2 Min

เหนื่อย VS. เหนื่อยล้าตลอดเวลา จะแก้อย่างไรเมื่อทำอะไรก็รู้สึกเหนื่อยไปหมด?

2 Min
638 Views
24 Jan 2022

ทุกวันนี้เราหันไปทางไหนก็คงเห็นคนนั้นคนนี้บ่นว่าเหนื่อยหรือเซ็งกันไปหมด ไม่ว่าจะเพราะการเรียนออนไลน์ การทำงานแบบ WFH หรือการที่เราตกอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนหรือทำอะไรได้ตามใจชอบอย่างที่เคยทำมาตลอด ในช่วงเวลาแบบนี้เราปฏิเสธไม่ได้และต้องจำใจยอมรับว่าเราอาจจะรู้สึกเหนื่อยบ่อยหรือมากกว่าที่เคยเป็นมา

ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยดูจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตของเรา แต่จริง ๆ แล้วมันมีเส้นแบ่งระหว่างความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับความรู้สึกล้าตลอดเวลาอยู่

ถ้าจะต้องอธิบายความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เราอาจจะอธิบายได้ด้วยเหตุการณ์ประมาณว่า เราทำงานหนัก ๆ มาทั้งวัน พอกลับมาถึงที่พักก็ล้มตัวลงนอนเลย เรียกได้ว่านี่เป็นกลไกปกติของสมองและร่างกายที่สื่อสารกับเราว่า เมื่อเรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยเราก็ควรจะพักผ่อน

แต่การรู้สึกล้าตลอด 24 ชั่วโมงนั้นแตกต่างออกไป มันคือสัญญาณที่บอกเราว่าสุขภาพเราน่าจะมีปัญหา แล้วต้องเหนื่อยขนาดไหนเราถึงจะต้องรู้สึกกังวลหรือเริ่มไปพบแพทย์?

ดอกเตอร์ Chris Winter ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับ ได้ให้สัมภาษณ์กับ SELF Magazine ว่าความรู้สึกเหนื่อยแล้วอยากนอนอยากงีบเป็นเรื่องธรรมดา แต่การรู้สึกว่าไม่มีพลังหรือไม่มีกำลังใจทำอะไรสักอย่างในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ตามคำบอกเล่าของ Alfred F. Tallia ศาสตราจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์ Rutgers Robert Wood Johnson Medical School การวินิจฉัยระดับอาการเหนื่อยล้าก็เป็นเรื่องที่ยากแม้แต่ในแวดวงการแพทย์ เพราะความรู้สึกเหนื่อยเป็นอะไรที่นามธรรม แต่แม้มันจะยาก แพทย์ก็จะต้องพยายามวิเคราะห์จากการซักถามคนไข้และวินิจฉัยให้ได้ว่าสิ่งที่คนไข้รู้สึกคืออะไรกันแน่

ตามคำบอกเล่าของแพทย์ที่ SELF Magaize ได้ไปสัมภาษณ์ สัญญาณของอาการล้าตลอดเวลาประกอบไปด้วย

  • รู้สึกเหนื่อยอย่างมากอยู่ตลอดเวลา
  • รู้สึกเหนื่อยแม้จะพักผ่อนไปแล้ว
  • รู้สึกว่าไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามเคย
  • รู้สึกว่าไม่ปรารถนาที่จะทำในสิ่งที่ชอบทำ
  • รู้สึกว่าไม่สามารถมีสมาธิหรือจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้
  • รู้สึกกระวนกระวาย ใจร้อน และโมโหง่าย
  • ร่างกายเหนื่อยล้าไปหมด แขนขาไม่มีแรง
  • นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ

ตามคำแนะนำของ Cleveland Clinic วิธีจัดการกับอาการเหล่านี้เบื้องต้นได้แก่

  • ฝึกพฤติกรรมการนอน: ไม่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ดื่มเครื่องดื่มที่มาคาเฟอีน หรือออกกำลังก่อนนอน, พยายามนอน 7-9 ชั่วโมง, และพยายามนอนและตื่นเป็นเวลาทุกวัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ฝึกจัดการกับความเครียด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือพบว่าคุณมีอาการเหล่านี้เกิน 6 เดือน และที่สำคัญคือถ้าอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคุณ คุณควรพิจารณาเรื่องการไปพบและปรึกษาแพทย์เพื่อดูว่าจะจัดการกับอาการเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง เพราะสภาวะล้าตลอดเวลานั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากไม่รีบวินิจฉัยหรือจัดการสุขภาพเราก็อาจจะยิ่งแย่ลงและอาการเหล่านี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากขึ้น ถ้าปล่อยไว้นานวันเข้าก็จะยิ่งยากต่อการรักษาด้วย

อ้างอิง