2 Min

ไม่ได้มีแต่เรา ‘ปลาเทราต์’ ก็ติดไอซ์ได้ การวิจัยพบยาเสพติดที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ทำปลาติดสารได้เหมือนกัน

2 Min
1229 Views
26 Jul 2021

ทุกวันนี้เป็นเรื่องยากที่จะหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์และไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ ที่มาจากผลิตภัณฑ์ของมนุษย์ เพราะทุกอย่างที่เราใช้ ไม่ว่าอะไรมันมักไปจบที่ธรรมชาติเสมอ แม้ว่าเราจะพยายามบำบัดน้ำแค่ไหนแล้วก็ตาม ด้วยเหตุผลนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เกิดสงสัยว่าในกรณีที่มีสารเสพติดที่มีฤทธิ์หลอนประสาทปนเปื้อนในแหล่งน้ำ สมมติว่ามีผู้คนจำนวนมากใช้สารและกดมันลงโถส้วมเป็นประจำ จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเหล่าปลาพวกมันจะเสพติดเหมือนกับคนไหม?

เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัย Pavel Horký นักนิเวศวิทยาและทีมจาก Czech University of Life Sciences จากสาธารณรัฐเช็ก นำปลาเทราต์ 60 ตัวมาใส่ในอ่างที่มีการปนเปื้อนของยาไอซ์ (Methamphetamine) ในอัตรา 1 ไมโครกรัมต่อลิตรและให้มันใช้ชีวิตในนั้นเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งเป็นการจำลองผลกระทบหากมีการปนเปื้อนในแม่น้ำ

| CNN

หลังจากนั้นทีมวิจัยก็นำปลาออกมาไว้ในถังน้ำสะอาดเพื่อดูว่ามันมีอาการถอนยา หรือสมองมันยังเสพติดสารอยู่หรือไม่ โดยนักวิจัยสังเกตว่าในช่วง 4 วันแรกมันมีอาการนิ่งๆ ซึ่งมาจากการถอนยา ซึ่งเป็นนัยว่าปลามีความเครียดเมื่อไม่ได้รับสารที่คุ้นเคย

เมื่อครบ 10 วันนักวิจัยให้นำมันใส่ลงในถังพิเศษซึ่งข้างหนึ่งเป็นน้ำสะอาดอีกข้างเป็นน้ำที่มีการปนเปื้อนของยาไอซ์เล็กน้อยโดยที่ใช้เครื่องมือให้น้ำไม่ปนกัน

ซึ่งก็เป็นไปตามที่นักวิจัยคาดการณ์ ปลาที่เคยอยู่ในน้ำที่ปนเปื้อนยาไอซ์รีบว่ายไปอีกฝั่งทันทีเพื่อรับสารที่มันคุ้นเคย ในขณะที่ปลาที่ไม่เคยรับสารเสพติดมาก่อนไม่มีท่าทีจะว่ายข้ามไปแม้แต่น้อย

| CNN

เพื่อให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของปลาอย่าลึกซึ้ง ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองของปลา เพื่อคัดกรองสาร amphetamine และ methamphetamine สารในยาเสพติด ซึ่งพวกเขาค้นพบว่ามีความเข้มข้นที่ต่างต่างกัน แสดงให้เป็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมแน่นอน

ปริมาณ amphetamine ในสมองของปลาที่เคยรับยาเสพติดมาก่อนสัมพันธ์กับพฤติกรรมความนิ่งสงบช่วงที่มีการถอนยา ตรงข้ามกับสาร methamphetamine ที่ปรากฏขึ้นในสมองของปลาที่เลือกว่ายกลับไปในน้ำที่มีสารเสพติดปนเปื้อน สารทั้ง 2 ตัวส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ต่างกัน

เมื่องานวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Experimental Biology สรุปว่ายาไอซ์ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของปลาเทราต์จริงและพวกมันเสพติดสารอย่างแน่ชัดในการทดลองนี้ หากมีการปนเปื้อนในธรรมชาติ มีแนวโน้มว่ามันจะเปลี่ยนพฤติกรรมของปลาไม่ใช่แค่การว่ายน้ำ แต่รวมถึงการหาอาหารและการหาคู่ด้วย

อย่างไรก็ดียังไม่เคยมีการศึกษาว่ามียาไอซ์ปนเปื้อนในแหล่งน้ำมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือไม่ได้มีแค่เราที่เสพติดสารในสมอง ปลาเทราต์ก็ติดยาไอซ์ได้เหมือนกัน

อ้างอิง