‘ระบบการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน’ ปัญหาใหญ่ที่ SME ไทยพบเจอ กับทางออกและ ‘3 วิธีในการเพิ่มยอดขาย’ ในยุคหลังโควิด
หากใครเป็นผู้ประกอบการ SME ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง!
สำหรับงานเสวนาออนไลน์ “6 เรื่องต้องรู้ Restart ธุรกิจให้ Strong สำหรับ SME” ซึ่งจัดขึ้นโดย SME Thailand ร่วมกับ โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ที่จะพาให้ SME พลิกฟื้นธุรกิจหลังวิกฤติโควิด พร้อมปิดจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง พาธุรกิจทะยานไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง
โดยใน EP.2 นี้จะเป็นเรื่อง “Restart ยอดขายให้เติบโตแบบก้าวกระโดด” ที่ไม่ใช่แค่การได้รับความรู้ หรือเทคนิคของคุณสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล นักกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล บริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด แต่ยังมีธุรกิจตัวอย่างของคุณตะวัน ตันวัชรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ รตาวัน จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์ ONG-ORN Furniture จังหวัดเชียงราย และคุณวรเศรษฐ์ สายไหม เจ้าหน้าที่ทีมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ทุกคนได้เรียนรู้กัน
‘รู้ใจผู้บริโภค’ วิธีคิดเพื่อเพิ่มยอดขายให้เติบโต
คุณสุรศักดิ์เหลืองอุษากุลนักกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลกล่าวถึงวิธีคิดที่สำคัญสำหรับการขายของเพื่อเพิ่มยอดขายและเติบโตไปข้างหน้าว่าควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจก่อนว่าคนจับจ่ายใช้สอยตรงไหนและจะทำอย่างไรให้เข้าใจกลุ่มลูกค้าของเราได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ คุณสุรศักดิ์หยิบยกข้อมูลล่าสุดที่ Facebook สำรวจตลาดมาว่า เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา คนเลือกใช้เว็บไซต์ในการซื้อของอยู่ 5 เว็บไซต์ แต่ในปี 2021 มีมากถึง 8 เว็บไซต์ นั่นเป็นเพราะผลกระทบจากโควิดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง รวมไปถึงข้อมูลที่พบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีการเปลี่ยนแบรนด์บ่อย และง่ายมาก ทั้งนี้การที่ยอดขายตกนั้นจึงอาจจะมาจากทั้งกำลังซื้อหด หรือหันไปซื้อของคู่แข่งก็ได้
สิ่งเหล่านี้ทำให้ SME ทั้งหลายต้องย้อนกลับมาดู ‘4 เหตุผล ทำไมกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนใจ’
- เจอสินค้าที่คุ้มค่ากว่าเดิม
- เจอสินค้าดีมากกว่าเดิม
- อยากเปลี่ยนใจไปลองอะไรใหม่ๆ
- ต้องการสินค้าที่รักษ์โลกมากขึ้น เนื่องจากอยากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อทราบเหตุผลข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการก็สามารถนำไปเทียบกับคู่แข่ง เพื่อปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจได้อย่างตอบโจทย์
อีกทั้งระหว่างปี 2020 – 2021 ยังพบว่า ผู้คนซื้อสินค้าทางออนไลน์อยู่ในระดับที่โตขึ้นอย่างมาก ทั้งสินค้าประเภทเครื่องประดับ รวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโดยเฉพาะสินค้าประเภทของใช้ทั่วไป ไม่ว่าจะของสด ของกิน นับว่าโตขึ้นมากที่สุด
รู้จักลูกค้า 2 ประเภทบนโลกออนไลน์
เชื่อว่าเหล่าผู้ประกอบการ SME น่าจะเคยสงสัยกันว่าช่องทางออนไลน์ไหนที่สำคัญ โดยต้องรู้ก่อนว่า กลุ่มลูกค้ามี 2 แบบด้วยกัน
- ลูกค้าที่ตั้งใจเดินเข้ามาซื้อด้วยการทักมาทางเพจ เฟซบุ๊ก หรือส่งข้อความทางอินสตราแกรม
- ลูกค้าที่เดินเล่น ไม่ได้ตั้งใจอยากซื้อ ซึ่งปัจจุบันมักอยู่บนแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Shopee และ Lazada
ดังนั้นตอนนี้ผู้ประกอบการควรมีตัวตนบน 2 แพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อให้คนเห็นมากขึ้น รวมถึงมีแผนที่ชัดเจนในการขาย ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียโอกาส ในขณะเดียวกันถ้าอยากรู้ว่าขายได้หรือไม่ได้ ต้องเริ่มตั้งคำถามใหม่ เพื่อให้ได้รู้จักลูกค้าของตัวเองอย่างแท้จริง
นอกเหนือจากการสร้างยอดขาย ด้วยการมีช่องทางใหม่ๆ แล้ว สุดท้ายก็ยังขึ้นอยู่กับการจัดการต้นทุนให้ดี เนื่องจากลูกค้ามีความคิด ความต้องการที่แตกต่างกันออกไป กลุ่มผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับสินค้าของตัวเอง เพื่อให้คนจดจำเราได้ ซึ่งก็เป็นความยากอย่างหนึ่ง เพราะผู้ประกอบคนอื่นๆ ก็เริ่มพยายามดึงดูดความสนใจลูกค้าเช่นเดียวกับเรา
เช่นนี้เองกลุ่ม SME จึงควรพยายามหาข้อมูล หรืออาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการพูดคุยกับลูกค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ จากการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
3 คำถาม ‘ทำความรู้จักลูกค้า’ เพื่อเพิ่มยอดขาย
ซึ่งจากเรื่องราวข้างต้น ถ้าให้สรุปง่ายๆ สำหรับ ‘วิธีเพิ่มยอดขาย’ ก็มี 3 วิธี ได้แก่
- คุยกับกลุ่มลูกค้าให้เข้าใจว่า อยู่ที่ไหน (แพลตฟอร์มช่องทางใด) ทำอะไร และตั้งโจทย์ว่าเราจะไปอยู่บนช่องทางนั้นได้อย่างไร
- อะไรคือสิ่งที่สำคัญในการซื้อของลูกค้า จึงเน้นย้ำให้กลับมาตั้งคำถามเสมอว่า “ลูกค้าซื้อทำไม?”
- สามารถทำให้ลูกค้าเชื่อในสินค้าหรือตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้ดีกว่าคู่แข่งไหม
ทั้งนี้ทั้งนั้นหากรู้จักกลุ่มลูกค้าของตัวเองดีพอก็จะสามารถสร้างยอดขายได้อย่างก้าวกระโดดคงไม่สามารถมีเทคนิคที่ตายตัวเนื่องจากสินค้าแต่ละตัวก็มีวิธีการค้นหาที่ไม่เหมือนกัน
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือการจัดการบริหารเรื่อง ‘ต้นทุน’ เพราะการจัดการที่ดีสามารถช่วยสนับสนุนยอดขายให้ดีขึ้นได้ จากกรณีศึกษาแบรนด์ ONG-ORN Furniture
ด้านคุณตะวัน ตันวัชรพันธ์ ผู้ผลิตแบรนด์ ONG-ORN Furniture กล่าวถึงปัญหาที่พบเจอมาแล้วส่งผลต่อยอดขายว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทมีการผลิตแบบเดิมๆ ที่คิดเอง ทำเอง ไม่ค่อยมีระบบการจัดการการผลิตที่ดี ที่ชัดเจน ทำให้ควบคุมการผลิตไม่ได้ อีกทั้งใช้เวลานาน คุณภาพของสินค้าคงที่ได้ยาก และที่สำคัญยังเสียโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากเวลาในการผลิตที่เคยทำให้ลูกค้ารอสินค้านานกว่า 6 เดือน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างต้นทุนบานปลาย และสร้างความเสียหายต่อยอดขายมากเลยทีเดียว
ทางคุณวรเศรษฐ์สายไหมเจ้าหน้าที่ทีมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์จึงเข้ามาร่วมพูดคุยร่วมศึกษาดูทุกกระบวนการของบริษัทเพื่อหาสาเหตุให้ได้รับการแก้ไขโดยพบว่า
- อันดับแรกคือ ช่าง 1 คนทำงานทุกอย่างต่อ 1 โมเดล มีช่างทั้งหมด 7 คนจะทำงานกันเป็นจุดๆตั้งแต่แบกไม้ตัดไม้เลื่อยไม้จนขึ้นรูป
- ถัดมาคือ ไม่มีการแบ่งงานระหว่างช่างกับผู้ช่วยช่าง 3 คน ไม่มีระบุหน้าที่ที่แน่นอน
- สุดท้ายคือ กระบวนการผลิตไม่มีมาตรฐานในการทำงาน หรือที่โตโยต้าเรียกว่า WI
โดยแนวทางคร่าวๆที่โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์เข้ามาการปรับปรุงนั่นก็คือ
- การกระจายงานให้ผู้ช่วยช่างคอยช่วย แล้วช่างทำงานประจำอยู่ที่โต๊ะ คอยประกอบเพียงอย่างเดียว
- มาตรฐานในการทำงาน 1 โมเดลใช้ไม้เท่าไหร่ รวมถึงเวลาเข้า – ออก และสามารถรู้เวลาเสร็จของงานที่แน่นอน ลดความล่าช้าของงาน และสามารถส่งให้ได้ตามเวลาที่กำหนด
- สร้างระบบห้องต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นห้องพ่นสี ห้องขัด จัดให้เป็นสัดส่วน เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี และช่วยลดต้นทุนในการผลิต
- มีการจัดทำบอร์ดการสั่งซื้อการผลิตและการส่งมอบสินค้ารวมถึงมีการประชุมเป็นประจำให้เป็นไปตามแพลนที่วางไว้ในรอบนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม นับเป็นการช่วยเหลือหนึ่งธุรกิจในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ ก้าวไกลไม่แพ้บริษัทต่างประเทศ ด้วยการสร้างความเข้าใจในการทำธุรกิจที่ถูกต้อง จึงช่วยแก้ปัญหาทั้งภายในบริษัท ที่ทำให้ทั้งผู้ประกอบการเอง รวมถึงลูกค้าได้รับความสุข
และสำหรับเหล่า SME คนไหนที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม ยังเหลือเสวนาธุรกิจออนไลน์อีก 4 หัวข้อที่น่าสนใจ สามารถลงทะเบียนได้ที่ : https://forms.gle/qpTpWfBDAWSNLBex6 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร : 08-4555-0802