3 Min

เมื่อชุดนักเรียนไทยฮิตในหมู่วัยรุ่นจีน แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับระเบียบวินัย

3 Min
960 Views
23 Feb 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

ชุดนักเรียนไทยเป็นเทรนด์แฟชั่นในหมู่หนุ่มสาวจีนมาหลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัยรุ่นจีนมองว่าเครื่องแบบนักเรียนประเทศตัวเองนั้นน่าเกลียดและทำลายความมั่นใจขณะที่นักเรียนไทยบางส่วนก็อาจจะมองว่าเครื่องแบบญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ดูดีกว่าชุดนักเรียนไทย แต่บางส่วนก็อยากให้ยกเลิกเครื่องแบบไปเลยด้วยหลายเหตุผล เช่น สิ้นเปลือง ใส่แล้วไม่คล่องตัว และละเมิดสิทธิเด็ก


จวีจิ้งอี (Ju Jing Yi) นักแสดงหญิงชาวจีนที่กำลังมีชื่อเสียง โพสต์ภาพขณะที่เธอมาเที่ยวไทยและใส่ชุดนักเรียนปักชื่อตัวเองเป็นภาษาไทย แต่งหน้าลุคใสๆ พร้อมทรงผมยาวคล้ายคาแรกเตอร์ที่เธอแสดง ทำให้ภาพทั้งหมดกลายเป็นไวรัลในสื่อโซเชียลทั้งไทยและจีน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2023 สะท้อนว่าความนิยมของชาวจีนที่มีต่อชุดนักเรียนไทยในฐานะแฟชั่นยังไม่หายไป

ที่จริงเทรนด์นี้ถูกพูดถึงตั้งแต่ปี 2021 หลังจากเน็ตไอดอลและนักแสดงจีนหลายคนโพสต์ภาพตัวเองใส่ชุดนักเรียนไทยโดยมีการปักชื่อโรงเรียนสมมติติดหน้าอกเหมือนกับเด็กไทยเป๊ะ

เว็บไซต์ AllKpop รายงานว่า เทรนด์นี้น่าจะมาจากกระแสของแนนโน๊ะตัวละครในซีรีส์เด็กใหม่ซึ่งออกฉายตั้งแต่ปี 2018 บวกกับซีรีส์แนวบอยเลิฟ (Boy Love) ของไทยอีกหลายเรื่อง ได้รับความนิยมในหลายประเทศแถบเอเชีย ซึ่งก็รวมถึงจีนด้วย ทำให้การแต่งชุดนักเรียนไทยกลายเป็นแฟชั่นยอดนิยมมาได้สักพักหนึ่งแล้ว

ถามว่าทำไมเครื่องแบบนักเรียนที่เด็กไทยจำนวนมากไม่อยากใส่ถึงกลายเป็นของฮิตในหมู่วัยรุ่นจีน อาจหาคำตอบได้จากรายงานของสำนักข่าวทางการในจีนอย่าง CGTN ที่ไปสอบถามความคิดเห็นของวัยรุ่นจีนทั้งหญิงและชายที่มีต่อเครื่องแบบนักเรียนของตัวเองเมื่อปี 2017 พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ชอบชุดนักเรียนที่ใส่กันทั่วประเทศจีน เพราะรู้สึกว่าน่าเกลียด’ ‘เทอะทะ’ ‘ล้าสมัย

ชุดนักเรียนของโรงเรียนรัฐบาลในจีนเป็นแบบแทร็กสูทหรือเสื้อวอร์มคอปกแขนยาวและกางเกงวอร์มเข้าชุดซึ่งออกแบบมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1950 และมีเป้าหมายให้เป็นเครื่องแบบยูนิเซ็กส์ (unisex) ซึ่งใส่เหมือนกันทั้งหญิงและชายแต่เวลาผ่านไปหลายสิบปีชุดนักเรียนของประเทศอื่นๆถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆจนหนุ่มสาวชาวจีนได้เห็นแล้วก็รู้สึกว่าอยากใส่เครื่องแบบเหมือนของประเทศอื่นๆบ้าง

เด็กวัยรุ่นจีนที่ตอบแบบสอบถามมองว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นชุดกระโปรงหรือกางเกงขายาวพร้อมเบลเซอร์สูทเหมือนเด็กเกาหลีใต้ก็คงจะดูดี เพราะชุดที่ใส่อยู่ปัจจุบันนี้ทำลายความมั่นใจในตัวเองไป แต่ CGTN ได้รายงานเพิ่มเติมว่า ในทางกลับกัน ชาวเน็ตเกาหลีใต้ได้ตั้งกระทู้ในฟอรัมออนไลน์ Instiz ชื่นชมชุดวอร์มที่เป็นเครื่องแบบนักเรียนจีนว่าน่าจะใส่สบายและคล่องตัวกว่า แถมยังไม่ต้องเตรียมชุดไปเปลี่ยนเวลาเรียนวิชาพละด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ CGTN รายงานเรื่องนี้ ก็น่าจะต้องการสะท้อนว่าเครื่องแบบนักเรียนจีนก็มีคนชอบเหมือนกัน

ส่วนกรณีของไทย แม้จะมีกลุ่มนักเรียนเลวซึ่งรณรงค์ให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนที่มองว่าไม่สะดวกและสิ้นเปลือง แถมยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการตีกรอบและละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กนักเรียน แต่ในยุคหนึ่งมิวสิกวิดีโอเพลงป๊อปไทยก็นิยมให้นักแสดงแต่งตัวคล้ายชุดนักเรียนญี่ปุ่นหรืออเมริกันเหมือนกัน โดยเฉพาะชุดสูทเบลเซอร์และกระโปรงลายสก็อตที่ต่างจากชุดคอซองขาสั้นตามปกติอย่างมาก

ถ้าจะสรุปว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่มักคิดว่าชุดนักเรียนของประเทศอื่นดูดีกว่าชุดนักเรียนของประเทศตัวเอง ก็พอจะรับฟังได้ แต่ก็ไม่อาจฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและจิตวิทยามากกว่า โดยในฐานะที่ชุดนักเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความมีวินัย ความเป็นเอกภาพ และการบ่งชี้สถานะทางสังคม การนำชุดนักเรียนไปใส่ในแบบเสื้อผ้าแฟชั่น หรือใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบแฟชั่นจริงๆ จึงมีเป้าหมายในทิศทางตรงกันข้าม

เว็บไซต์ CR Fashion Book อธิบายว่า ชุดนักเรียนทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออก มักถูกนำไปดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นให้กับแบรนด์ต่างๆ เป็นประจำ เพียงแต่ชุดนักเรียนในเวทีแฟชั่นและวงการบันเทิงไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มักถูกดัดแปลงให้ท้าทายขนบดั้งเดิม คนชอบเสพแฟชั่นจึงได้เห็นหลายครั้งหลายคราว่า เครื่องแบบที่เคยเคร่งขรึมเมื่ออยู่บนเวทีแฟชั่นแล้วก็จะแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นกระโปรงที่สั้นกว่าเดิมมากๆ หรือบางทีก็แหวกข้างให้ดูเซ็กซี่ ไปจนถึงเสื้อเชิ้ตปล่อยชายหลุดลุ่ยหรือกางเกงพับขา รวมถึงเสื้อที่เน้นทรวดทรง

การจะบอกว่าความนิยมในการดัดแปลงเครื่องแบบนักเรียนเป็นแฟชั่น คือสิ่งที่แสดงถึงความชื่นชมหรือยึดมั่นในระเบียบวินัยจึงไม่ใช่บทสรุปที่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเสื้อผ้าแฟชั่นเหล่านี้เป็นที่นิยมก็เพราะว่ามันมีหน้าตาคล้ายกับเครื่องแบบที่หลายคนคุ้นเคย แต่ถูกปรับเปลี่ยนให้แตกต่างและหลากหลายไปตามสไตล์ของแบรนด์แฟชั่นแต่ละราย และในบางกรณี ชุดนักเรียนก็ถูกนำไปใช้เป็นแฟชั่นที่ส่อนัยทางเพศด้วย เช่น ชุดนักเรียนญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก

อ้างอิง