5 Min

คุยกับผู้กำกับ ‘ร่างทรง’ หนังที่กล้าตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ ของ ‘โต้ง-บรรจง’

5 Min
1474 Views
07 Nov 2021

Select Paragraph To Read

  • ‘ร่างทรง’ เป็นหนังสยองขวัญ แล้วคุณมีความเชื่อเรื่องผีสางมากน้อยแค่ไหน
  • แล้วไม่กลัวแต่ต้องมาทำหนังผี ทำได้ไหม
  • ในมุมมองของคุณ ‘ผี’ คืออะไร
  • ถ้าโลกหลังความตายมีจริง คิดว่าภาพจะเป็นอย่างไร
  • ทำไมคุณถึงลงไปรีเสิร์ชร่างทรงด้วยตัวเอง
  • แล้วไปรีเสิร์ชด้วยความเชื่อแบบไหน
  • คิดเห็นอย่างไรทำไมถึงยังมีการนับถือผีอยู่
  • จากที่คุณไปเจอมา ร่างทรงเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกรับการสืบทอดไหม
  • คุณมองเรื่องผีที่อยู่รอบๆ ตัว ด้วยสายตาแบบไหน
  • หลังจากทำหนังผีมาหลายเรื่อง มีมุมมองเปลี่ยนไปไหม
  • คุณคิดเห็นอย่างไรกับประโยคไม่เชื่ออย่าลบหลู่
  • แล้วคิดว่าสามารถตั้งคำถามเรื่อง ‘ความเชื่อ’ กับ ‘ความศรัทธา’ ได้ไหม
  • ในมุมคนทำหนัง เคยสำรวจไหมว่าตัวเองมีความเชื่ออะไรบ้าง
  • และมีอะไรที่ได้คำตอบบ้างหรือยัง
  • คิดว่าหนังผีที่ผ่านๆ มากับ ‘ร่างทรง’ ต่างกันอย่างไร
  • คิดว่าการทำร่างทรง เป็นการก้าวไปอีกสเตปไหม
  • แล้ววิธีการทำงานมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า
  • เคยคาดหวัง หรือกดดันกับตัวเองไหม
  • สุดท้ายนี้เคยคิดไหมว่าสเต็ปต่อไปของคุณเป็นแบบไหน

นาทีนี้หากพูดถึงภาพยนตร์สยองขวัญที่กำลังเป็นกระแสมาแรง และเป็นที่กล่าวขานอย่างล้นหลาม คงหนีไม่พ้น ‘ร่างทรง’ ผลงานการเขียนบทและกำกับเรื่องล่าสุดของ ‘โต้ง’-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังค่ายจีทีเอช (GDH) โดยหนังเรื่องนี้ได้ นา ฮง-จิน (Na Hong-jin) ผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชื่อดังชาวเกาหลีใต้ มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้

‘ร่างทรง’ ได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของไทยในปีนี้ อีกทั้งยังได้รับเลือกจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ให้เป็นตัวแทนของภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 ในสาขา Best International Feature Film (สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม) อีกด้วย

จากการสร้างสรรค์ผลงานที่ให้สัมผัสที่แปลกใหม่สำหรับสไตล์หนังผีที่ไม่เคยมีมาก่อน วันนี้เราจึงชวน โต้ง-บรรจง มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการทำร่างทรง ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของ ‘ความเชื่อ’ ของผู้คน และบอกเล่ามุมมองของคนทำหนังสยองขวัญ แต่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีๆ สางๆ ว่าเป็นอย่างไร สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ข้างล่างได้เลย

‘ร่างทรง’ เป็นหนังสยองขวัญ แล้วคุณมีความเชื่อเรื่องผีสางมากน้อยแค่ไหน

พอพูดถึงความเชื่อเรื่องผี มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามวันเวลา แต่เราไม่เคยเจอ และไม่กลัวด้วย เลยทำให้ไม่ได้คิดเรื่องนี้ ซึ่งถ้าเกิดอะไรแปลกๆ เราก็พยายามหาคำตอบว่ามันคืออะไร ซึ่งยังไม่เคยเจอกับตัวเอง มีแต่คนรอบข้างเคยเจอ จะบอกว่าไม่เชื่อก็ไม่กล้าฟันธง แต่คิดว่าก็คงคล้ายๆ พลังงานที่สัมผัสได้ แต่ไม่เชื่อว่าจะมาปองร้ายอะไร

แล้วไม่กลัวแต่ต้องมาทำหนังผี ทำได้ไหม

แล้วไม่กลัวแต่ต้องมาทำหนังผี ทำได้ไหม

เราก็ต้องเข้าใจหนังผี ไม่งั้นก็คงทำผีไม่ได้ โชคดีที่ตอนดูหนังผีแล้วเรากลัว เราบันเทิง เราสนใจในศิลปะของมันที่สามารถทำให้คนดูกลัว ดูแล้วมีความรู้สึกว่า โห ซีนนี้น่ากลัวมาก แต่เมื่อดูจบแล้วก็ไม่ได้กลัว แต่มันก็มีบ้างเหมือนกันที่ตามหลอนกลับมาถึงบ้าน

ในมุมมองของคุณ ‘ผี’ คืออะไร

ผี น่าจะคือสิ่งลี้ลับที่เราอาจมองไม่เห็น แต่อาจสัมผัสได้ เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งคล้ายกับโลกหลังความตาย

ถ้าโลกหลังความตายมีจริง คิดว่าภาพจะเป็นอย่างไร

น่าจะเป็นเรื่องที่ยึดติดกับโลกที่ยังมีอยู่ เราไม่ค่อยเชื่อเรื่องชาติหน้าเสียเท่าไหร่ เราคิดว่าหลายๆ อย่างที่เราเกิดมาคล้ายๆ ความบังเอิญ ถ้ามันจะมีบางอย่างอยู่ก็คงเป็นเชื่อมโยงกับสิ่งที่ยังยึดมั่นในโลกที่เขาเคยอยู่

ทำไมคุณถึงลงไปรีเสิร์ชร่างทรงด้วยตัวเอง

ตอนทำร่างทรงเราต้องรีเสิร์ช เพราะเราไม่รู้โลกเป็นยังไง ถ้าเราไม่รู้จักเลย เราก็จะเขียนไม่ได้ เพราะร่างทรงมีเยอะมากๆ ตั้งแต่ต้มตุ๋นสุดๆ ไปยันสมถะมากๆ และพิธีกรรมก็เยอะ จึงต้องไปเจอเพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะกับหนัง นำไปผสมผสานกันจนออกมา เพราะตอนแรกมาจากบทเกาหลี ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจ แต่พอมาเปลี่ยนเป็นไทย เราก็ต้องลงไปเจอเยอะๆ เพื่อทบทวนว่าเราเข้าใจมันว่าอะไร

เราไปรีเสิร์ชตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และกรุงเทพนิดหน่อย เลือกฉากหลังที่เราอยากถ่ายด้วย ซึ่งแต่ละจังหวัด แต่ละภาคก็จะมีดีเทลที่แตกต่างกัน โดยอิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้านก็มีส่วนมากเลยทีเดียว

แล้วไปรีเสิร์ชด้วยความเชื่อแบบไหน

ต้องบอกก่อนเลยว่าตอนแรกไม่เชื่อ แต่ตอนไปรีเสิร์ชเราก็จำเป็นต้องผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง ไม่ได้ไปตัดสินเขา มันก็มีบ้างที่แบบต้มตุ๋นเหลือเกิน อดขำไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายามจะเข้าใจเห็นมิติที่หลากหลาย ทำไมคนถึงยังไปหาร่างทรง เจ็บป่วยแบบไหนถึงไปหาร่างทรง แล้วทำไมไปหาเขาถึงหายดีขึ้น

คิดเห็นอย่างไรทำไมถึงยังมีการนับถือผีอยู่

คนเราต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มนุษย์พยายามหาคำตอบให้ตัวเองสบายใจ ศาสนาอย่างเดียวคงไม่พอมั้ง แล้วคนไทยเป็นชาติที่เอาทุกทางจริงๆ เลยไม่มีใครบอกได้ว่า ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ แต่ตราบใดที่ไคล้พยายามหาคำตอบในแบบของตัวเอง เพื่อหาทางใหม่ๆ ให้ตัวเองอยู่รอด

จากที่คุณไปเจอมา ร่างทรงเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกรับการสืบทอดไหม

เท่าที่เจอมา หากไม่รับก็เชื่อกันว่าจะไม่รอด จะเจ็บป่วยอย่างรุนแรงอย่างยาวนาน ยังไม่เจอสักรายเลยที่หนีพ้น ซึ่งไม่แฟร์อยู่แล้ว เพราะถ้าต้องเป็นเรา เราจะหนีทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นี่แหละคือความน่าสนใจ ที่ในเรื่องนี้จะพูดถึงเรื่องชะตากรรม และความแฟร์ของมัน แต่จะหนีได้ไม่ได้ต้องไปดูกัน

คุณมองเรื่องผีที่อยู่รอบๆ ตัว ด้วยสายตาแบบไหน

ตอนเด็กเราค่อนข้างลบหลู่เลย ไม่เชื่ออย่างรุนแรง แต่พอโตขึ้นมามีคนเชื่อเยอะแยะ เราจะไปแสดงออกอย่างนั้นทำไม เราก็แค่เคารพในการตัดสินใจของเขา และคำว่า ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ ก็จะไม่พูดในแง่ทางเสียดสีแหละ

หลังจากทำหนังผีมาหลายเรื่อง มีมุมมองเปลี่ยนไปไหม

แม้จะทำหนังผีมาสิบๆ ปีก็ยังไม่เปลี่ยนไป เพราะว่าไม่เชื่อ และไม่เคยเจอ แต่มันเปลี่ยนไปด้วยบริบทผู้คนมากกว่า และการที่อายุเยอะขึ้น พอโตขึ้นก็ไม่พยายามไปพูด ไปบอกเขาว่าไม่จริง เพราะคนอื่นเชื่อเยอะแยะ และคนอื่นก็เคยเจอจริงๆ แค่จะบอกว่าส่วนตัวอาจจะคิดอีกแบบ แต่ที่คนอื่นเจอก็เป็นอีกแบบที่อธิบายไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าเขาเจออะไรมา

คุณคิดเห็นอย่างไรกับประโยคไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ตอนเด็กๆ ก็คิดอย่างนั้น เหมือนคนไทยมากๆ แปลว่าปล่อยให้งมงายกันต่อไปเหรอ แต่คำถามคือพิสูจน์ได้เหรอ ซึ่งถ้ายังพิสูจน์ไม่ได้ก็อย่าไปพูดหักหาญคนอื่น ซึ่งถ้าพิสูจน์ได้ในบางเรื่อง แล้วเราไม่เห็นด้วย ก็แสดงตัวตนจุดยืนออกมาบ้าง เช่น บางคนเชื่อเรื่องแก้ชง มันจะได้จริงเหรอวะ แล้วความดีที่มาตลอดชีวิตไม่มีความหมายเลยเหรอวะ แต่ถ้าเป็นเรื่องผีที่เรายังไม่มีเหตุผลมาหักล้าง ก็ไม่ต้องพูดอะไรก็ได้

แล้วคิดว่าสามารถตั้งคำถามเรื่อง ‘ความเชื่อ’ กับ ‘ความศรัทธา’ ได้ไหม

ไม่มีใครไปห้ามใครได้อยู่แล้วกับการตั้งคำถาม ซึ่งร่างทรงก็ตั้งใจที่จะตั้งคำถามเลย คือตั้งคำถามกับศรัทธา แต่จริงๆ ก็ตั้งได้หมด แค่เราไม่ตั้งแง่ในเรื่องของบุคคลมากกว่า เพราะสุดท้ายยังไม่มีคำตอบ เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบ แต่ในแง่ศิลปะมันควรตั้งคำถาม มันสนุกดี แค่ตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วผีมีจริงเหรอ เพราะเราไม่ต้องการคำตอบ ไม่เหมือนเหมือนวิทยาศาสตร์

จริงๆ ทุกอย่างในโลกมันต้องตั้งคำถามได้ อย่างกระทั่งเรื่องพระเจ้า อาจจะแค่เราอยู่ในประเทศที่การตั้งคำถามกลับกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว

ในมุมคนทำหนัง เคยสำรวจไหมว่าตัวเองมีความเชื่ออะไรบ้าง

เคย มีเยอะนะ พอทำเรื่องร่างทรง เรากับทีมจะถกเถียงกันตลอดว่าอะไรคือสิ่งที่เราเชื่อ อย่างเรื่องศาสนา เราก็ไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งขนาดนั้น มีคุยกันในทีมว่าแล้วอะไรคือสิ่งเริ่มต้น อะไรคือสิ่งที่คนยุคหลังต่อเติมหรือเปล่า ซึ่งก็ยังไม่ได้คำตอบ มันเพียงแค่ให้ได้คิด ได้ทบทวนตัวเองมากกว่า

การทำหนังเรื่องนี้มันก็ได้ตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เหมือนชีวิตแหละที่เจอแล้วก็ถามไปเรื่อยๆ ว่าเราเชื่อในอะไร อย่างตอนเด็กเชื่ออย่างหนึ่ง ตอนนี้เชื่ออีกแบบ ก็คิดว่ามันใช่หรอวะกับสิ่งที่เราศรัทธามา ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่ามัน ‘จริง’ หรือ ‘ไม่จริง’

และมีอะไรที่ได้คำตอบบ้างหรือยัง

สิ่งที่ได้คำตอบมากๆ เลยคือ เราเป็นใครถึงไปตัดสินเขา

ตอนแรกๆ เราแบบว่า ทำไมคนไปหาร่างทรง ทำไมเขาถึงเชื่อวะ แต่พอไปเจอจริงๆ เราจะไปตัดสินเขาได้อย่างไร ในเมื่อการแพทย์ช่วยเขาไม่ได้ แล้วเขาดีขึ้นจริงๆ ถึงแม้เราอาจจะคิดว่าเขาคิดไปเอง แต่แล้วไงล่ะ อันนี้คือสิ่งที่ได้คำตอบเลย เราจึงควรมองหลายๆ มิติก่อนที่ไปตัดสินใจเขา

คิดว่าหนังผีที่ผ่านๆ มากับ ‘ร่างทรง’ ต่างกันอย่างไร

ร่างทรงแตกต่างกับหนังที่เคยทำมาอย่างสุดขีด เราพยายามทำงานให้เข้าถึงคนหมู่มาก บางครั้งเราก็กลัวว่าเขาจะไม่เก๊ต หรือเขาจะรู้สึกเกร็งมากๆ เพราะเรื่องร่างทรงมันแรง รวมถึงเลือกวิธีการเล่าเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมาก แต่พอทำงานกับคุณ นา ฮง-จิน ไปเรื่อยๆ เลยรู้สึกท้าทายทั้งตัวเอง และคนดูไปพร้อมๆ กัน เราได้ทดลองในการทำสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น กลัวน้อยลง มีความกล้าขึ้นมา และที่สำคัญเราได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

สมัยก่อนหนังกับที่ผ่านๆ มา เราใช้ทุกนาทีอย่างคุ้มค่า เป็นหนังที่พยายามขับเคลื่อนพล็อตอย่างรวดเร็ว และมีพลังเท่าที่เป็นได้ แต่เรื่องร่างทรงเราถอยออกมา อยากให้เป็นหนังที่มีบรรยากาศค่อยๆ ซึมซับ แล้วค่อยๆ กลัวกับทุกอย่างในเรื่อง แทนที่กลัวฉากผีฉากนั้นๆ

คิดว่าการทำร่างทรง เป็นการก้าวไปอีกสเตปไหม

ถ้าบอกว่าการทำร่างทรงเป็นอีกสเต็ป มันไม่ได้แปลว่าตัวเองเหนือขึ้นนะ แค่ตัวเองได้ทำสิ่งใหม่มากกว่า อาจจะเป็นอีกสเต็ปในแง่ที่เราไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยพล็อตขนาดนั้นแล้ว และมีคนเชียร์ให้เราท้าทายตัวเอง และคนดูมากขึ้น

แล้ววิธีการทำงานมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า

10 กว่าปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากๆ

ตอนเด็กๆ เราจะไม่กลัว เราจะไม่กล้าเปลี่ยนเลย เปลี่ยนอะไรทีหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่ พอโตขึ้นได้กำกับเดียวเราก็กล้าค้นหาหน้ากองมากขึ้นด้วย

สำหรับสิ่งเหมือนเดิมก็คือ เรายังซื่อสัตย์กับตัวเอง จะทำหนังที่อยากทำจริงๆ แล้วเราอยากดูมัน ถึงแม้โชคดียังทำหนังที่ได้เงินมาตลอด แต่เรายังไม่โดนเรื่องความคิดนายทุนมาครอบงำเราเลย เช่น ยังไงเราก็ต้องทำ ‘พี่มากพระโขนงภาค 2’ เราจะไม่ดันทุรังเพื่อความสำเร็จแทนการเงิน แต่เราจะตื่นเต้นกับทิศทางการกำกับมากกว่า

ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนไปก็มีเยอะเหมือนกัน บางด้านรีแลกซ์มากขึ้น บางด้านก็กลัวมากขึ้น รู้สึกตอนโตขึ้นมาใจเสาะขึ้นเหมือนกัน โลกมันใจร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะโซเชียล มันก็พูดยาก เราพยายามทำตัวเองให้ไม่แคร์อยู่ แต่ก็ยังไม่สำเร็จเท่าไร

เคยคาดหวัง หรือกดดันกับตัวเองไหม

พยายามจะบอกว่าไม่กดดัน แต่ก็อดไม่ได้ เราก็ไม่ได้อยากเจ๊ง แต่ส่วนมากวัดจากตัวเองมากกว่าเราชอบมันไหม มันสำคัญมาก แค่นี้ก็กดดันพอแล้วว่ามันต้องดีในแบบของเรา

สุดท้ายนี้เคยคิดไหมว่าสเต็ปต่อไปของคุณเป็นแบบไหน

สเตปต่อไปเดายากมากครับ ก็เพราะยังหาเรื่องที่ตื่นเต้นอยู่ แต่คิดว่าก็ยังคงความสยองขวัญไว้อยู่ อาจจะเกี่ยวกับต่างประเทศมั้ง เพราะเรารู้สึกว่ามันท้าทายว่า หนังไทยมันยังไปได้อีกไหมวะ อย่างน้อยเราก็มีชื่อที่คุณนา ฮง-จิน มาโปรดิวเซอร์ให้ แล้วเราจะสามารถก้าวต่อไปด้วยตัวเองได้ไหม

สามารถรับชมมุมมองผู้กำกับ โต้ง-บรรจง ใน “ร่างทรง” เกี่ยวกับผีสาง และความเชื่อแบบวิดีโอเต็มๆ ได้ที่: https://bit.ly/3EK8ao8