโทษคดีร้ายแรง แต่การหยิบยื่นความตายให้ใครสักคน เราก็จะต้องค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดและมีจริยธรรมมากที่สุดกันอยู่แล้ว

อ้างอิง: