หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า การ ‘เปิดไฟนอนตอนกลางคืน’ ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เพราะการที่มีแสงไฟเปิดอยู่ในขณะที่เรานอนหลับถือเป็นการขัดขวางการหลั่งของ ‘สารเมลาโทนิน’ ซึ่งหลั่งจากส่วนหนึ่งในสมองอันมีความสำคัญต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย
บ้างก็ว่าทำให้ผิวดูหมองคล้ำ หรือที่ได้ยินกันบ่อยๆ คือทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อภาวะอ้วนหรือความจำแย่ลง จนถึงโรคอัลไซเมอร์ บ้างก็ว่าอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้า แต่จากการศึกษาใหม่พบว่า การเปิดไฟตอนนอนหลับยังสามารถส่งผลต่อสุขภาพหัวใจ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า การนอนหลับโดยมีแสงสว่างแม้ในระดับปานกลาง ก็เป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้ รวมถึงเพิ่มภาวะดื้อต่ออินซูลินในเช้าวันรุ่งขึ้น
ดร.ฟีลลิส ซี (Dr.Phyllis Zee) ผู้ทำการศึกษานี้ กล่าวว่า การค้นพบดังกล่าวมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้คนยุคสมัยใหม่ที่มีการเปิดรับแสงในเวลากลางคืน ในร่ม รวมถึงกลางแจ้งมากขึ้นเรื่อยๆ
“ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เพียงคืนเดียวที่ได้รับแสงไฟระดับปานกลางในห้องตอนนอนหลับ ก็อาจเป็นอันตรายต่อระบบการทำงานของหัวใจได้ อีกทั้งส่งผลให้การควบคุมกลูโคสมีความบกพร่อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน และภาวะการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงแสงไฟขณะนอนหลับ หรือลดปริมาณแสงให้เหลือน้อยที่สุด”
นักวิจัยได้ทำการทดสอบผลการนอนโดยปรับแสงไฟสว่าง 100 ลักซ์ (แสงปานกลาง) เทียบกับการนอนโดยมีไฟสว่าง 3 ลักซ์ (แสงสลัว) ให้แก่ผู้เข้าร่วมการทดลองในการนอนคืนเดียว ปรากฏว่า การมีแสงสว่างในระดับปานกลางขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มสูงขึ้นของสภาวะนี้เป็นสาเหตุทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ และการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดของผู้เข้าร่วมทดสอบสูงขึ้น หรือแม้แต่เพิ่มแรงในการทำงานของหัวใจ
ผลการทดสอบยังแสดงให้เห็นว่า การรับแสงในช่วงเวลากลางวันช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจในแต่ละคน จากการกระตุ้นของระบบประสาทซิมพาเทติก ทำให้มีความตื่นตัวสูงขึ้น โดยระบบประสาทนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘สู้หรือหนี’ (Fight or Flight System) ที่ช่วยให้แต่ละคนเผชิญหน้าความท้าทาย หรือหลีกเลี่ยงอันตราย
ดร.แดเนียลา กริมาลดี (Dr.Daniela Grimaldi) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำการศึกษา กล่าวว่า แม้ในขณะที่เรานอนหลับ ระบบประสาทจะทำการกระตุ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะโดยปกติแล้วอัตราการเต้นหัวใจรวมทั้งปัจจัยที่กำหนดเกี่ยวกับหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดหัวใจจะลดลงในตอนกลางคืน และสูงขึ้นในตอนกลางวัน
เนื่องจากระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานตอนกลางวัน แต่ในตอนกลางคืนจะเป็นระบบประสาทพาราซิมพาเทติกที่ทำงาน ทำให้ร่างกายของแต่ละคนพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกาย อย่างไรก็ตามสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับคนที่นอนหลับตอนกลางคืนโดยมีแสงไฟสว่าง
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบอีกว่า มีภาวะการดื้อต่ออินซูลินในผู้ร่วมทดสอบที่ห้องนอนมีแสงสว่าง ตรงนี้เองคือลักษณะของคนที่ไม่สามารถใช้กลูโคสจากเลือดเป็นพลังงานได้อย่างเท่าที่ควร เพราะเซลล์ในกล้ามเนื้อ ตับ และไขมันไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอย่างเหมาะสม ทำให้ตับอ่อนต้องสร้างอินซูลินมากขึ้น พอเวลาผ่านไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของแต่ละคนสูงขึ้น
“นอกเหนือจากการนอน โภชนาการ และการออกกำลังกาย การได้รับแสงระหว่างเวลากลางวันจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพ แต่ขณะเดียวกันในตอนกลางคืนการสัมผัสแสงที่มีระดับความเข้มเพียงเล็กน้อย จะสามารถสร้างความผิดปกติกับสุขภาพหัวใจ และต่อมไร้ท่อ”
ด็อกเตอร์ฟีลลิสแนะนำวิธีในการลดแสงไฟในห้องนอนไม่ให้สว่างมากเกินไป
- ปิดไฟ หากจำเป็นต้องมีแสงไฟเพื่อความปลอดภัย ก็ควรใช้ไฟแสงสลัวบนพื้น
- ใช้ไฟสีเหลือง หรือแดง/ส้ม จะกระตุ้นสมองน้อยลง ควรหลีกเลี่ยงแสงไฟสีขาว หรือสีฟ้า
- ใช้ผ้าม่านที่ทึบหรือผ้าปิดตา แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงไฟจากภายนอกห้องนอนได้ ก็ควรขยับเตียงนอนเพื่อไม่ให้แสงไฟจากข้างนอกส่องมายังใบหน้า
อ้างอิง
- foxnews. Sleeping with lights off and closed blinds may protect your health: study. https://fxn.ws/3u218Z6