2 Min

เฟมทวิต vs เบียวชิบหาย ใครเป็นใครในสงครามทวิตเตอร์?

2 Min
1146 Views
17 Nov 2021

หลายคนน่าจะเคยเห็นปรากฏการณ์ “สงคราม” บนโลกออนไลน์ระหว่างกลุ่ม 2 กลุ่มที่ถูกเรียกว่า “เฟมทวิต” และ “เบียวชิบหาย” (เบียวธเนศ, ผู้ชายกรุปธเนศ ฯลฯ) กันมาบ้างในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่พวกเขาเป็นใคร แล้วชื่อประหลาดๆ ทั้ง 2 ชื่อนี้แปลว่าอะไรบ้าง เราจะมาอธิบายให้ฟังคร่าวๆ กัน

1. เบียวชิบหาย

The sanctuary of เบียวชิบหาย ชื่อกลุ่มเฟสบุ๊คที่มีการโพสต์ข้อความที่เป็นมุกตลกล้อเลียนในรูปแบบต่างๆ ทั้งกลุ่มผู้หญิง กลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีการแสดงความคิดเห็นในเชิงล้อเลียนโดยระบุว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและล้อเลียนกลุ่มที่ต้องการเรียกร้องสิทธิโดยมองผู้ชายเป็น “ตัวร้าย”

แม้ว่าจะไม่ได้มีหลักฐานที่แน่ชัดอะไร แต่หลายคนเชื่อว่าสมาชิกกลุ่มเบียวชิบหายนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก “ผู้ชายกลุ่มธเนศ”

ธเนศไหน? คำว่า ธเนศ ที่ถูกเรียกกันนี้มาจากชื่อของนักวิชาการชื่อดัง “ธเนศ วงศ์ยานนาวา” แต่นี่ไม่ใช่กลุ่มที่มีผู้นำเป็นอาจารย์ธเนศแต่อย่างใด กลุ่มนี้คือคนที่เคยเป็นสมาชิกของกลุ่ม Thanes Wongyannava กรุปที่เปิดให้ถาม-ตอบกับอาจารย์ แต่หลังจากที่มีการเข้าไปตั้งคำถามที่สร้างให้เกิดความเกลียดชัง การเหยียด การใช้ภาษาที่รุนแรง (จนมีการแคปไปพูดถึงบนโลกทวิตเตอร์บ่อยๆ จนเกิดคำเรียก “ผู้ชายกลุ่มธเนศ” ขึ้น) ไปจนถึงเรื่องที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ของอาจารย์ธเนศ กลุ่มนี้จึงปิดตัวไปในที่สุด

ซึ่งหลายๆ คนก็เชื่อว่าสมาชิกกลุ่ม “The sanctuary of เบียวชิบหาย” ส่วนหนึ่งมาจาก “ผู้ชายกลุ่มธเนศ” ทำให้บางคนก็เรียกพวกเขาแบบรวมๆ ว่า “เบียวธเนศ” แต่ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวเองก็ปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

2. เฟมทวิต

คำว่า “เฟมทวิต” ในช่วงแรก เกิดจากการล้อเลียนของ “ผู้ชายกลุ่มธเนศ” (ซึ่งไม่มีอาจารย์ธเนศ) ว่าเป็นกลุ่มคนที่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในโลกของชายเป็นใหญ่ แต่มีวิธีการแสดงออกในการ “กด” ผู้ชายลงแทน ยกตัวอย่างเช่นประโยคนำพาดราม่าอย่าง *en r *rash(ผู้*ายคือขยะ) ไปจนถึงมองว่ากลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการเรียกร้องอย่างจริงจัง เอาแต่ “ฉอด” ในทวิตเตอร์มากกว่า จึงเรียกว่า “เฟมทวิต” เพื่อเป็นการล้อเลียนว่าไม่ใช่ “เฟมินิสต์”

แต่กลุ่มเฟมทวิตเอง ก็ใช้คำนี้เรียกตัวเอง โดยมองว่าเป็นการยืนยันที่จะเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศผ่านแพลตฟอร์มทวิตเตอร์แทน ปัจจุบันกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเฟมทวิตมีจำนวนมากขึ้นและมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่มองว่าต้อง “กด” ผู้ชายลงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม แต่หลัก ๆ ยังคงเน้นไปที่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ตั้งแต่เรื่องการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การใช้มุกตลกหรือล้อเลียนเรื่องเพศ

3. เรื่องนี้บอกอะไร?

อย่างที่กล่าวมาในข้างต้น ทั้งสองกลุ่มนี้มีความคิดเห็นต่อความเท่าเทียมทางเพศและการแสดงออกที่แตกต่างกันสุดขั้ว และวิพากษ์วิจารณ์กันและกันในรูปแบบที่ค่อนข้าง “รุนแรง” มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเป็นขบวนการที่มีรูปแบบการแสดงออกที่หลากหลาย ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย แต่การโต้เถียง โจมตี ตั้งคำถามของแต่ละฝั่งเอง ก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมมาฉุกคิดพิจารณาว่าความเท่าเทียมทางเพศในสังคมเราตอนนี้เป็นยังไง มีความคิดเห็นมุมมองไหนบ้างในปรากฏการณ์เดียวกัน

คุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับสงครามความเท่าเทียมทางเพศออนไลน์ที่ปะทุตอนนี้

อ้างอิง

  • BBC. เฟมทวิต : ประวัติศาสตร์ของแนวคิดสตรีนิยม และปมขัดแย้งในสังคมไทย. https://bbc.in/37TUVSz
  • Facrbook fanpage เฟมทวิต. https://bit.ly/2Vh3fGW
  • Feminista. เฟมทวิต VS เบียวชิบหาย ว่าด้วยกระแสเฟมินิสต์กับปฏิกิริยาโต้กลับของกลุ่มต่อต้าน. https://bit.ly/2YrkmI0