4 Min

อเมริกาประสบปัญหา “เงินเฟ้อ” หนักที่สุดในรอบ 13 ปี หลังผู้คนกลับมามีชีวิตปกติ และราคาสินค้าดีดตัวสูงขึ้น

4 Min
1075 Views
25 Aug 2021

Select Paragraph To Read

  • รู้จักภาวะเงินเฟ้อ
  • เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี
  • เงินเฟ้อในอเมริกาวันนี้มาจากไหน?
  • ทางออกของเงินเฟ้อวันนี้
  • ทำไมธนาคารไม่ขึ้นดอกเบี้ย?

ณ กลางปี 2021 อเมริกาฉีดวัคซีนประชากรไปได้มากมาย เรียกว่าใครอยากฉีดก็ได้ฉีดทั้งหมด และสิ่งนี้ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มกลับมาเป็นปกติ

คนไปไหนมาไหนไม่ต้องใส่หน้ากาก ภาคธุรกิจเปิดดำเนินการตามปกติ กระทั่งการจัดงานเทศกาลดนตรีคนไปรวมกันเป็นแสนก็ยังจัดได้

ทุกอย่างดูจะกลับมาเข้าที่เข้าทาง “ชีวิตปกติดูจะกลับมาดังเดิม”

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ “เงินเฟ้อ”

รู้จักภาวะเงินเฟ้อ

ต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในสังคมนั้นสูงขึ้นคือเรื่องปกติของเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่ปกติมันจะเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เราจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้ามันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อไหร่ คนจะเริ่มรู้สึก

เพราะนั่นหมายความว่ารายจ่ายของพวกเขาขึ้นเร็วกว่ารายได้ และถ้ามันไม่หยุด คนจะรู้สึก “เสียกำลังซื้อ” ไปเรื่อยๆ หรือรู้สึกว่ามีเงินน้อยลงไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มีรายได้เท่าเดิม และซื้อสินค้าและบริการเท่าเดิม
และตอนนี้คนอเมริกันกำลังรู้สึกแบบนั้น

เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี

หลังเศรษฐกิจกลับมาปกติ คนอเมริกันบ่นกันมากว่าสินค้าต่างๆ แพงขึ้น และรายงานจากทางภาครัฐก็ยืนยันว่าตอนนี้ภาวะเงินเฟ้อของอเมริกาสูงสุดในรอบ 13 ปี หรือมันเพิ่มไประดับวิกฤติเศรษฐกิจรอบที่แล้ว

ซึ่งภาวะนี้เพิ่งเริ่มเท่านั้น คือตั้งแต่เปิดเศรษฐกิจให้คนใช้ชีวิตปกติดั้งเดิม ไม่มีเดือนไหนที่เงินเฟ้อน้อยลง มันเพิ่มขึ้นทุกเดือน และคนก็บ่นมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนหลายๆ ฝ่ายก็โทษรัฐบาลกลางว่าบริหารเศรษฐกิจไม่ดี บ้างก็โทษ ‘มาตรการแจกเงินเยียวยาถ้วนหน้า’ ก่อนหน้านี้ (อเมริกาจะเรียกกันว่า Stimulus Check) ที่ทำให้คนไม่ต้องทำงานก็มีรายได้ (คนอเมริกันส่วนใหญ่จะเกลียดการที่คนไม่ต้องทำงานก็มีเงินสวัสดิการจากรัฐใช้มาก และนี่เลยทำให้อเมริกาไม่มีรัฐสวัสดิการแบบยุโรปจนทุกวันนี้)

แต่ถามว่าภาวะเงินเฟ้อในอเมริกาตอนนี้เป็นแบบนั้นจริงๆ ไหม? คำตอบคือต้องดูในรายละเอียด

เงินเฟ้อในอเมริกาวันนี้มาจากไหน?

คำตอบคือมีหลายปัจจัยที่นำมาสู่ภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้

ปัจจัยแรกคือเกิดจากการที่สินค้าและบริการที่ต้องยอม “ลดราคา” ตอนเศรษฐกิจถดถอยช่วงโควิดครั้งที่แล้ว จากนั้นราคาก็ดีดตัวกลับมาเป็น “ราคาปกติ”

ตัวอย่างชัดๆ ในอเมริกาคือพวกตั๋วเครื่องบินที่ช่วงล็อกดาวน์พีคๆ เมื่อปีที่แล้ว ราคาเฉลี่ยลดลง 25% และตอนนี้ก็กลับมาราคาปกติ หรือราคาขึ้นมา 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสินค้าอื่นๆ ก็มีลักษณะเดียวกัน คือ “ราคาขึ้น” จากหนึ่งปีที่แล้วก็จริง แต่จริงๆ ก็แค่ราคากลับมาเท่าเดิมนั่นเอง

ปัจจัยที่สองคือ ของบางอย่างมันแพงขึ้นจริงๆ ซึ่งในอเมริกา สินค้าที่แพงขึ้นชัดเจนคือรถมือสอง และน้ำมัน ซึ่งอเมริกันเป็นสังคมแบบต้องขับรถและใช้น้ำมันเป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้นของพวกนี้ราคาขึ้น คนจะโวยกันหนักมาก และก็ไม่ใช่แค่รถกับน้ำมันเท่านั้น เพราะสินค้าอื่นๆ ก็แพงขึ้นจริงๆ

คำถามคือทำไม?

คำตอบเร็วๆ ก็คือ ช่วงก่อนหน้านี้ ระบบการผลิตทั้งระบบอยู่ในโหมดล็อกดาวน์ ส่งผลให้ผลิตน้อยลง และคาดเดาไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ กำลังการบริโภคจะกลับมาตอนไหน ทีนี้พอเศรษฐกิจกลับเป็นปกติ คนก็ออกจากบ้านมาใช้เงินกันกระหน่ำ ปริมาณสินค้าและบริการในระบบมีไม่พอ ดังนั้นราคาก็เลยต้องขึ้น เพื่อลดอุปสงค์ ซึ่งเป็นกลไกตลาดตามปกติ

แต่ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า ตอนนี้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นจนคนรู้สึกว่ามันมีปัญหาจริงๆ

ทางออกของเงินเฟ้อวันนี้

ในระบบเศรษฐกิจแบบอเมริกา รัฐบาลกลางไม่น่าจะมีอำนาจในการควบคุมราคาสินค้าและบริการในแต่ละรัฐเท่าไร

แต่โดยทั่วไป เทคนิคการคุมเงินเฟ้อ จะใช้สิ่งที่เรียกว่า “นโยบายทางการเงิน” ซึ่งเป็นเทคนิคของธนาคารกลางในการคุมระบบเศรษฐกิจ และเทคนิคทั่วไปที่จะใช้ในการลดอัตราเงินเฟ้อก็คือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และตรรกะพื้นๆ ก็คือ การเพิ่มดอกเบี้ย ทำให้คน “เก็บเงิน” มากขึ้น และทำการกู้ยืมน้อยลง ทำให้เงินในระบบน้อยลงและเงินเฟ้อน้อยลง (อันนี้อธิบายง่ายๆ นะครับ)

ทำไมธนาคารไม่ขึ้นดอกเบี้ย?

เอาจริงๆ นี่เป็นประเด็นมานานแล้ว อเมริกาประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อต่ำมานาน ซึ่งธนาคารกลางอเมริกาก็ลดดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มเงินเฟ้อ เพราะ “ตำราเศรษฐศาสตร์” บอกแบบนั้น แต่ปัญหาคือ ลดดอกเบี้ยลงเท่าไร เงินเฟ้อก็ไม่ขึ้น จนเขาเถียงกันหลายปีแล้วว่าต้องเลิกลดดอกเบี้ย มันจะ 0% แล้ว แต่ทางธนาคารกลางอเมริกาก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไว้ เพราะ “ตามหลักวิชา” มันต้องเป็นแบบนั้น
ทีนี้ พอตอนนี้อัตราเงินเฟ้อขึ้นมาเหมือนอัดอั้นไว้หลายปี คำถามที่ตามมาก็คือ อัตราเงินเฟ้อจะขึ้นถาวรไหม?

ถ้าไม่ถาวร ก็ไม่มีเหตุผลที่จะขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อ และตอนนี้ หลายๆ ฝ่ายก็คิดว่าการเพิ่มขึ้นมาของเงินเฟ้อนั้นเป็นเพียงผลข้างเคียงชั่วคราวของการฟื้นคืนเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ ที่สักพักมันจะหมดไป

ดังนั้น ณ ตอนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้ทำอะไรให้เงินเฟ้อลดหรือหยุดทั้งนั้น ไม่ว่าประชาชนจะโวยเรื่องเงินเฟ้อแค่ไหน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องเข้าใจเช่นกันว่า ธนาคารกลางโดยทั่วไปจะมีบทบาทเป็นอิสระจากรัฐบาล หรือพูดอีกแบบคือ “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และบทบาทโดยทั่วไปคือไม่ต้องทำตามคำสั่งของรัฐบาล แต่มีหน้าที่กำกับดูแลและสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจตามหลักเศรษฐศาสตร์

ซึ่งนี่คือหลักทั่วไปในการบริหารธนาคารกลางสไตล์ “เทคโนแครต” ซึ่งไม่ขึ้นกับ “ฝ่ายการเมือง” อยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือออกนโยบายตามหลักวิชาการล้วนๆ ไม่จำเป็นต้องทำอะไร “เอาใจประชาชน” แบบพวกนักการเมือง

ตรงนี้เราก็จะเห็นได้เลยว่า เงินเฟ้อนี่เอาจริงๆ มันอยู่นอกการควบคุมของรัฐบาลพอสมควร และแน่นอน ถ้าเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ Joe Biden ก็คงจะมีปัญหาในการเลือกตั้งสมัยหน้าแน่ๆ เพราะถ้าเงินเฟ้อไปถึงจุดที่ทำให้คนรู้สึกว่าชีวิตแย่ลงในวงกว้างล่ะก็…

คุณงามความดีที่กู้ประเทศชาติจากโควิดมาได้ ก็คงจะถูกหลงลืมไปจนหมดเป็นแน่

อ้างอิง