เปิดคอลเลกชัน ‘แผนที่โบราณ’ ของเหล่ากษัตริย์ยุคล่าอาณานิคม ไม่ได้สะสมเพื่อความรู้ แต่เพื่อ ‘อำนาจ’ ด้วย

2 Min
310 Views
30 May 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดให้คนเข้าถึงข้อมูล ‘แผนที่โบราณ’ แบบออนไลน์ เพื่อคนที่สนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ และการเมืองยุคโบราณ ขณะที่พิพิธภัณฑ์บริติชในอังกฤษก็เป็นหนึ่งในแหล่งจัดเก็บแผนที่ออนไลน์กว่า 32,000 ชิ้น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของอดีตพระเจ้าจอร์จที่ 3 พร้อมคำอธิบายว่าทำไมเหล่ากษัตริย์ถึงลุ่มหลงในการสะสมแผนที่

ภาพแผนที่ ภูมิประเทศ และผังเมืองสมัยโบราณ ทั้งในยุโรป-อเมริกา-เอเชีย นับพันๆ ชิ้น ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2023 โดยเปิดให้คนทั่วโลกเข้าถึงชุดข้อมูลกันได้อย่างเต็มที่ผ่านโลกออนไลน์

แต่นี่ไม่ใช่คอลเลกชันใหญ่ที่สุด เพราะก่อนหน้านี้พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ของอังกฤษก็ได้เปิดฐานข้อมูลออนไลน์ที่เป็นแผนที่ของราชวงศ์อังกฤษในอดีตซึ่งเก็บสะสมมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 (King George III) ผู้ปกครองดินแดนแถบนั้นช่วงศตวรรษที่ 18 และถูกจารึกว่าเป็นกษัตริย์ที่สูญเสียดินแดน ‘อเมริกา’ ไป แถมยัง ‘วิปลาส’ ในช่วงบั้นปลายชีวิต

อย่างไรก็ดี สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้กันคือ พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเป็นนักสะสมแผนที่และข้อมูลภูมิศาสตร์ตัวยง โดยมีการเปิดห้องสมุดของราชวงศ์ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อสะสมหนังสือและข้อมูลต่างๆ รวมถึงแผนที่ซึ่งกล่าวถึงดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ทั้งยังแสวงหาและรวบรวมแผนที่เก่าแก่ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 16 จนถึงรัชสมัยของตัวเอง และเมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าจอร์จที่ 3 กษัตริย์อังกฤษที่ครองบัลลังก์ต่อมาก็ยังสะสมข้อมูลต่างๆ ต่อเนื่องจนถึงศตวรรษที่ 19 ก่อนจะบริจาคให้เป็น ‘สาธารณสมบัติ’ ช่วงศตวรรษที่ 20

พอเข้าสู่ยุคดิจิทัล พิพิธภัณฑ์บริติชที่เป็นผู้เก็บรักษาคอลเลกชันแผนที่ของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ก็เปิดตัวคอลเลกชันดิจิทัลทาง Flickr ในปี 2020 โดยจำนวนไฟล์ตอนแรกมีประมาณ 18,000 ชิ้น ก่อนจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มเติมไฟล์ดิจิทัลของทั้งแผนที่ หนังสือ รวมถึงบันทึกเกี่ยวกับภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ในยุคโบราณต่อมาเรื่อยๆ จน ณ ปัจจุบันมีไฟล์เพิ่มขึ้นเป็น 32,000 ชิ้นแล้ว

ที่จริงการจัดทำแผนที่คือภารกิจของบรรดานักสำรวจและกองทัพของราชวงศ์ยุคโบราณ แต่เหตุผลเบื้องหลังการสะสมแผนที่และข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของกษัตริย์ไม่ใช่แค่การศึกษาหาความรู้ แต่คือการสำรวจดินแดนอันไกลโพ้นเพื่อจะดูว่าการแผ่ขยายเส้นทางการค้า ขยายอำนาจ และล่าอาณานิคม จะไปได้ไกลเพียงไหน และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไรในยุคนั้น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กษัตริย์หลายพระองค์ทั่วโลกจะมีความสนใจคล้ายๆ กันเรื่องแผนที่และภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ และในกรณีของหลายๆ ราชวงศ์ในยุโรปสมัยโบราณ คอลเลกชันเหล่านี้ก็กลายเป็นมรดกตกทอดที่เปิดกว้างให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ในยุคต่อๆ มาที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ยิ่งคอลเลกชันแผนที่ถูกเปิดให้คนเข้าถึงได้จากทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์ การย้อนไปดูข้อมูลในอดีตที่พูดถึงดินแดนต่างๆ จึงเป็นเหมือนแหล่งอ้างอิงชั้นดีแก่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่และคนที่อยากจะหาความรู้หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์และการเมืองโลก

และในยุค Woke ที่มีการมองบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในอดีตโดยผูกโยงกับการล่าอาณานิคมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ได้มองแต่ความรุ่งเรืองร่ำรวยเพียงอย่างเดียว การแบ่งปัน ‘องค์ความรู้’ จากคอลเลกชันเหล่านี้จึงอาจจะนับเป็นหนึ่งใน ‘คุณูปการ’ ของผู้ทรงอำนาจยุคโบราณซึ่งสืบทอดมาถึงคนรุ่นหลังได้อย่างสมศักดิ์ศรี

อ้างอิง