Time Shelter นวนิยายที่ชี้ให้เห็นอันตรายของการยึดติดอดีต คว้ารางวัล Man Booker International

2 Min
460 Views
28 May 2023

เมื่อ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพิ่งจะมีการประกาศรางวัล Man Booker International 2023 ไปหมาดๆ ซึ่งผลงานที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรติประจำปีนี้ไปคือ ‘Time Shelter’ ของนักเขียนชาวบัลแกเรียนาม จอร์จี กอสโปดินอฟ (Georgi Gospodinov) นั่นเอง

อย่างคร่าวๆ นวนิยายเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของคลินิกแห่งหนึ่งที่แต่ละชั้นจะตกแต่งให้แตกต่างกันไปเพื่อจำลองบรรยากาศของทศวรรษต่างๆ ในอดีต ภายใต้จุดประสงค์ที่ว่า บรรยากาศแห่งอดีตนี้จะช่วยให้บรรดาผู้ป่วยความจำเสื่อมที่เข้ารับการรักษายังคลินิกแห่งนี้สามารถฟื้นคืนความทรงจำของพวกเขาได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี เจตนาที่ดีกลับเปลี่ยนเป็นความวุ่นวาย เพราะแทนที่ผู้ป่วยความจำเสื่อมจะฟื้นคืนความทรงจำกลับมาได้ คลินิกแห่งนี้ดันกลายเป็นพื้นที่ซึ่งดึงดูดผู้คนที่อยากจะหลบหนีจากโลกปัจจุบันและหวนคืนไปยังอดีตเสียอย่างนั้น

Time Shelter สะท้อนให้เห็นความอันตรายของ ‘การคิดถึงอดีต’ (nostalgia) ซึ่งกอสโปดินอฟเล่าว่า เขาได้ไอเดียหนังสือเล่มนี้จากเหตุการณ์ในช่วงปี 2016 อย่าง Brexit และการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนักเขียนเจ้าของรางวัลมองว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการหยิบฉวยอดีตมาใช้ประโยชน์กับปัจจุบัน “ผมอยากจะเขียนนวนิยายที่พูดถึงปีศาจร้ายแห่งอดีตกาล และการเปลี่ยนให้การคิดถึงอดีตกลายเป็นอาวุธ (Weaponization of Nostalgia)” กอสโปดินอฟ เล่า

แต่พ้นไปจาก Time Shelter แล้ว ยังมีนวนิยายอีก 5 เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของ Man Booker International ประจำปีนี้ ได้แก่

  • Boulder ของ Eva Baltasar นักเขียนชาวสเปนที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของเควียร์ที่ต้องอาศัยอยู่ในโลกที่แสนจะแปลกแยก
  • Whale ของ Cheon Myeong-kwan นักเขียนเกาหลีใต้กับนวนิยายเล่มแรกที่พาไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกาหลีผ่านสามตัวละคร
  • The Gospel According to the New World ของ Maryse Condé นักเขียนชาวฝรั่งเศสที่เล่าถึงชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
  • Still Born ของ Guadalupe Nettel นักเขียนชาวเม็กซิกันที่ถ่ายทอดสภาวะอันซับซ้อนและสับสนของการตัดสินใจว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก
  • Standing Heavy ของ Gauz นักเขียนชาวไอโวรีโคสต์ที่ฉายภาพชีวิตของผู้คน ผ่านสายตาของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 

อย่างไรก็ดี รางวัลที่ได้ชื่อว่า ‘Man Booker’ นั้นมีอยู่ 2 รางวัลด้วยกัน คือ ‘Man Booker Prize’ และ ‘Man Booker International’ โดยความแตกต่างของสองรางวัลนี้คือ Man Booker Prize เป็นรางวัลที่มอบให้กับวรรณกรรมที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักร เช่น ยานน์ มาร์เทล (Yann Martel) จาก ‘Life of Pi’ และ คาซุโอะ อิชิกุโระ (Kazuo Ishiguro) จาก ‘The Remains of the Day’ ในขณะที่ Man Booker International นั้น คือรางวัลที่มอบให้กับนักเขียนไม่จำกัดสัญชาติ ซึ่งมีผลงานเป็นภาษาอังกฤษ หรือได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

เมื่อก่อนนั้น Man Booker International จะถูกมอบให้กับนักเขียนระดับ Lifetime Achievement ซึ่งเป็นความสำเร็จที่สะสมมาตลอดชีวิต แทนที่จะเป็นหนังสือเป็นเล่มๆ ไป เช่น อลิซ มุนโร (Alice Munro) และ ฟิลิป รอธ (Philip Roth) แต่นับจากปี 2016 เป็นต้นมา รางวัล Man Booker Internation ก็ได้เปลี่ยนมามอบให้กับนวนิยายเป็นหลัก อีกทั้งยังได้เพิ่มเงินรางวัลให้กับผู้แปลหนังสือที่คว้ารางวัลได้อีกด้วย

อ้างอิง