Select Paragraph To Read
- 1. สื่อสร้างฆาตกรเป็นดารา
- 2. จรรยาบรรณสื่อ
- 3. การสืบคดีล่าช้า
- 4. ปล่อยข่าวเพื่อกลบข่าว?
Highlight
- ชวนคุยจากปรากฏการณ์ ‘ลุงพล’ หลังถูกออกหมายจับ ใน 4 ประเด็นน่าสนใจ
- ไม่ว่าจะเป็น สื่อสร้างฆาตกรเป็นดารา จรรยาบรรณสื่อ การสืบคดีล่าช้า หรือการปล่อยข่าวเพื่อกลบข่าว?
หลังจากผ่านคดีฆาตกรรม ‘น้องชมพู่’ มากว่าหนึ่งปี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดมุกดาหารออกหมายจับ ‘ลุงพล’ หรือไชย์พล วิภา ใน 3 ข้อหา คือพรากผู้เยาว์ไปจากบิดามารดา ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกิน 9 ปีให้พ้นจากตน และกระทำการแก่ศพ-สภาพแวดล้อมเพื่ออำพราง
การออกหมายจับสร้างความฮือฮาให้กับสังคมอย่างมากเพราะหลังจากเกิดคดีที่บ้านกกกอก ทำให้ลุงพลกลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง และเป็นที่ชื่นชมของสังคม จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่าสังคมไทยมาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร The Attention ชวนดู 4 ประเด็นน่าสนใจในกรณีลุงพล

‘ลุงพล’ หรือไชย์พล วิภา | thairath
1. สื่อสร้างฆาตกรเป็นดารา
ปรากฏการณ์ลุงพลนี้เป็นเรื่องน่าสนใจเรื่องการทำงานของสื่อมวลชนในการ ‘สร้าง’ บุคคลให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยได้เฉยๆ ในช่วงที่เกิดคดีน้องชมพู่นั้นเราจะเห็นว่าสื่อจำนวนหนึ่งทำการ ‘เล่นข่าว’ อย่างยาวนานซึ่งแรกเริ่มเป็นผู้ต้องสงสัยในคดี แต่หลังจากที่มีพฤติกรรมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จนเกิด #Saveลุงพล ขึ้นบนโลกออนไลน์เพราะเชื่อว่าลุงพลมีความบริสุทธิ์ใจ
โดยเฉพาะเมื่อผ่านไปหลายเดือนยังไม่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มายืนยันความ ‘น่าสงสัย’ ของลุงพลได้ ตลอดปีที่ผ่านมาลุงพลจึงได้รับบทผู้ที่ถูกสังคมกลั่นแกล้งและเริ่มได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อชดเชย และสื่อเริ่มให้ความสนใจตัวลุงพลและป้าแต๋นที่เป็นภรรยา ซึ่งถูกเล่าแบบดราม่าเพื่อสร้างความน่าสนใจ มีเส้นเรื่อง มีใส่อารมณ์ มากกว่าสนใจคดีที่ยังไม่จบ
ดังนั้นในช่วงปีที่ผ่านมาลุงพลได้รับพื้นที่สื่อจนกลายเป็นคนดัง มีการรายงานสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะท่าทางของลุงพลที่ยืนยันความบริสุทธิ์ รายการพาลุงพลจ่ายตลาด โรงเรียนพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่บ้านกกกอก รวมถึงลุงพลมีช่อง YouTube เป็นของตัวเอง ร่วมร้องเพลงกับศิลปินหลายคน และถึงขั้นมีคลิปลุงพลกินข้าว (ป้าแต๋นถ่าย) กับเพลง ‘อยากเป็นป้าแต๋น’ ขึ้นเพื่อเยินยอความดีของลุงพลด้วย
ลุงพลถูกสื่อนำเสนอชีวิตมุมต่างๆ เหมือนกับ Reality show ในชีวิตคนจริงๆ โดยที่ไม่ได้มีการรายงานหรือเอื้อต่อคดีความน้องชมพู่แต่อย่างใดจนสังคมเริ่มตั้งคำถามและมีกระแสตีกลับว่าเรื่องนี้สมควรหรือไม่ ยิ่งเมื่อคดีคลี่คลายและเปิดเผยว่าลุงพลเป็นผู้ต้องหาในคดีจริง สื่อมวลชนควรจะมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้?

| istockphoto
2. จรรยาบรรณสื่อ
ความโด่งดังของลุงพลสะท้อนความล้มเหลวของกลไกควบคุมการทำงานของสื่อ
เมื่อตั้งคำถามมากที่สุดคือ ‘จรรยาบรรณสื่อ’ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบการนำเสนอที่ ‘ไม่รับผิดชอบ’ ต่อสังคม ในการสร้างเรื่องราวของลุงพลขึ้นมาให้เป็นเรื่องราวโด่งดัง ปั้นผู้ต้องหาเป็นดารา
ถ้าหากใครจำได้ในช่วงเดือนกันยา 2563 นายทรงพล เรืองสมุทร อดีตหัวหน้าช่างภาพข่าวของสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ได้โพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัวอธิบายความคับข้องใจและแรงกดดันของสังคมที่ต้องเผชิญในตอนที่ทำข่าวลุงพล จนสุดท้ายตัดสินใจลาออก โดยข้อความหนึ่งระบุว่า
“ผมเป็นหนึ่งคนที่รับรู้เรื่องราว ที่ถูกสร้าง ปั้นแต่งและถูกนำเสนอผ่านหน้าจอมาโดยตลอด และตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า พวกเราทำอะไรกันอยู่ มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ ไม่ใช่ความแปลกใหม่…”
ซึ่งเป็นการยืนยันการทำงานว่าเรื่องราวของลุงพลโด่งดังขึ้นจนถึงทุกวันนี้เป็นเรื่องสื่อสร้างมาอย่างแท้จริง โดยที่เรื่องราวปราศจากคุณค่าความเป็นข่าวที่ควรรายงานความถูกต้อง สิ่งที่สังคมควรรู้ และมีประโยชน์ตลอดจนผลกระทบถึงคนดู แต่กลับทำให้คดีฆาตกรรมเป็นเหมือนละครให้คนติดตาม
คำถามสำคัญในเรื่องนี้คือสังคมไทยมีกลไกที่ควบคุมการทำงานของสื่ออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่กรณีอย่างลุงพลกลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร้การควบคุมได้อย่างไร และใครคือผู้ที่ควรรับผิดชอบต่อกรณีการปั้นแต่งเรื่องราวให้ผู้ต้องหากลายเป็นคนโด่งดังแบบที่เกิดขึ้น

| corporate compliance insights
3. การสืบคดีล่าช้า
คดีน้องชมพู่เกิดขึ้นวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 กว่าจะออกหมายจับผู้ต้องหาได้เจ้าหน้าที่ใช้เวลามากกว่า 1 ปี โดยหลักฐานสำคัญในการจับกุมครั้งนี้คือเส้นผมของลุงพล 3 เส้นซึ่งเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ที่น่าสนใจคือจากรายงานของเจ้าหน้าที่พบว่าลุงพลมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยมาตั้งแต่ต้น
ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจคาดการณ์ชัดเจนว่าผู้ต้องหาต้องเป็นคนใกล้ชิดกับน้องชมพู่ ในเวลาที่เกิดคดีลุงพลไม่สามารถยืนยันที่อยู่ของตัวเองได้ ลุงพลเป็นผู้ที่นำเสื้อผ้าเตรียมไว้ในตอนพบร่างโดยที่ยังไม่มีใครทราบว่าศพอยู่ในสภาพเปลือย ในการสอบสวนพบว่าลุงพลมีพิรุธระหว่างการจับเท็จ
ด้วยหลักฐานหลายประการทำให้มีการตั้งคำถามถึงระยะเวลาการสอบสวนที่กินเวลายาวนานมากกว่า 1 ปีนั้นนับว่าล่าช้าเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะหากมีการพบเส้นผมในที่เกิดเหตุก่อนหน้านี้ควรปิดคดีได้อย่างรวดเร็วโดยไม่กินเวลายาวนานกว่า 1 ปี

| corporate compliance insights
4. ปล่อยข่าวเพื่อกลบข่าว?
อีกหนึ่งกระแสที่มีการพูดถึงบนโลกออนไลน์คือการออกหมายจับลุงพลเพื่อให้สังคมมุ่งความสนใจในคดีความมากกว่าสนใจจับตาประเด็นอื่นๆ โดยมีข้อเสนอว่าเป็นการใช้ลุงพลที่ยืดเยื้อมานาน อยู่ๆ ก็มีการแสดงหลักฐานที่ชัดเจน ออกหมายจับขึ้นมาหลักคดีผ่านมานานกว่า 1 ปี อาจเป็นการรายงานเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการประชุมสภาเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2565 ซึ่งยังอยู่ในช่วงอภิปราย จัดสรรงบให้กับกระทรวงต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญในภาพรวม
อย่างไรก็ดีนี่เป็นการตั้งข้อสังเกตของประชาชนบางส่วนเท่านั้น โดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ (และเชื่อว่าไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้เช่นกัน)
ทั้งนี้กรณี ‘ลุงพล’ นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในสังคมไทยที่ทำให้เราได้เห็นแง่มุมต่างๆ ในสังคม พร้อมยังมาตั้งการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการทำงานของสื่อและการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
คุณล่ะมองปรากฏการณ์ลุงพลในมิติไหน? คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้มาแชร์กัน
อ้างอิง:
- BBC. น้องชมพู่: มองกระแส “ลุงพล-ป้าแต๋น” ผ่านความเห็นนักวิชาการ. https://bbc.in/3gih3e3
- กรุงเทพธุรกิจ. ปรากฏการณ์ ‘ลุงพล’ …ความพิกลพิการของ ‘สื่อ’ ?. https://bit.ly/3uIYl48
- ไทยรัฐ. ออกหมายจับ “ลุงพล” 3 ข้อหา คดี “น้องชมพู่”. https://bit.ly/3vMXOjg
- เดลินิวส์. เปิดโทษ3ข้อหา’ลุงพล’ หนักสุด15ปีอำพรางคดีเจอ2เท่า. https://bit.ly/34HycZ7
+0