2 Min

รถติด-อุบัติเหตุน้อย’ จริงไหมไม่รู้ แต่วิจัยชี้ถ้าเจอรถติดเกิน 3 ช.ม./วัน มีผลให้ป่วยทางกาย-สุขภาพจิตย่ำแย่

2 Min
1813 Views
30 May 2022

ในหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลพยายามแก้ปัญหารถติด เนื่องจากมีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าการใช้เวลากับการจราจรที่ติดขัด ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะการคมนาคมที่ล่าช้าคือการสูญเสียโอกาสในหลายด้าน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน ผลที่ตามมาก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในระบบสาธารณสุข

แต่ก็มีบางประเทศอีกเช่นกันที่ผู้นำบอกให้คนส่วนใหญ่มองข้อดีของการจราจรแออัด โดยบอกว่ารถมันติด อุบัติเหตุก็น้อย อย่างน้อยก็ไม่ตาย รถวิ่งเร็วไม่ได้ เทียบกับถนนบ้านอื่น เราดี ถือว่าดีมากแล้วนะ 

ฟังดูแล้วก็เป็นความพยายามที่จะมองโลกแง่ดี แต่ถ้าไปดูงานวิจัยหลายๆ ชิ้นซึ่งจัดทำขึ้นในประเทศที่มีปัญหาการจราจรแออัดจะพบว่าข้อเสียของรถติดแซงหน้าข้อดีของมันไปมากโข

บทความที่เคยตีพิมพ์ใน The New York Times สื่อเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา ระบุถึงงานวิจัยต่างๆ ในปี 2019 รวมถึงงานของสถาบันการคมนาคมเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม (Texas A&M Transportation Institute) ระบุว่า ชาวอเมริกันที่ใช้รถใช้ถนนเสียเวลาโดยเฉลี่ย 42 ชั่วโมงต่อปีให้กับรถติดระหว่างชั่วโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะชาวอเมริกันในลอสแอนเจลิสเสียเวลากับรถติดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ย และเวลาที่เสียไปกับการนั่งเฉยๆ ระหว่างรถติด มีผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสูญเสียทางเศรษฐกิจ

งานวิจัยอธิบายว่า รถติดทำให้คนขับรถส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยเปล่าประโยชน์ไปในระหว่างรถติด แถมยังเพิ่มปริมาณมลพิษทางอากาศ กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจของกลุ่มเด็กและผู้มีโรคประจำตัว และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อทั้งโลก

ส่วนผลกระทบที่มีต่อสุขภาพจิต เป็นเพราะรถติดทำให้คนสูญเสียเวลาในชีวิต ไม่มีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นการสันทนาการ ไม่ได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพกับคนใกล้ชิด นอกจากนี้การที่คนอยู่บนรถบนถนนนานๆ ทำให้เกิดภาวะเครียดและหงุดหงิด หลายคนอาจนำความหงุดหงิดนี้ไประบายกับคนใกล้ตัว เสี่ยงเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชาร์จาห์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ศึกษาสุขภาพจิตของชาวเมืองชาร์จาห์ เมืองใหญ่อันดับ 3 ของยูเออี ซึ่งเป็นเมืองที่มีปัญหาการจราจรติดขัดหนักกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ พบว่า คนในเมืองนี้ใช้เวลาบนถนนเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน โดยการวิจัยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนขับยานพาหนะต่างๆ ในเมืองนี้ รวม 414 คน พบว่า 86.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากปัญหารถติด และงานวิจัยชิ้นนี้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมนานาชาติด้านสุขภาพและประสาทวิทยาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นที่มาเลเซียเมื่อปี 2017

สาเหตุของภาวะทางจิตใจที่ย่ำแย่ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชาร์จาห์ ระบุว่า รถติดทำให้คนต้องขับรถติดต่อกันเป็นเวลานานในสภาพการจราจรที่เต็มไปด้วยยานพาหนะรอบตัว ทำให้ต้องระมัดระวังและใช้สมาธิตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ความหดหู่ รวมถึงความก้าวร้าวเมื่อเจอรถคันอื่นแซงหรือปาดหน้า ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย เพราะการนั่งในท่าเดิมนานๆ ทำให้ปวดหลัง ปวดขา ปวดหัว และเวียนหัว 

อ้างอิง

  • The MATTER. พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนาความปลอดภัยทางถนน เมื่อวันที่ 25 .. 2565. https://bit.ly/3wOrC0n
  • The New York Times. Stuck and Stressed: The Health Costs of Traffic. https://nyti.ms/3GhXwa5
  • ResearchGate. EFFECT OF TRAFFIC CONGESTION ON MENTAL HEALTH. https://bit.ly/3MRhavR
  • IOMC World. Traffic congestion and long driving hours: Impact on stress, emotional and physical health among drivers in Sharjah. https://bit.ly/3N1TLrC
  • MPDI. Understanding the Effect of Traffic Congestion on Accidents Using Big Data. https://bit.ly/3yWlsOA